"รอลูกเลิกเรียน" ชวนพ่อแม่เข้าใจวัยรุ่นสร้างสัมพันธ์ในครอบครัว
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพโดย สสส.
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าครอบครัวคือพื้นฐานสำคัญของชีวิตมนุษย์ แต่ไม่น่าเชื่อว่า 1 ใน 3 ของครอบครัวในเมืองอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงในด้านสัมพันธภาพ โดยผลจากการศึกษาวิจัยครอบครัวไทยในเขตเมือง ปี 2557 ครอบครัวประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ค่อยจะเล่าหรือไม่เล่าอะไรให้คนในครอบครัวฟัง 60 เปอร์เซ็นต์ ที่มีการใช้อำนาจบังคับ หรือขู่เข็ญ จำนวน 33 เปอร์เซ็นต์ ที่ครอบครัวไม่ค่อยใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาและยังด่าทอ หยาบคาย หรือพูดทำร้ายจิตใจ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงมีความมุ่งหวังที่จะเป็นหนึ่งของความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาเรื่องสัมพันธภาพภายในครอบครัว โดยเฉพาะ "การสื่อสาร" ของผู้ปกครองในครอบครัวที่มีลูกหลานวัยรุ่น เพราะถ้าหากสัมพันธภาพและการสื่อสารระหว่างกันในครอบครัวไม่ดีก็อาจจะส่งผลก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัวได้
1 เมษายน ที่ผ่านมา ห้อง GREEN ชั้น B1 สำนักงาน สสส. ซอยงามดูพลี ย่านพระราม 4 คึกคักด้วยผู้คนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานแถลงข่าว "แพลตฟอร์มออนไลน์กับการสื่อสารกับลูกหลานวัยรุ่นยุค 4.0" พร้อมเปิดตัวรายการทีวี "รอลูกเลิกเรียน" (After school) ซึ่งจะช่วยเสริมทักษะให้ผู้ปกครองสื่อสารกับลูกได้ดีขึ้น และเข้าใจวัยรุ่นได้มากขึ้น โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สสส. และบริษัท ทูลมอร์โร่ (Toolmorrow) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำสื่อออนไลน์เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคม มุ่งหน้าจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ภายใต้ความเชื่อที่ว่า "ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างครอบครัวอบอุ่น"
ในงานนี้ ภาคีเครือข่ายมากมายเข้าร่วมอย่างพร้อมหน้า อาทิ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และกลุ่มเครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครอง
กรภพ จันทร์เจริญ หรือ โจ๊ก โซคูล นักร้องชื่อดัง ผู้รับหน้าที่พิธีกรรายการ "รอลูกเลิกเรียน" (After school) บอกเล่าคอนเซ็ปต์รายการว่า นี่คือรายการที่จะช่วยเสริมทักษะให้ผู้ปกครองสื่อสารกับลูกได้ดีขึ้น และเข้าใจวัยรุ่นได้มากขึ้น ผ่านเรื่องราวของ 10 ครอบครัว 10 ประเด็นปัญหาของพ่อแม่ที่ลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่น อาทิ ปัญหาการติดเพื่อน, ความสัมพันธ์กับแฟน, ลูกติดมือถือหรือเกม ซึ่งแต่ละตอนจะมีความยาวประมาณตอนละ 15 นาที มีการสร้างสรรค์เป็นรายการครอบครัวที่สนุกสนานและน่าสนใจ และยังสอดคล้องกับความต้องการของครอบครัวยุคใหม่ที่ต้องการเพิ่มทักษะการสื่อสารกับลูกในช่วงวัยรุ่น โดยตอนแรกที่ได้ออกอากาศไปแล้วเมื่อวันที่ 29 มีนาคม มีชื่อว่า #EP1 ลูกไม่มั่นใจในตัวเอง
"รายการนี้จะทำให้คุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูก ๆ ได้ดีขึ้น เพราะเราเชื่อว่าการพูดคุยเป็นสิ่งสำคัญต่อครอบครัว และรายการนี้ต่างจากรายการอื่นมาก ๆ ตรงที่เราจะนำคุณพ่อคุณแม่มาตั้งโต๊ะพูดคุยถึงปัญหาของลูก ๆ ของตัวเอง และก็ยังมีคุณหมอที่เป็นแพทย์จิตวิทยาที่มาให้ความรู้ ทำให้เรามองโลกเปลี่ยนไป" โจ๊ก โซคูลกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีเสวนาน่าสนใจในหัวข้อ "แพลตฟอร์มออนไลน์กับการสื่อสารกับลูกหลานวัยรุ่นยุค 4.0" ที่ได้คุณแม่ตัวจริงอย่าง ตุ๊ก ชนกวนันต์ รักชีพ ดาราชื่อดัง เป็นผู้ดำเนินรายการ เข้มข้นด้วยเนื้อหาสาระชวนฟังอย่างยิ่ง
