ระวังผู้ใหญ่จุดชนวน เด็กดื้อ-ไม่เอาถ่าน

เน้นต้องเข้าใจเชื่อใจเพื่อลดปัญหา

 

ระวังผู้ใหญ่จุดชนวน เด็กดื้อ-ไม่เอาถ่าน

          “เด็กไม่เอาถ่าน” “เด็กเหลือขอ” หรือ “เด็กดื้อ” เป็นคำเรียกติดปากพ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา หรือแม้กระทั่งรูในโรงเรียน เวลาที่เด็กๆ ทำอะไรไม่ได้ดั่งใจคนที่เรียกตัวเองว่า “ผู้ใหญ่” แต่จะมีใครบ้างที่ลองคิดย้อนกลับไปถึง สาเหตุแท้จริง ที่ทำให้ เด็ก เหล่านี้กลายเป็น เด็กดื้อ ว่าอาจมาจากความไม่เข้าใจระหว่างตัวเด็ก และผู้ใหญ่ใกล้ตัวก็เป็นได้

 

          โครงการ “เปิดพื้นที่หัวใจวัยโจ๋” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงร่วมกันเปิดพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อการสื่อสารระหว่างเด็กและพ่อแม่ รวมถึงครู อาจารย์ จากโรงเรียนในสังกัด สพฐ. 20 พื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยการสังเคราะห์องค์ความรู้ใหม่ๆ ผ่านเรื่องราวชีวิตของเด็กกลุ่มที่ถูกมองว่าเป็น เด็กดื้อ ในแง่มุมที่เป็นธรรม และไร้มายาคติ

 

          โรงเรียนวัดบ้านใหม่ จ.พิษณุโลก เป็นหนึ่งใน 20 โรงเรียนต้นแบบสังกัด สพฐ.ที่เปิดพื้นที่ให้กลุ่มนักเรียนที่ถูกมองว่าเป็น เด็กดื้อได้แสดงออกทางความคิดเห็นว่า แท้จริงแล้วเกือบทุกปัญหาที่ทำให้เขากลายเป็น เด็กไม่เข้ากรอบ ในสายตาผู้ใหญ่นั้น ส่วนหนึ่งมาจากความไม่เข้าใจ และไม่ใส่ใจของผู้ใหญ่เองแทบทั้งสิ้น

 

          “น้องฟ้า” ปารีดา สำเภาทอง หนึ่งในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ร.ร.วัดบ้านใหม่ ที่ปัจจุบันเป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งขันการตอบปัญหาภาษาอังกฤษ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ความไม่เชื่อใจระหว่างคนในครอบครัว และปัญหาครอบครัวแตกแยก จนทำให้ครั้งหนึ่งทำให้ฟ้าหาทางออกด้วยการออกเที่ยวกลางคืน และไม่คิดเรียนหนังสือ

 

          “ครั้งหนึ่งอาเขย ที่เลี้ยงดูมาแต่เด็ก เปรียบได้กับพ่อ ไปเชื่อคนอื่นว่า หนูไปกอดกับเพื่อนผู้ชายอยู่ในรถกระบะ ทำให้หนูถูกเข้าใจผิดไปต่างๆ นานา และถูกตำหนิอย่างแรง ทำให้หนูรู้สึกแย่ว่าทำไมอาไม่เชื่อใจหนู แต่ดันไปเชื่อคนอื่น” น้องฟ้าเล่าและเมื่อบวกกับปัญหาครอบครัวแตกแยก และมีแม่ติดเหล้า ทำให้เธอหาทางออกด้วยการเริ่มเที่ยวกลางคืน

 

          “แต่เมื่อได้เริ่มคุยกันมากขึ้น เปิดใจกันมากขึ้น หนูกับอาเขยก็เข้าใจกันมากขึ้น ทำให้รู้สึกว่า มันควรจะมีพื้นที่ที่เปิดกว้างไว้สำหรับทำความเข้าใจระหว่างเด็กและคนรอบข้างให้มากขึ้น ยิ่งตอนนี้หนูได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนไปแข่งตอบปัญหาภาษาอังกฤษก็รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น เกิดความภูมิใจมากขึ้นเพราะได้รับโอกาสในการทำความเข้าใจในครั้งนั้น” น้องฟ้ากล่าว

 

          เช่นเดียวกับ “น้องแชมป์” เอกพงษ์ จาดเปรม นักเรียนชั้นม.1 ที่เปิดใจด้วยคำพูดสั้นๆ แต่ทำเอาคนฟังรอบข้างตกอกตกใจว่า “ผมอยากเป็นนักเลงคุมซอย” เมื่อถามลึกๆ ลงไปถึง สาเหตุ พบว่า “เมื่ออายุ 9 ขวบ เห็นพ่อถูกคนทำร้าย ถูกซ้อมจนแขนหัก ทำให้ฝังใจจนอยากจะเป็นนักเลงคุมซอยจะได้ไม่ถูกคนทำร้าย” แชมป์เล่าและอยากให้คนรอบข้างเข้าใจว่า การป้องกันตัว หรือความฝันที่เขาอยากเป็นนักมวยในอนาคตนั้นไม่ใช่เป็นนักเลง หรือเด็กเกเรในสายตาของคนทั่วไป

 

          ขณะเดียวกัน โรงเรียนต้องเป็นบ้านหลังสำคัญที่ควรเปิดกว้างด้วยความเข้าใจ การยอมรับ และให้โอกาสเด็กได้แสดงออกทางความคิด หากอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องเหมาะสม บุญธรรม วงศ์ชรินรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านใหม่ จ.พิษณุโลก บอกว่า เมื่อสังคมรอบตัวไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก โรงเรียนจึงเป็นพื้นที่ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กนักเรียน เด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องเรียนเก่ง แต่ขอให้ทุกคนมีความสุขและเป็นเด็กดี มาโรงเรียนแล้ว ไม่เพียงแต่ได้วิชาความรู้ แต่ควรได้วิชาชีวิตติดตัวไปด้วย

 

          การทำความเข้าใจกับเครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายชุมชน จึงเป็นแรงหนุนสำคัญในการผลักดันปัญหา “เด็กดื้อ” ให้ได้รับการแก้ไขในหลากหลายมิติ เมื่อเด็ก “ได้แสดงจุดเด่น” อย่างเหมาะสม ปัญหาทางสังคมก็จะลดน้อยลงตามมา น้องๆ คนไหนอยากถ่ายทอดเรื่องที่อยากบอก ทั้งทุกข์ สุข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน ความรัก  ความเข้าใจกับพ่อแม่ ครู เพื่อน คนรอบข้าง ดูรายละเอียดได้ที่ www.dekdue.com ผลงานที่โดนใจ จะได้รับรางวัลกว่า 1 แสนบาท เปิดรับผลงานตั้งแต่วันนี้ถึง 31 มกราคม 2553

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

 

 

update: 07-01-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

Shares:
QR Code :
QR Code