ระวังบุหรี่แปลงร่างเป็น ‘น้ำดื่มนิโคติน’

ปรุงรสดึงดูดใจ หวั่นยั่วยุให้เยาวชนอยากลอง

 

 ระวังบุหรี่แปลงร่างเป็น ‘น้ำดื่มนิโคติน’

          เตือนภัยบุหรี่รูปแบบใหม่ แปลงร่างเป็นน้ำดื่มนิโคติน ปรุงรสชาติให้อร่อยน่าลิ้มลองโดยไม่ต้องสูดควัน หวั่นทะลักเข้าไทยในงานประชุมยาสูบโลก “เอ็กซ์โปบุหรี่” ที่กรุงเทพฯ เตรียมพร้อมเฝ้าระวังไม่ให้ละเมิดกฎหมายไทย

 

          จากกรณีอุตสาหกรรมยาสูบโลก เลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงานแสดงนิทรรศการความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการทำตลาดบุหรี่ ในชื่อ tabinfo 2009 ณ กรุงเทพฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2552 ส่งผลให้มีกลุ่มนักวิชาการและเครือข่ายวิชาชีพเพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้เคลื่อนไหวเผยแพร่ข้อมูลและเป้าหมายแอบแฝงในการจัดงานดังกล่าว

 

          ทันตแพทย์หญิงวิกุล วิสาลเสสถ์ มูลนิธิสุขภาพไทย เปิดเผยว่า กลยุทธ์ทางการตลาดที่แยบยลของงานนิทรรศการยาสูบโลกครั้งนี้คือ การแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบในรูปแบบใหม่และโฆษณาว่าลดพิษภัย เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตก้นกรองที่ใช้แสงเลเซอร์เจาะรูพรุนเพื่อให้สารพิษ ได้แก่  นิโคตินและทาร์ลดลง แต่ในความเป็นจริงบุหรี่ต้องคีบด้วยนิ้ว ทำให้คุณสมบัติดังกล่าวไม่เกิดประสิทธิภาพ การเติมกลิ่นผลไม้ ดอกไม้ หรือน้ำหอมชั้นสูงที่กระดาษมวนบุหรี่ เพื่อลดกลิ่นเหม็นจากควันเผาไหม้ยาสูบ รวมทั้งบุหรี่ชูรสและเติมกลิ่นหอมสำหรับกลุ่มผู้หญิงและวัยรุ่น บุหรี่เติมกาแฟและสารชูกำลัง สำหรับผู้ชื่นชอบกีฬาและกิจกรรมท้าทาย ซึ่งล้วนเป็นการโฆษณาชวนเชื่อทั้งสิ้น

 

          “ล่าสุด มีบุหรี่แปลงร่างในรูปแบบใหม่ทดแทนบุหรี่ที่ไม่ต้องจุดใบยาสูบ แต่นำพาสารเสพติดสำคัญจากบุหรี่คือนิโคตินสู่ร่างกายในรูปต่างๆ เช่น น้ำดื่มนิโคติน ซึ่งเป็นสารนิโคตินละลายน้ำปรุงรสให้มีรสชาติน่าดื่ม สำหรับดื่มให้ฤทธิ์ทดแทนการสูบบุหรี่ รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้าที่อยู่ในรูปแบบมวนบุหรี่ แต่ใช้แบตเตอรี่จุดให้ความร้อนในการแปรสภาพแท่งนิโคตินสู่ร่างกาย” ทพญ.วิกุลกล่าว

 

          ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าระบุว่า มีผู้บริโภครายงานว่าเกิดปัญหาการระคายเคืองในช่องปากจากสารเคมี และล่าสุด องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (เอฟดีเอ) ประกาศว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยพบสารที่ก่ออันตรายต่อชีวิต และได้มีการอายัดบุหรี่ไฟฟ้าที่นำเข้ามาทางเรือแล้วในหลายประเทศ

 

          ดร.กิตติ กันภัย อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สิ่งที่ต้องจับตามองกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทบุหรี่ในประเทศไทย คือ การทำโฆษณา ณ จุดขาย ซึ่งในขณะนี้มีร้านที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่ถึง 467,660 ร้าน ทำให้ยากต่อการสอดส่องดูแลได้ทั่วถึง อีกทั้งยังพบว่าได้มีการทำตลาดบุหรี่กับเยาวชน ด้วยการออกแบบซองให้ดึงดูดใจและยั่วยุให้เยาวชนอยากสูบบุหรี่ ผ่านการเผยแพร่ข้อความทำนองว่า การสูบบุหรี่เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เด็กไม่ควรสูบ การส่งต่อเรื่องเกี่ยวกับบุหรี่ผ่านอีเมล์ โพสต์ในบล็อก และสอดแทรกในการ์ตูน เป็นต้น

 

          ด้าน พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์เพื่อการควบคุมยาสูบ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐปฏิเสธการเข้าไปมีส่วนร่วมกับงานดังกล่าว เพื่อเป็นการปฏิบัติตามมาตรา 5.3 ของอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ซึ่งว่าด้วยเรื่องของการปกป้องธุรกิจยาสูบแทรกแซงนโยบายสาธารณะ และขอเรียกร้องให้เครือข่ายฯ ร่วมกันเปิดโปงกลยุทธ์ทางการค้าของบริษัทบุหรี่ให้ประชาชนได้รับทราบ และรวมพลังในการเฝ้าระวังการประชุม tabinfo 2009 ไม่ให้มีการละเมิดกฎหมายไทย

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

update 27-08-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

 

 

อ่านเนื้อหาทั้งหมดในคอลัมน์คลิกที่นี่

 

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code