รวมพลังใจคุณแม่อาสา นวดเรียกน้ำนมเพื่อลูก
อาหารที่ดี มีประโยชน์สำหรับลูกน้อยแรกเกิดก็คือ “น้ำนมแม่” ที่อุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญที่ทำให้ลูกเจริญเติบโต มีพัฒนาการที่สมบูรณ์ เฉลียวฉลาด และยังเป็นการสร้างความรักความผูกพันระหว่างแม่ลูกอีกด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม “รวมใจแม่อาสา” ของกลุ่มแม่อาสาโซเชียลเน็ตเวิร์ก ให้แม่ยุคใหม่โลกไซเบอร์รอบรู้เรื่องนมแม่อย่างรอบด้าน พร้อมเปิดเวิร์กช็อปการนวดกระตุ้นน้ำนม ศาสตร์นวดแผนไทยผสมผสานการนวดกระตุ้นน้ำนม หลังพบว่าคุณแม่ที่มีลูกอ่อนมักกลัวไม่มีน้ำนมให้ลูกกิน
โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ อาทิ พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย, รศ.กรรณิการ์ วิจิตรสุคนธ์ กรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยและผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จัดขึ้น ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
แพทย์หญิงยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า กิจกรรม “รวมใจแม่อาสา” เรื่องพลังนวดกระตุ้นน้ำนม (power of massage) เป็นการรวมตัวกันของกลุ่ม “แม่-ช่วย-แม่” (mother support mother) ที่เกิดจากกลุ่มแม่อาสาออนไลน์จากเฟซบุ๊กของมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยมารวมตัวกัน และมีความต้องการส่งเสริมให้คุณแม่ท่านอื่นๆ ได้มีโอกาสเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ยังขาดประสบการณ์ และต้องการคำปรึกษาด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยใช้กิจกรรมการนวดกระตุ้นน้ำนมเป็นสื่อกลางในการเรียนรู้ร่วมกัน
ประโยชน์ของการนวดน้ำนมคือ ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น ช่วยให้น้ำนมไหลจากท่อได้ดี เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมให้มากขึ้น อีกทั้งการนวดยังทำให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดความเครียด ลดความเมื่อยล้า ลดการอุดตันของท่อน้ำนม ทำให้สุขภาพของเต้านมดีขึ้น ป้องกันการเกิดโรคมะเร็งเต้านม
รศ.กรรณิการ์ วิจิตรสุคนธ์ กรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยและผู้เชี่ยวชาญด้านการนวดกระตุ้นน้ำนม เผยว่า สำหรับการเปิดสอนเวิร์กช็อปการนวดกระตุ้นน้ำนม (power of massage) เป็นกิจกรรมให้ความรู้สำหรับคุณแม่ที่มีปัญหาน้ำนมมาน้อย หรือต้องการกระตุ้นให้น้ำนมมากขึ้น การนวดลักษณะนี้เป็นการผสมผสานการนวดแผนไทยกับการนวดกระตุ้นน้ำนม ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดถึงเคล็ดลับการกดจุดกระตุ้นน้ำนมในร่างกาย และเทคนิคการนวดด้วยตนเอง โดยคุณแม่สามารถเรียนรู้และกลับไปฝึกฝนด้วยตนเอง จะช่วยให้น้ำนมมาตามปกติและหมดปัญหาในเรื่องน้ำนมมาน้อย
