ระวังครอบครัวร้าว ส่งผลถึงลูก ซึมเศร้า
สสส.หนุนพัฒนาครอบครัวต้นแบบ ช่วยสตรีประสบปัญหาชีวิตคู่
แม่ที่อยู่ในครอบครัวที่มีแต่ความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงดูบุตร ทำให้ลูกซึมเศร้าและก้าวร้าว สสส.หนุนพัฒนาครอบครัวต้นแบบ ช่วยเหลือสตรีที่ประสบปัญหาชีวิตคู่ หวังใช้ชุมชนเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยความรุนแรง ลดความเสี่ยงให้กับผู้หญิง
ดร.บุหงา ตโนภาส หัวหน้าภาควิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ในฐานะผู้ดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบการช่วยเหลือสตรีที่ประสบปัญหาความรุนแรงในชีวิตคู่ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนัก 6 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมักจะประสบกับความรุนแรงในครอบครัว คือถูกทำร้าย ทั้งทางร่างกาย จิตใจและทางเพศ
ความรุนแรงที่ผู้หญิงส่วนใหญ่พบเจอ มักจะเป็นวงจรอุบาทว์ คือเมื่อถูกสามีทำร้ายร่างกายแล้ว จนกระทั่งสามีทำความดีเล็กๆ น้อยๆ เป็นการตอบแทน หรือได้รับการขอโทษ โดยอ้างว่าเมาบ้าง ลืมตัวไปบ้าง ผู้หญิงก็จะให้อภัยอย่างง่ายดาย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปัญหาเดิมๆ ก็จะกลับมาอีก สุดท้ายผู้หญิงก็จะถูกทำร้ายต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
ดร.บุหงากล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การที่ผู้หญิงหรือแม่ถูกพ่อทำร้ายต่อหน้าลูก จะส่งผลกระทบต่อลูกอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง โดยลูกจะซึมซับรับเอาความรุนแรงนั้น ลูกที่เกิดมาในครอบครัวที่มีแต่ความรุนแรง จะมีบุคลิกก้าวร้าว ซึมเศร้า และเมื่อลูกเติบโตขึ้นก็มีโอกาสที่จะใช้ความรุนแรงจัดการกับปัญหาเหมือนที่พบเจอในวัยเด็ก
“การทำร้ายแม่ ก็เท่ากับเป็นการทำร้ายลูกไปในตัว แต่ก็มีบางครอบครัวที่พ่อพยายามจะทำร้าย แม่ก็พยายามปกป้องลูก แต่ในที่สุด แม่ก็ถูกพ่อทำร้ายไปด้วย” อาจารย์บุหงาย้ำสำหรับทางออกของปัญหานี้ ดร.บุหงาชี้ว่า ต้องมีการรณรงค์ ชี้ให้สังคมเห็นว่าความรุนแรงในครอบครัวนั้นเป็นความผิด ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันทางโครงการพัฒนาต้นแบบการช่วยเหลือสตรีที่ประสบปัญหาความรุนแรงในชีวิตคู่ ที่ สสส.ให้การสนับสนุน จะส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหา เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้หญิงที่ถูกทำร้ายอย่างต่อเนื่อง หรือถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา ชุมชนอาจจะเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ย สร้างความเข้าใจระหว่างกัน
“ทุกวันนี้สังคมมักจะคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในครอบครัว คนนอกไม่ควรจะเข้าไปยุ่ง แต่เพราะเราเพิกเฉยมาตลอด ปัญหาจึงเกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด เราจึงควรเปลี่ยนทัศนคติแบบนี้ แล้วหันมาช่วยกันดูแล แต่อย่างไรก็ตามการตัดสินใจสุดท้าย ยังเป็นของผู้หญิงอยู่ ซึ่งเราก็ต้องยอมรับ เพราะผู้หญิงบางคนก็ยอมที่จะถูกทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า” ดร.กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update : 07-08-51