ระดมความคิด ออกแบบพิมพ์เขียวพัฒนาการศึกษา

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)


ภาพประกอบจากเว็บไซต์สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)


ระดมความคิด ออกแบบพิมพ์เขียวพัฒนาการศึกษา  thaihealth


สสค. ร่วมกับเทศบาลนครภูเก็ต เดินหน้าจัดทำพิมพ์เขียวการศึกษานครภูเก็ตที่แรกของประเทศ นักวิชาการเวิร์ลด แบงค์ยก “เวียดนาม” ใช้ระบบสารสนเทศไต่ระดับพีซาสู่ลำดับ 17 ขณะเด็กประถมไทยร้อยละ 56 ขาดครูเฉลี่ยไม่ถึง 1 คน/ห้อง เพราะขาดระบบจัดการข้อมูล พร้อมลงนามความร่วมมือ รร.เทศบาลนครภูเก็ตเปิดข้อมูลแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ 


เมื่อวันที่ 25-27 เมษายน ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน จ.ภูเก็ต สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เทศบาลนครภูเก็ต และธนาคารโลก จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อออกแบบพิมพ์เขียวการศึกษานครภูเก็ต (Phuket City’s Education Blueprint Design Lab) โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ และเอกชน โดยได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายบัณฑูร ทองตัน สภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต และนายสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการบมจ.มติชน ให้ข้อคิดเห็น


ภายในงานมีการจัดพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครภูเก็ตเพื่อร่วมเปิดข้อมูลสารสนเทศทางการศึกษาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเด็กเยาวชนภูเก็ตเป็นครั้งแรก โดยมีเป้าหมายร่วมใน 2 ระดับ 1. เป้าหมายระหว่าง รร.ในสังกัดเทศบาลนครภูเก็ต ซึ่งจะมีตัวชี้วัดตามพิมพ์เขียวการศึกษาเทศบาลนครภูเก็ต และ 2. เป้าหมายเฉพาะของแต่ละรร.อาทิ อัตราการเข้าเรียน เพื่อใช้เป็นข้อตกลงในการจัดการศึกษาเทศบาลนครภูเก็ตของสำนักการศึกษาในปี 2560-2563


น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวถึงประเด็นความร่วมมือมีทิศทางในการพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ 1. ผู้เรียน: เน้นสร้างคุณลักษณะพึงประสงค์ สร้างสุขภาวะที่ดี ส่งเสริมให้เกิดทักษะการเรียนรู้และทักษะการมีงานทำ 2. ครูและบุคลากรการศึกษา: เน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตครู เพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในการสอน และ 3) ระบบการศึกษาเทศบาลนครภูเก็ต: เน้นเพิ่มโอกาสเด็กเยาวชนที่ขาดโอกาสให้ได้รับการศึกษา เพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการศึกษา ผ่านระบบสารสนเทศด้านการศึกษาที่สนับสนุนการวางแผนและติดตามการจัดการศึกษาในรร.เทศบาล ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของภาคประชาสังคม โดยมีสำนักการศึกษา เป็นผู้สนับสนุนให้เกิดระบบสารสนเทศด้านการศึกษา เพื่อนำสู่การทำแผนพัฒนาการศึกษาของเทศบาลสู่การปฏิบัติ 


ระดมความคิด ออกแบบพิมพ์เขียวพัฒนาการศึกษา  thaihealth“ที่ผ่านมาเทศบาลนครภูเก็ตได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร และสสค.ในการจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศทางการศึกษา เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการวางแผนของเทศบาลที่จะช่วยเอ็กซเรย์เด็กเป็นรายบุคคลว่าเด็กต้องการอะไร ซึ่งผู้บริหารร.ร.สามารถรู้ได้ว่าเด็กที่เรียนไม่ครบ เด็กขาดเรียน เป็นเพราะปัจจัยอะไรเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ข้อมูลสารสนเทศจะช่วยในการบริหารจัดการสถานศึกษา ลดเวลาการทำงานของครูด้านงานเอกสารและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ระบบฐานข้อมูลเหล่านี้จะถูกสนับสนุนข้อมูลพื้นฐานและสถานการณ์เพื่อร่วมออกแบบพิมพ์เขียวการศึกษานครภูเก็ตร่วมกัน”


นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. กล่าวว่า การจัดทำพิมพ์เขียวทางการศึกษามีประเทศที่น่าสนใจคือ มาเลเซียที่จะเป็นประเทศที่ก้าวกระโดดโดยการตั้งเป้าหมายที่จะหลุดจากกับดักรายได้ขั้นกลางใน 15 ปี อาวุธลับที่สำคัญคือการจัดทำแผนการศึกษาของมาเลเซีย โดยมีเป้าหมาย 5 เรื่อง ประกอบด้วย 1. การส่งเสริมโอกาสการเข้าถึงการศึกษาแก่เด็กเยาวชนทุกคน 2. ยกระดับคุณภาพการศึกษาทุกระดับ 3. สร้างความเป็นธรรมที่จะได้รับการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ 4. ส่งเสริมความสามัคคีในชาติ และ 5. พัฒนาประสิทธิภาพของระบบการศึกษา กระบวนการทำแผนของมาเลเซียเป็นการทำอย่างปราณีต ใช้ความรู้และข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุน และการทำแผนจะไม่สามารถนำไปใช้ได้ในทางปฏิบัติถ้าใช้ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนเขียนแผน สิ่งสำคัญคือผู้ปฏิบัติต้องมาร่วมตั้งแต่ต้นเพื่อให้เข้าใจและนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง การทำแผนการศึกษาของมาเลเซียจึงดึงการมีส่วนร่วมจากผู้ปฏิบัติ 