คุณแม่ที่มีน้ำนมน้อย การนวดเต้านมอาจช่วยให้น้ำนมไหลดีขึ้นได้ คือใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบทิ้งไว้ 3-5 นาที และใช้นิ้วมือ 3 นิ้ว ค่อยๆ คลึงเบาๆ ที่เต้านม โดยคลึงเป็นวงกลมจากบริเวณฐานเต้านมไปถึงตรงปลายใกล้หัวนม นวดคลึงเบาๆ จะช่วยให้น้ำนมไหลออกมาได้ง่ายขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านการนวดกระตุ้นน้ำนม กล่าวต่อว่า ส่วนคุณแม่ที่มีน้ำนมเยอะอาจคัดตึงเต้านมได้ ดังนั้น ก่อนให้นมควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบไว้ 3-5 นาทีเช่นกัน แล้วนวดคลึงเบาๆ ก่อนบีบน้ำนมออก จะช่วยให้รู้สึกสบาย น้ำนมไหลกระจายดี บีบออกมาได้เยอะขึ้น การนวดน้ำนมเป็นการเปิดทางให้น้ำนมไหลดีขึ้น พอน้ำนมออกได้มากขึ้น เมื่อเรากระตุ้นเพิ่มทั้งจากการให้ลูกดูดและหมั่นปั๊มน้ำนมก็จะผลิตได้มากขึ้นเอง
ในส่วนของสื่อออนไลน์ แพทย์หญิงศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล ผู้ดูแลสื่อเว็บไซต์มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้คุณแม่รุ่นใหม่สนใจการเลี้ยงลูกด้วยนม ค้นคว้าความรู้เพิ่มเติมผ่านการท่องโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก www.facebook.com/thaibf มากขึ้นเป็นเท่าตัว ทำให้ยอดแฟนเพจเพิ่มขึ้นวันละ 50-100 คน
ซึ่งกลุ่มผู้ดูแลแอดมินเพจ เป็นกลุ่มแม่อาสาที่มีความเข้าใจการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และขออาสามาช่วยดำเนินการในการเผยแพร่ข่าวสารใหม่ๆ และตอบคำถามให้กับคุณแม่ท่านอื่นๆ ที่เป็นแฟนเพจ มูลนิธิศูนย์ศูนย์นมแม่ฯ หวังว่าเวทีในโลกออนไลน์จะเป็นสื่อกลางให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างแม่ที่เคยให้นมแม่สำเร็จแล้วกับแม่ที่กำลังจะมีบุตร เพื่อกระตุ้นอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้กระเตื้องขึ้นบ้าง
ด้าน นางไพรินทร์ กนกหงษ์ อายุ 28 ปี คุณแม่ยังสาว ผู้เข้าร่วมกิจกรรม “รวมใจแม่อาสา พลังนวดกระตุ้นน้ำนม” กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ยังมีคุณแม่อีกหลายๆ ท่านยังเห็นถึงความสำคัญของการให้นมแม่มากกว่าที่จะให้นมผง โดยส่วนตัวมีเพื่อนที่รู้จักเป็นคุณแม่ลูกอ่อนที่ใช้นมผงในการเลี้ยงลูก ถึงแม้เขาจะรู้ว่านมแม่ดียังไง แต่ไม่พร้อม ทั้งนี้ อยากให้มีกิจกรรมดีๆ อย่างนี้ต่อไป เพื่อให้คุณแม่เล็งเห็นถึงปัญหาเกี่ยวกับอนาคต ว่ามันเป็นผลกระทบโดยตรงของลูกเองที่การทานนมผง ซึ่งมีประโยชน์น้อยกว่านมแม่ ซึ่งตัวเองก็ตั้งใจจะให้ลูกสาววัย 11 เดือนทานนมแม่ต่อไปเรื่อยๆ
นางภาวดี เมตตาประคอง คุณแม่วัย 34 ปี เผยว่า สนใจเข้าร่วมกิจกรรมนวดกระตุ้นน้ำนม เพราะอยากทราบว่าการที่เรานวดน้ำนมเองกับที่เป็นหลักการต่างกันตรงไหน และยังได้หลักการความรู้ในการนวดที่ถูกต้องพร้อมฝึกปฏิบัติ รวมทั้งหากมีปัญหาอะไรยังสามารถสอบถามจากผู้รู้ในกิจกรรมครั้งนี้ได้ค่ะ
การขับเคลื่อนดังกล่าวเชื่อว่าจะเป็นพลังให้คุณแม่มือใหม่ได้รับทราบประโยชน์ และหันมาให้นมลูกกันมากขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์