ระบบสั่งจ่ายยาไทย วิกฤตที่ต้องเร่งแก้ไข

 

 

          หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มตื่นตัวกับปัญหายาราคาแพงมากขึ้น เห็นได้จากการศึกษาวิจัยที่พยายามชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ยาราคาแพงในประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤต รวมทั้งมีการศึกษาสาเหตุของปัญหายาราคาแพง และจุดอ่อนของมาตรการควบคุมราคายา

 

          ล่าสุด ผศ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ขาดระบบการกำหนดและควบคุมราคายาอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่มีระบบตรวจสอบต้นทุนราคายาอย่างแท้จริง ส่งผลให้ยามีราคาแพง ผู้ป่วยในระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ถูกควบคุมค่าใช้จ่าย จึงไม่สามารถเข้าถึงยาจำเป็น มีเพียงระบบสวัสดิการข้าราชการเท่านั้น ที่ยังเบิกจ่ายยาได้อย่างไม่จำกัด สิ่งเหล่านี้ถือเป็นจุดอ่อนให้บริษัทยาเข้ารุกระบบ และกอบโกยรายได้อย่างมหาศาล

 

ระบบสั่งจ่ายยาไทย  วิกฤตที่ต้องเร่งแก้ไข

 

 

          เห็นได้จากข้อมูลในปี 2548 คนไทยมีการใช้จ่ายด้านยา 186,331 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.8 ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10 – 20 ที่น่าเป็นห่วง คือ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก ค่ายาของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา กลับมีอัตราการเพิ่มร้อยละ 15 – 20 โดยปี 2551 มีมูลค่าสูงเกือบ 5.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึง 8,423 ล้านบาท ซึ่งการสร้างระบบการใช้ยาอย่างเหมาะสม จะต้องส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีการจ่ายยาให้ผู้ป่วยตามบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นขั้นตอนตามบัญชีย่อยจะช่วยให้การใช้ยาสู่ภาวะสมดุล ไม่ฟุ่มเฟือย

 

          “ปัญหาการจ่ายยาตัวใดตัวหนึ่งเป็นพิเศษ และได้รับผลประโยชน์ตอบแทน หรือที่รู้จักกันในวงการแพทย์ว่า “ยิงยา” มักพบว่าเกิดในระบบสวัสดิการข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากระบบดังกล่าวแม้จะใช้ยาเกินความจำเป็นอย่างไร แต่กรมบัญชีกลางก็จะทำหน้าที่ในการจ่ายงบประมาณโดยไม่มีระบบตรวจสอบการใช้จ่ายยา ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลต่องบประมาณของรัฐ และยังส่งผลต่อผู้ป่วยระบบอื่นๆ ที่ไม่ได้รับอย่างเท่าเทียม” ผศ.นิยดาระบุ

 

          ยกตัวอย่าง การใช้ยาลดไขมันในเส้นเลือด ปกติการให้ยาต้องเป็นลำดับขั้นตอน เริ่มต้นอาจให้ยาซิมวาสทาทิน ซึ่งเป็นยาลดไขมันในเส้นเลือดที่บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ เม็ดละ 1 – 2 บาท แต่แพทย์บางรายอาจข้ามไปใช้ยาอะโทรวาส ทาทิน หรือยาโรซูวาส ทาทิน ซึ่งเป็นยามีสิทธิบัตร มีราคาแพงหลายสิบบาท เห็นได้ว่าบริษัทยาส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่โรงพยาบาลรัฐ เพราะเป็นสถานพยาบาลที่ข้าราชการมักใช้บริการ และสวัสดิการข้าราชการสามารถเบิกจ่ายได้โดยไม่จำเป็นต้องตรวจสอบการใช้ยา

 

          ผศ.นิยดา ยังเปิดเผยต้นตอของปัญหาการยิงยาว่า ส่วนหนึ่งมาจากการส่งเสริมการขายอย่างไม่มีจริยธรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการสั่งจ่ายและจัดหายาอย่างมาก เรื่องนี้ในการประชุมร่วมวิเคราะห์ “แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และบริษัทยา” โดยแพทย์ และนักวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่จุฬาฯ เห็นด้วยและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าถึงขั้น “วิกฤต” เนื่องจากปัจจุบันถึงขนาดใช้ผู้หญิงสาวสวยแต่งตัวล่อแหลมในการไปติดต่อกับแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ คล้ายๆ พวกพริตตี้ โดยจะพบเห็นได้บ่อยตามโรงพยาบาลรัฐเป็นส่วนใหญ่ และจะมีการเสิร์ฟอาหารเช้าให้แพทย์บ้าง

 

          ส่วนแพทย์รายใดที่ไม่เห็นด้วยก็จะมีรายชื่อห้ามเข้าหา นอกจากนี้แพทย์รายใดที่เห็นด้วย และพร้อมรับการสนับสนุนจากบริษัทยา ก็จะได้เชิญไปต่างประเทศ โดยอ้างว่าดูงานและประชุม และซ้ำร้ายยังมีการให้ค่าตอบแทนตามยอดสั่งใช้ยาด้วย

 

          “สิ่งสำคัญควรมีระบบตรวจสอบปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานใดไปตรวจสอบการสั่งจ่ายยาของแพทย์ หรืออาจใช้วิธีให้ทางผู้บริหารโรงพยาบาลเป็นผู้ดำเนินการร่วมกับภาครัฐ เนื่องจากปัจจุบันทุกโรงพยาบาลจะมีฐานข้อมูลการใช้ยา การสั่งจ่ายของแพทย์ หากจะดำเนินการจริงๆ ย่อมทำได้ไม่มีปัญหา และควรออกกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการส่งเสริมการขายยาเพื่อให้บริษัทยาต้องแจกแจงบัญชีงบประมาณที่ใช้ในการส่งเสริมการขาย เช่น ใช้เงินเท่าใดในการพาบุคลากรทางการแพทย์คนใดคนหนึ่งไปประเทศใด ซึ่งถือปฏิบัติกันแล้วในหลายประเทศ” ผศ.นิยดากล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

update 29-06-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

Shares:
QR Code :
QR Code