"เด็กทุกคนเกิดมามีศักยภาพไม่ว่าจะเกิดมาในครอบครัวแบบไหน" คือคำกล่าวของ ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ซึ่งอธิบายสภาพสังคมไทยในปัจจุบันว่า เด็กทั้งหลายที่เราเห็นอยู่นั้นมีทั้ง Gen C และ Gen Z แต่คนที่เลี้ยงดูคือพ่อแม่ซึ่งเป็น Gen X ขึ้นไป และเมื่อพ่อแม่ออกไปทำงาน บางครั้งคนเลี้ยงคือคนสูงวัยกว่านั้น นั่นคือรุ่นปู่ย่าตายาย ในขณะที่สังคมไทยก้าวสู่ "สังคมสูงวัย" มีเด็กเกิดใหม่เริ่มน้อยลงทุกปีซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกัน
ในขณะที่ สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ หัวหน้าโครงการพัฒนาศักยภาพการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เล่าถึงนวัตกรรมดังกล่าวว่า เป็นกระบวนการพัฒนาทักษะการสื่อสารในครอบครัวเมื่อคนดูรายการ "รอลูกเลิกเรียน" จบแล้ว หากมีความต้องการที่จะพัฒนาทักษะการสื่อสารกับลูกหลานในวัยรุ่น สามารถเข้ามาทำแบบสอบถามเพื่อประเมินคะแนนความสัมพันธ์ได้
"คะแนนที่ออกมาจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่คะแนนดีอยู่แล้ว ความสัมพันธ์ดี ทักษะดีอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องมีการสอนอะไรมาก 2.กลุ่มปานกลางซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย เราน่าจะช่วยเขาได้ ก็จะเข้ามาในระบบของเรา 3.กลุ่มที่คะแนนค่อนข้างต่ำ ที่เกินความสามารถของเรา ก็จะมีการส่งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ โรงพยาบาล หรือมูลนิธิอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ของเขา เพื่อให้เขารู้ว่าเราไม่ได้ทอดทิ้งเขา" สุรเสกข์ กล่าว
ด้าน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาอย่างลงลึกว่า "ความต้องการของวัยรุ่นตอนนี้มีเยอะมาก เคสวัยรุ่นเดี๋ยวนี้ที่มาหาหมอมีมากกว่าสมัยก่อน สาเหตุที่ชัดเจนมาก ๆ คือปัญหาครอบครัวที่มีการเปลี่ยนแปลงไป 1.คือครอบครัวที่มีลูก 1 คนและลูกไม่รู้จะไปเล่นกับใคร 2.ครอบครัวที่แตกแยก 3.การที่ส่งลูกไปอยู่กับญาติพี่น้อง โดยที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ทำให้ลูกอยู่กับสื่อมากขึ้น ปกติของเด็กวัยรุ่นจะไม่ได้คุยกับพ่อแม่อยู่แล้ว ตอนเด็กน่ารัก แต่พอโตขึ้นเวลาถามทำไมไม่ตอบ ชวนไปไหนก็ไม่ไป อยู่แต่หน้ามือถือตัวเอง บางครอบครัวอยู่ด้วยกันแต่สุดท้ายเด็กก็ยังถามว่าทำไมเหงาจังโดยที่ไม่ได้ป่วย รู้สึกว่าตัวเองเหงา ชีวิตไม่มีอะไรที่น่าไขว่คว้าเลย คุยกับพ่อแม่ก็ไม่ได้เพราะกลัวพ่อแม่ทุกข์ใจ หรือบางทีคุยไปพ่อกับแม่ก็จะพูดว่าครอบครัวมีครบทุกอย่าง พ่อแม่ก็ไม่ได้เลิกกันทำไมยังเหงา ยังต้องเบื่อ ซึ่งนี้เป็นปัญหาที่พบบ่อยเพราะพ่อแม่ก็อยู่กับตัวเอง ลูกก็อยู่กับตัวเอง ไม่มีโอกาสที่จะมาพูดคุยกัน เป็นสภาพที่เราเห็นความแตกต่างจากสมัยก่อนเป็นอย่างมาก" พญ.วิมลรัตน์ กล่าว
ปิดท้ายด้วยตัวแทนครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการ โดยมี คุณแม่จิ๋วและน้องลิลลี่ ซึ่งปรากฏในรายการ #EP1 ลูกไม่มั่นใจในตัวเอง คุณแม่จิ๋ว กล่าวว่า ปัญหาที่เจอนั้นไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาใหญ่แต่เป็นปัญหาเล็ก ๆ เช่น เวลาไปนั่งร้านก๋วยเตี๋ยวลูกไม่กล้าสั่งเอง
"ด้วยความที่ว่าเราเป็นคุณแม่ลูก 7 แล้วเป็นผู้ชายหมด มีน้องคนเดียวเป็นผู้หญิง ก็เลยเหมือนโดนเลี้ยงมาประมาณแบบไข่ในหิน มีอะไรคุณพ่อเขาก็จะให้พี่ทำให้ ให้พี่สั่งให้ จนเขาก็จะติดเป็นนิสัยไม่กล้าสั่งเอง จนกระทั่งเขาเริ่มโตขึ้นแต่ยังไม่กล้าสั่ง เราก็เลยเริ่มมองว่าเป็นปัญหา วิธีแก้ปัญหาของเราคือ ลูกไม่ได้ดั่งใจ เราก็จะตะคอกใส่อารมณ์ ทำไมเป็นแบบนี้ ทำไมไม่กล้าสั่ง ถ้าไม่สั่งก็ไม่ต้องกิน ลูกก็จะไม่กินก็ได้ เพราะหนูไม่กล้าสั่ง เมื่อพูดถึงว่าเราข้ามก้าวผ่านปัญหามาได้นี่ยากไหม คือไม่ยากเลย เราแค่ต้องพูดดี ๆ กับเขา นึกถึงความดีความน่ารักของเขา อย่าไปใส่อารมณ์กับเขา" คุณแม่จิ๋ว สรุป
ผู้สนใจสามารถรับชมรายการ "รอลูกเลิกเรียน" (After school) ซึ่งจะเผยแพร่ทุก 2 สัปดาห์ ผ่านทาง Facebook : Toolmorrow, Youtube, www.afterschoolonline.tv เวลา 18.00 น.