ระวัง!ชีวิตเสี่ยงภัยในโลกไซเบอร์
ประมาทตกเป็นเหยื่อความรุนแรง
แชทลวงข่มขืน หนุ่มหลอกสาวผ่านไฮไฟว์ ไม่ชอบหน้าด่าทอกันด้วยข้อความหยาบคาย ใส่ร้ายป้ายสีในห้องสนทนาให้อีกฝ่ายเสียชื่อ
สิ่งเหล่านี้คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย สาเหตุเกิดจากการพูดคุยสื่อสารผ่านเทคโนโลยีสื่ออินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงกลุ่มคนได้อย่างทั่วถึง น่าเป็นห่วงที่สื่อสมัยใหม่นี้มีอิทธิพลต่อกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก ด้วยภาวะภูมิคุ้มกันโรคทางสังคมน้อยกว่าผู้ใหญ่ จึงถูกชักจูงให้หลงไหลกระแสความทันสมัยของสื่อใหม่ได้ง่าย กลายเป็นฐานผู้ใช้บริการชั้นดี และเมื่อเยาวชนสนุกเพลินบนโลกเสมือนจริง จนหลงลืมความปลอดภัยในชีวิตของตนเอง ปัญหาจึงเกิดขึ้นตามมา
ศูนย์เฝ้าระวังภัยเทคโนโลยี (IT WATCH) มูลนิธิกระจกเงา ได้ระบุยอดเด็กหายเพราะการติดแชตทั้งทางอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ในปี 52 มีทั้งสิ้น 37 ราย สูงสุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปี 51 ราว 3 เท่าตัว ในส่วนนี้เป็นเด็กหญิงถึง 36 ราย เป็นเด็กชายรายเดียว ทั้งหมดมีช่วงอายุระหว่าง 12-18 ปี
การที่เด็กและเยาวชนหญิงถูกคนที่รู้จักในห้องแช็ต เอ็มเอสเอ็น หรือแม้แต่แคมฟรอกล่อลวงไปข่มขืน แล้วตามมาด้วยการถูกจับถ่ายรูปนำไปโพสต์ตามเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองกับเหยื่อที่ถูกกระทำนั้น เป็นพิษภัยจากโลกไซต์เบอร์ ที่สังคมตระหนักและเล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งได้มีการกระตุ้นเตือนผ่านสื่อ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเมื่อผู้ร้ายในโลกไซเบอร์กลับเป็น“เยาวชน” ใช้อุปกรณ์นานาชนิดเป็นเครื่องมือคุกคามกันเอง
เราคงไม่อาจปฎิเสธความจริงที่เกิดขึ้นนี้ได้ ข้อมูลวิจัยจากปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทยเผยเรื่อง พฤติกรรมการข่มเหงรังแกผ่านโลกไซเบอร์ของเยาวชนไทยเขตกรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มสังคมออนไลน์ให้โทษขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มจะทำลายเด็กและเยาวชนอย่างรุนแรงจนถึงขั้นที่เรียกว่าอาชญากรรมได้เลย!!!
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า เยาวชนในกรุงเทพมหานครมากกว่าร้อยละ 50 เคยเห็น/เคยรับรู้การข่มเหงรังแกกันผ่านสื่อสมัยใหม่ต่างๆ มากกว่า 1 ครั้งต่อเดือน และร้อยละ 44 เคยถูกนินทาหรือด่าทอผ่านมือถือและห้องสนทนา ในขณะที่ร้อยละ 30 เคยถูกส่งข้อความก่อกวนผ่านทางมือถือ อีเมล หรือเว็บไซต์มาแล้ว และแม้ว่าเยาวชนมากกว่าร้อยละ 50 จะเห็นว่าพฤติกรรมการข่มเหงรังแกผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องและไม่เห็นด้วย แต่ก็มีแนวโน้มที่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว
สถานการณ์แบบนี้หากปล่อยทิ้งไว้นานอาจเป็นแผลเรื้อรังยากเกินเยียวยาก็เป็นได้ เนื่องจากทุกวันนี้ความรุนแรงจากโลกไซเบอร์ถูกถ่ายทอดสู่เด็กและเยาวชนหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสื่อเกมออนไลน์ที่รุนแรง คลิปวิดีโอการทำร้ายกันของเยาวชน รวมถึงระบบความคิด“การแก้แค้นเอาคืน” นำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบการทำร้ายซึ่งกันและกันของวัยรุ่นไทย ที่เราพบเห็นได้จากการนำเสนอข่าวของสื่อต่างๆ ซึ่งถ้ามองในอีกแง่มุมหนึ่งก็เปรียบเหมือนการตอกย้ำภาพความรุนแรงชนวนความขัดแย้งที่ยังไม่แก้ไข
สถาบันครอบครัวจึงมีบทบาทสำคัญในการอบรมสั่งสอนเชิงคุณธรรมแก่ลูก สำหรับพ่อแม่ที่ไม่มีเวลาเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง โดยเฉพาะในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวความอบอุ่นยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ การปล่อยให้ลูกอยู่กับสื่อเทคโนโลยีมากเกินจำเป็น ลูกน้อยที่รักอาจชักจูงภัยร้ายมาเป็นเพื่อนสนิทโดยไม่รู้ตัว เสี่ยงเกิดพฤติกรรมหรือเหตุการณ์รุนแรงได้ ด้วยเหตุนี้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายควรเตรียมรับมือสู้รบกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างเกราะป้องกันอันตรายให้ห่างไกลบุตรหลาน
ด้วยวัคซีนป้องกันภัย“ให้ความรักและความใกล้ชิด”กับลูกให้มาก พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นพร้อมรับฟังอย่างสนใจ และไม่จ้องจับผิดหรือตำหนิ ลูกจะรู้สึกไว้วางใจว่าคุณเป็นคนที่เขาพูดคุยด้วยได้ทุกเรื่องและพร้อมเป็นที่ปรึกษาระวังภัยสมัยใหม่จากการเล่นเกมคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ตด้วย เพราะเมื่อใดก็ตามที่วัยรุ่นเต็มใจบอกเล่าปัญหาแก่ผู้ใหญ่ ย่อมแสดงให้เห็นว่าเขากำลังขอความช่วยเหลือจากคนที่รักเขามากที่สุด
ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจ สร้างเกราะคุ้มภัยเยาวชน ขจัดปัญหาความรุนแรงรังแกกันผ่านโลกไซเบอร์ อย่าปล่อยให้โลกออนไลน์ทั้งหลายมีอิทธิพลเหนือชีวิตคุณ
ที่มา: กิตติยา ธนกาลมารวย Team content www.thaihealth.or.th
Update:23-02-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: กิตติยา ธนกาลมารวย