ระดับของเด็กติดเกม

ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน


ระดับของเด็กติดเกม thaihealth


แฟ้มภาพ


การพูดว่า "เด็กติดเกม" ของคนในสังคมทั่วไป กับ "เด็กติดเกม" ทางการแพทย์ ไม่เท่ากัน พ่อแม่ผู้ปกครอง เห็นลูกหลานตัวเองเล่นเกมอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ หรืออยู่หน้าโทรทัศน์นานสักหน่อย ก็เรียกว่า "ติดเกม" แล้ว แต่แท้จริงแล้วเป็นการติดทางใจ


ทางการแพทย์พูดถึงการติด คือการติดที่มีอาการทางกาย เพราะว่าร่างกายพึ่งพาสารบางอย่างจากภายนอก เช่น สารเสพติด (ยาบ้า เฮโรอีน) หรือสารที่หลั่งภายในร่างกายเราเองแต่เกิดจากการกระตุ้นจากภายนอก เช่น การเล่นการพนัน การเล่นเกม เป็นต้น ซึ่งหากมองเรื่องการติดเกม อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ


ระดับที่ 1 ชอบ


ชอบ… ไม่ใช่ติด ทุกคนมีความชอบได้ แต่ต้องไม่เสียการควบคุมตนเอง บางคนชอบร้องเพลง บางคนชอบอ่านหนังสือวรรณกรรมเยาวชน ขณะที่บางคนชอบเล่นกีฬา ความชอบเหล่านั้นทำให้เจ้าตัวมีความสุข แต่ทำกิจกรรมอื่นๆ ได้อีก ซึ่งมีหลายทางเลือก


ระดับที่ 2 คลั่งไคล้


หมกมุ่น… คลั่งไคล้ เริ่มไม่ทำกิจกรรมอื่น คนที่คลั่งไคล้ จะเริ่มคุมตัวเองไม่ได้ เช่น วันนี้ตั้งใจจะไม่เล่นเกม พยายามบอกตัวเองว่างดเล่น 1 วัน แต่อดใจไม่ได้คุมตัวเองไม่ได้ สุดท้ายก็เล่นเหมือนเดิมการคลั่งไคล้ยังไม่ถึงขั้นติด แต่เสียการควบคุมตนเอง


ระดับที่ 3 การติด 


ติดหรือไม่… เส้นแบ่งอยู่ที่การเสียการทำหน้าที่ ทุกคนมี "หน้าที่" ของตัวเอง เด็กมีหน้าที่หลักคือการเรียนหนังสือ อ่านหนังสือ และใช้เงินทองให้เหมาะสมพฤติกรรมของเด็กที่เสียการทำหน้าที่ เช่น ไม่อ่านหนังสือ โดดเรียน ใช้เงินหมดไปกับการเล่นเกม โกหก ซึ่งเป็นผลพวงจากการเล่นเกม อาการหรือพฤติกรรมเหล่านี้ขึ้นกับความรุนแรง ดังนั้นจึงวัดกันที่เสียการทำหน้าที่


อาการของเด็กติดเกมโดยทั่วไปสังเกตได้จากเริ่มเสียการทำหน้าที่ รวมถึงทำกิจกรรมอย่างอื่นน้อยลง เช่น


  • เคยดูโทรทัศน์ เริ่มไม่ดู ไม่สนใจโทรทัศน์
  • เล่นกีฬาฟุตบอล เล่นน้อยลง หรือเลิกไปเลย
  • เล่นเกมจนลืมเวลา ไม่กินข้าว ไม่นอน รุ่งขึ้นเช้าไปโรงเรียนไม่ไหว
  • ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับเกม จนกระทั่งหนีเรียนเพื่อไปเล่นเกมอย่างเดียว
  • ไม่รับผิดชอบงานบ้านที่ตนเองมีหน้าที่จะต้องทำ
  • อารมณ์และจิตใจเปลี่ยนไป จนถึงขั้นพูดคุยกับพ่อแม่ ผู้ปกครองไม่รู้เรื่อง

Shares:
QR Code :
QR Code