ระดมสมองเพื่อมิติใหม่เด็กไทย

ปัญหาด้านภาวะโภชนาการเป็นปัญหาที่ทั้งภาครัฐ และเอกชนยังคงต้องเดินหน้าทำงานกันอย่างหนัก เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กไทย ทั้งในแง่ของชีวิต และระดับสติปัญญาให้เด็กๆ เหล่านี้เติบโตเป็นคนเก่งทัดเทียมเด็กอื่นๆ ทั่วโลก

เพราะที่ผ่านมาสถิติของการประเมินความฉลาดทางด้านสติปัญญาของเด็กไทยยังคงต่ำกว่ามาตรฐานสากล เด็กไทยมีไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 98.59 จุดเท่านั้น สาเหตุหลักๆ คือเด็กไทยยังไม่มีคุณภาพด้านการบริโภคที่ดีพอ ในขณะที่ทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการค้าบ้านเรากำลังจะเปิดประตูต้อนรับการเปิดเสรีอาเซียน การเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคที่เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ในภาคการศึกษาและการสาธารณสุข  และการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการบริโภคที่ถูกสุขอนามัย ยังคงเป็นแง่มุมที่หลายฝ่ายยังละเลยมองข้าม

ทั้งๆ ที่รากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจ และการค้าระดับประเทศ จนถึงระดับภูมิภาคจำเป็นต้องอาศัย “คน” เป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้น การทุ่มเทวางแผนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กไทยในวันนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องให้การติดตามและสนับสนุน

ปัญหาด้านสุขภาวะในวัยเด็ก อาจส่งผลกระทบถึงความสามารถในการเรียนรู้ เข้าใจ และความฉลาดของเด็กๆ ได้ ดังที่ คุณสง่า ดามาพงษ์ผู้จัดการแผนนโยบายโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. อุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ ที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า พ่อแม่ และผู้ปกครอง จะต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานด้าน การศึกษา และหน่วยงานด้านการพัฒนาชุมชน ภายใต้ทักษะ 7 ประการที่จะทำให้องค์กรระดับชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ ได้แก่ สร้างความตระหนัก พัฒนาศักยภาพ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม จัดทำระบบข้อมูล ดำเนินการต่อเนื่อง ติดตามวัดผล และสร้างแรงจูงใจ

และบรรดาผู้ใหญ่ที่มีจิตอาสา ก็จะเข้ามาทำงานเพื่อเด็ก และเยาวชน โดยเริ่มต้นจากในระดับชุมชน อย่างเช่น การจัดอบรมการทำอาหารให้เด็กๆ ในโรงเรียน เพื่อให้พ่อแม่ได้เรียนรู้การทำอาหารที่ถูกสุขลักษณะ การเลือกอาหารให้ลูก ทำให้ลูกไม่ต้องรับประทานอาหารซ้ำไปซ้ำมา และไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ

ในขณะเดียวกัน นายสุรพล เหลี่ยมสูงเนิน นักวิชาการอิสระ ก็บอกว่า มีการจัดอบรม ครู ผู้ดูแลเด็ก และแม่บ้าน โดยให้องค์ความรู้ด้านทฤษฎีก่อนลงมือปฏิบัติเพื่อฝึกทักษะ เกิดเป็นความเข้าใจ และนำไปปฏิบัติจริงได้

“การที่จะท้องถิ่นจะดำเนินงานให้สำเร็จลงได้ตามเป้าประสงค์ “ภาวะผู้นำ” เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง โดยการจะทำให้คนทุกเพศทุกวัย ในท้องถิ่นมีความสุขได้ จะต้องหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ และมองให้เรื่องสุขภาวะเป็นเรื่องของประชาชน ไม่ใช่เป็นเรื่องของหมอเพียงอย่างเดียว” คุณสุรพลกล่าว

งานอบรม “เรียนรู้-ร่วมสร้าง โภชนาการสมวัยในศูนย์เด็กเล็ก” ซึ่งจัดโดย โครงการสร้างสรรค์โอกาส และพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ด้าน การสร้างเสริมสุขภาพให้แก่ภาคีสุขภาวะปี 2556, โครงการพัฒนาระบบ และกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย และ สสส. ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการส่งสัญญาณการเริ่มต้นกิจกรรมในโครงการพัฒนาการสมวัยในเด็กแล้ว ยังเป็นการสะท้อนปัญหาด้านโภชนาการในเด็กจากผู้ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงโรงเรียนให้ผู้ใหญ่ในบ้านเราได้ตระหนักและคิดตามด้วย

“ตอนเช้าๆ เด็กส่วนมากที่มาศูนย์ฯ มักจะไม่ค่อยได้กินข้าวเช้า คนที่ได้กินก็มักจะได้กินแต่ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ข้าวเหนียวไก่ทอด เพราะพ่อแม่สะดวกซื้อ ปัญหานอกจากเด็กจะได้สารอาหารไม่ครบแล้ว พอเด็กเบื่อก็ไม่กิน ซึ่งการไม่กินข้าวก็ทำให้เด็กผอมลงได้ ส่วนตอนเย็น เวลาผู้ปกครองมารับลูก ก็จะเห็นแล้วว่าซื้อน้ำอัดลมใส่ถุงมา พอตัวเอง กินแล้วก็ส่งให้เด็ก เด็กสมัยนี้ถึงได้ชอบกินน้ำอัดลมกัน” นางคณาทิพย์ พึงพิเชฐ ครูพี่เลี้ยง ประจำศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ เล่า

แม้จะมีหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน พร้อมสนับสนุนการทำฝัน ในการสร้างโครงการพัฒนาศักยภาพของเด็กไทยให้เป็นจริง แต่องค์ประกอบสำคัญ คือ ครอบครัวที่ต้องดูแลเอาใจใส่ และสนใจด้านโภชนาการพื้นฐานของลูก เพื่อให้ร่างกายมีความพร้อม สมองมีศักยภาพ ในการเรียนรู้ และมีความสามารถในการพัฒนาประเทศได้ ในอนาคต

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 

Shares:
QR Code :
QR Code