รวมพลังสร้างสังคมนมแม่ให้ยั่งยืน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
จากข้อมูลรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย (MICS 5th by UNICEF พ.ศ. 2558- 2559) พบว่า แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนถึง 6 เดือน มีร้อยละ 23 แม่ที่สามารถให้นมแม่ได้ถึง 1 ปี มี ร้อยละ 33 แม่ที่สามารถให้นมลูกได้ถึง 2 ปี มีอัตราร้อยละ 16
อุปสรรคสำคัญที่แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ คือ การ เริ่มต้นในโรงพยาบาล และ ระยะ 2 สัปดาห์แรก หลังจากที่แม่ออกจาก โรงพยาบาลและกลับมาอยู่ที่บ้าน และอยู่ในชุมชน เส้นทางเพื่อช่วยให้แม่ให้นมแม่ได้สำเร็จ (Breaking the Barrier to Successful Breastfeeding) เริ่มจากโรงพยาบาล ไปสู่ชุมชน และครอบครัว ต้องให้การสนับสนุน ส่งเสริม และปกป้อง ให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างเต็มที่ ประกอบด้วย 6 ประเด็น คือ 1.ลงทุน 9 เดือน กำไรตลอดชีวิต 2.รู้ว่ามีน้อง ฝากท้องทันที 3.โฟเลต ไอโอดีน ธาตุเหล็ก สำคัญต่อลูกในท้อง 4.ชั่วโมงแรกที่ลูกเกิด บอกหมอ พยาบาล ช่วยนำลูกมาวางบนอกแม่ตั้งแต่ในห้องคลอด 5.วันแรกที่ลูกเกิดแยกแม่แยกลูกหลังคลอดไม่ดีนะ 6.น้ำนมมาแน่ถ้าแม่รู้และทำถูกวิธี
ศาสตราจารย์ คลินิกแพทย์หญิงศิราภรณ์ สวัสดิวร เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า "ในส่วนของการปกป้อง ประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กพ.ศ. 2560 ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติไปเมื่อวันที่ 4เมษายน2560 และประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา ไปเมื่อวันที่10 กรกฎาคม2560" ใจความสำคัญของพระราชบัญญัติดังกล่าว คือ ห้ามโฆษณานมผงสำหรับทารกและอาหารเสริมทารก ห้ามบริษัททำการติดต่อกับหญิงตั้งครรภ์ แม่ และครอบครัว ฉลากนมผงสำหรับทารก นมผงสำหรับเด็กเล็กและ อาหารเสริมสำหรับทารกต้องแตกต่างกันและ ต้องแตกต่างจากฉลากนมอื่น ๆ ห้ามบริษัทจัดกิจกรรมอีเวนต์ หรือการประชุมสำหรับหญิงตั้งครรภ์ แม่ และบุคลากรสาธารณสุข พระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายห้ามโฆษณาอาหารทารก อายุ 0-12 เดือน ในส่วนอาหารเด็กเล็ก 1-3 ปี โฆษณาได้ แต่ต้องไม่เป็นการโฆษณาข้ามผลิตภัณฑ์ หรือสื่อถึงอาหารทารก และ ห้ามไม่ให้มีการส่งเสริมการขายอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก" เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าว
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า "ในปีนี้ถือเป็นความสำเร็จในรอบ 36 ปีที่การปกป้องให้เด็กไทย ได้กินนมแม่เกิดขึ้นได้จริง จากการที่พระราชบัญญัติควบคุมการ ส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นกฎหมายแล้วเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม2560 นี่เป็นผลจากการรวมพลังของทุกภาคส่วน และมีผู้นำที่ ขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุขอย่างเข้มแข็งอย่าง ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ชี้เป้าการปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จ ตามนมแม่ 1-6-2"
วันที่ 1-7 สิงหาคมของทุกปี เป็นสัปดาห์นมแม่โลก ในปีนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ องค์กร Alive and Thrive องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมรณรงค์การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีหน่วยงานที่ประสานการจัดงาน คือ องค์กรเครือข่ายพันธมิตรนมแม่โลก (World Alliance for Breastfeeding Action – WABA) ภายใต้แนวคิด "รวมพลัง สร้างสังคมนมแม่ ให้ยั่งยืน" เป็นการรวมพลังจากทุกภาคส่วนเพื่อให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกิดความยั่งยืน ในสังคมไทยตามทิศทางของกลยุทธ์การสื่อสารสู่สังคม "นมแม่ 1- 6-2"
ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ เพลง "พลังรักนมแม่" ขับร้องโดย หนูน้อยนมแม่ ด.ญ. ภาวิดา พรวัฒนานุกูล หรือ "น้องใบพลู" และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากแชมเปี้ยนนมแม่ ในวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2560 เวลา 13.00-16.00 น. ณ บริเวณชั้น 7 เซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
สำหรับ "นมแม่1-6-2" 1 คือ การเริ่มต้นให้ลูกดูดนมแม่ ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และให้แม่และลูกได้อยู่ด้วยกันตลอดตั้งแต่นั้น 6 คือ การให้นมแม่อย่างเดียวใน 6 เดือนแรก โดยไม่ต้องให้น้ำหรืออาหารอื่น 2 คือ การให้นมแม่ต่อเนื่องพร้อมให้อาหารตามวัย จนถึงอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น