“สำหรับประเทศไทยตลาดการจ้างงานส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีสัดส่วนการจ้างงานเพียง 12% แต่รายใหญ่คือผู้ประกอบการขนาดกลางและรายย่อย การวางแผนการศึกษาจึงต้องถามความคิดเห็นจากคนกลุ่มนี้ว่าต้องการคนแบบไหน ในจ.ภูเก็ต ถ้าจะวางแผนให้สอดคล้องกับความเป็นจริง มโนอย่างเดียวไม่ได้ เพราะแผนที่ห่างจากความเป็นจริงจะเลื่อนลอย จึงต้องมีข้อมูลมาประกอบ ซึ่งเทศบาลนครภูเก็ตถือเป็นที่แรกของประเทศที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลุกขึ้นมาจัดทำแผนการศึกษาบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมออกแบบทิศทางร่วมกัน” ผู้จัดการสสค. กล่าว


ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก กล่าวถึงประสบการณ์การใช้ข้อมูลเพื่อยกระดับคุณภาพและการบริหารสถานศึกษาว่า ประเทศเวียดนามและกัมพูชาต่างมีระบบสารสนเทศด้านการศึกษาที่ก้าวหน้ากว่าประเทศไทยมาก ทำให้ทั้ง 2 ประเทศสามารถใช้ข้อมูลเป็นตัวชี้เป้าในการบริหารทรัพยากร โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันใช้เงินลงทุนด้านการศึกษาเฉลี่ยรายหัวต่ำกว่าไทย แต่ผลสัมฤทธิ์กลับดีกว่า ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี เวียดนามสามารถไต่อันดับคะแนนพีซาได้สูงถึงลำดับที่ 17  สูงกว่าประเทศไทยถึง 33 อันดับ ขณะที่มาเลเซียใช้ข้อมูลในการออกแบบพิมพ์เขียวการศึกษาแห่งชาติปี 2013-2025 เพื่อสนับสนุนให้ประเทศมาเลเชียก้าวออกจากกับดักรายได้ขั้นกลางได้ภายในเวลา 15 ปี ส่วนบราซิลใช้ระบบข้อมูลเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาการศึกษาด้วยการนำเสนอรายงานผลการศึกษาของโรงเรียน (School Report Card) ซึ่งประกอบด้วยระดมความคิด ออกแบบพิมพ์เขียวพัฒนาการศึกษา  thaihealthข้อมูลพื้นฐาน อาทิ ผลสัมฤทธิ์ การเข้าห้องเรียน อัตราส่วนครูต่อนักเรียน เศรษฐสถานะของผู้เรียน และระดับการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง


“สำหรับในประเทศไทยพบว่า การขาดข้อมูลเพื่อจัดการทรัพยากรการศึกษานั้น ส่งผลให้ร้อยละ 56 ของห้องเรียนทั้งหมดในโรงเรียนระดับประถมศึกษามีครูเฉลี่ยไม่ถึง 1 คน/ห้อง ร้อยละ 63 ของโรงเรียนประถมศึกษา มีครูไม่ถึง 1 คนต่อชั้นเรียน ซึ่งถือว่าอัตราการจัดสรรครูสำหรับรร.ประถมนั้นเข้าขั้นวิกฤต โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของระบบความรับผิดชอบในการจัดสรรทรัพยากรการศึกษาอย่างเป็นธรรมในประเทศไทย ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า หากมีการใช้และเผยแพร่ข้อมูล คะแนนเฉลี่ยของรร.จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 2.44 โดยเฉพาะรร.ที่เดิมเคยมีคะแนนต่ำกลับมีค่าเฉลี่ยที่สูงขึ้นมากกว่ารร.ที่มีคุณภาพ ฉะนั้นการส่งเสริมให้รร.มีความอิสระ แต่ขาดการจัดการช้อมูลที่ถูกต้องก็จะไม่สร้างคุณภาพ”


ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้จัดทำระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษา กล่าวว่าประเทศบราซิลมีพัฒนาด้านคุณภาพการศึกษาวันโดยคะแนนสอบ PISA เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในโลกเพราะใช้ระบบสารสนเทศและข้อมูลมาสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยมี “วันดีเดย์” ในการเปิดเผยข้อมูลการจัดการศึกษาสู่สาธารณะเพื่อดึงประชาชนมาร่วมออกแบบการศึกษา “สำหรับระบบข้อมูลสารสนเทศทางการศึกษาของจ.ภูเก็ต ในปี 57-58 พบว่า นักเรียนในเขตเทศบาลมีคะแนนโอเน็ตอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในระดับประถม โดยมีเด็กที่ได้คะแนนเต็ม 100 ในวิชาคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนมากถึง 14 คน และมีเด็กร้อยละ 10 ที่ได้คะแนนโอเน็ต 90 ขึ้นไปทุกวิชา และมีอัตราการเข้าเรียนปกติสูงถึง 96% ผู้เรียนมีทักษะการเขียน คิดวิเคราะห์ อยู่ในเกณฑ์ที่ดี อัตราส่วนครูต่อนร.ประถม 1:21 อยู่ในเกณฑ์ที่ดี และเทศบาลมีการร่วมลงทุนทางงบประมาณร่วมกับสปสช.ในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ทำให้มีเงินอุดหนุนทางงบประมาณเพิ่มขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เข้าใจระบบการจัดการศึกษาของเทศบาลนครภูเก็ตได้มากขึ้นและเป็นพื้นฐานในการจัดทำแผนการศึกษา”

Shares:
QR Code :
QR Code