ระบบการดูแลเด็กและเยาวชนขาดโอกาส

          นักวิชาการระบุ ประเทศไทยยังมีเด็กและเยาวชนขาดโอกาสทางการศึกษามาก เผยเด็ก 1 ใน 3 เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา มีเด็กกว่าร้อยละ 60 หลุดหายจากระบบการศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษา ชู “ยะลา-น่าน” ต้นแบบการแก้ปัญหา พร้อมแนะกลยุทธ์แก้ปัญหาให้ทำงานบนพื้นฐานข้อมูล เน้นบูรณาการการทำงานในหลายภาคส่วน


/data/content/24390/cms/e_dgimoqsu2357.jpg


          สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายเพื่อนปฏิรูปการเรียนรู้จัดงานประชุมวิชาการ “อภิวัฒน์การเรียนรู้สู่จุดเปลี่ยนประเทศประเทศไทย” และมีการประชุมวิชาการในหัวข้อย่อยเรื่อง “ระบบการดูแลเด็กและเยาวชนขาดโอกาส”  เพื่อหาทางออกและหาแนวทางในการแก้ปัญหา


          ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษา สสค. กล่าวว่า เรื่องเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาถือเป็นปัญหาใหญ่ ถึงขั้นเรียกได้ว่าเป็นหายนะของประเทศไทย โดยตัวเลขเด็กที่เข้าไม่ถึงการศึกษาในประเทศไทยมีสูงมาก คือมีเด็ก 1 ใน 3 ของเด็กทั้งหมดที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้


          1.กลุ่มที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ เช่น ประสบปัญหาครอบครัว ครอบครัวยากจน ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน 


          2.กลุ่มเด็กที่เปราะบางทางสังคม ซึ่งน่าจับตาเพราะเด็กกลุ่มนี้เมื่อเกิดปัญหาและจำเป็นต้องออกจากการศึกษาจะกลับเข้ามาสู่การระบบการศึกษาได้อีกยาก เช่น กลุ่มแม่วัยรุ่น กลุ่มเด็กที่ติดยาเสพติด


          3.กลุ่มที่มีความพิเศษในการเรียนรู้ เช่น บกพร่องทางการเรียนรู้


          4.กลุ่มที่มีปัญหาเฉพาะตัว เช่น ไร้สัญชาติ และนอกจากปัญหาการเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาแล้ว ยังมีปัญหาความเสี่ยงสูงที่เด็กจะออกจากการศึกษากลางคันด้วย โดยมีเด็ก 60% หรือประมาณ 540,000 คน หลุดหายไปก่อนถึงระดับอุดมศึกษา ในจำนวนนี้ประกอบด้วย 10% (90,000 คน) หลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนม.3 หรือการศึกษาภาคบังคับ 30% (270,000 คน) ยุติการเรียนลงตั้งแต่ม.3 และ20% (180,000 คน) ออกจากระบบเมื่อจบชั้นม.6หรืออปวช.   


           ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันแก้ปัญหาเพราะนอกจากจะทำให้เด็กและเยาวชนเสียโอกาสแล้ว ยังทำให้ประเทศเสียโอกาสทางรายได้ 


           “หากคำนวนรายได้ตลอดชีพในช่วงอายุการทำงาน 15-60 ปี ระหว่างคนที่ไม่จบชั้น ม.3 กับคนที่จบม.3 หรือ ม.6 และปริญญาตรี จะมีความต่างของรายได้สะสมหลายล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและเศรษฐกิจในท้องถิ่น โดยเด็กที่ออกจากการศึกษาก่อนจบการศึกษาภาคบังคับทำให้ประเทศต้องสูญเสียโอกาสทางรายได้ปีละกว่า 50 ล้านบาท และส่วนใหญ่ต้องเข้าไปเป็นแรงงานในเมืองทำให้ท้องถิ่นสูญเสียรายได้กว่าปีละ 15 ล้านบาท 


          สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ของ ดร.นิโคลัส เบอร์เนตต์ นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา อดีตผู้บริหารระดับสูงธนาคารโลกที่ระบุว่า ‘ปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบ’ ทำประเทศไทยสูญเสียเงิน 3 แสนกว่าล้านบาทต่อปี เทียบเท่า 3% GDP ประเทศไทยหรือเท่ากับอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของไทยโดยเฉลี่ยต่อปี ตลอดหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา โดยทางแก้ไขสิ่งสำคัญคือ ต้องเอาพื้นที่และปัญหาเป็นตัวตั้ง ผ่านการทำงานบนฐานข้อมูล เน้นการบูรณาการทุกภาคส่วน สิ่งสำคัญคือต้องผลักดันปัญหาเข้าสู่ระบบในท้องถิ่นให้ได้ เพื่อความยั่งยืน


           นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า  จ.ยะลาเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาในหลายด้านโดยเฉพาะเรื่องปัญหาความไม่สงบ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำด้วย โดยมีเด็กด้อยโอกาสที่หลุดจากระบบการศึกษามากกว่า 12,000 คน แต่ด้วยโครงการพัฒนาหน่วยจัดการดูแลรายกรณี (CMU) ที่ทำร่วมกับสสค. ทำให้ช่วยลดปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบได้มาก และทำให้โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดติดอันดับ 1 ใน 10 ของโรงเรียนที่ดีที่สุดในประเทศ


            ขณะที่ นายนรินทร์ เหล่าอารยะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดน่าน กล่าวว่า ท้องถิ่นถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาเพราะเป็นศูนย์กลางในอำนาจต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งเดิมจังหวัดน่านมีปัญหาเด็กเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา โดยการแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาของ จ.น่าน เบื้องต้นำได้เริ่มแก้ปัญหาด้วยการมองหาบุคลากร หาคนรับผิดชอบที่รู้ดีที่สุดในท้องถิ่นเพื่อดูแลเด็กแบบประกบรายตัว 82 ราย ซึ่งทำให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาโดยเน้นการเรียนรู้แบบสหวิชาการ



 


             ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

Shares:
QR Code :
QR Code