รร.น้ำขุ่นวิทยา ต้นแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนา นร.
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากเว็บไซต์มติชน
โรงเรียนต้นแบบของการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนตามศักยภาพของตนเอง
โรงเรียนน้ำขุ่นวิทยา จังหวัดอุบลราชธานี เป็นโรงเรียนต้นแบบของการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนตามศักยภาพของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการนำของรองผู้อำนวยการโรงเรียน นายสายทอง เขียวขำ ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เข้าถึง เข้าใจ บริบทของนักเรียนในโรงเรียนเป็นอย่างดี ใช้ข้อมูลพื้นฐานของนักเรียนเป็นประโยชน์ในการออกแบบการจัดการศึกษาที่น่าสนใจ
โดยเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ของโรงเรียนมาจากครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ หย่าร้าง นักเรียนต้องอาศัยอยู่กับปู่ย่า ตายาย และยังประเมินพฤติกรรมเสี่ยง จนพบว่านักเรียนส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมเสี่ยงเกี่ยวกับยาเสพติด
สำหรับข้อมูลของนักเรียนในกลุ่มเรียนดีของโรงเรียน พบว่า ยังขาดทักษะอาชีพและทักษะชีวิต จนนำไปสู่โจทย์การพัฒนานักเรียนที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเสี่ยง และเติมศักยภาพทางวิชาชีพให้แก่นักเรียนกลุ่มเก่ง
กอปรกับการมีภาคีร่วมคิดที่สำคัญ คือ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่เข้ามาหนุนเสริมทางวิชาการให้เกิดการพัฒนาสู่โรงเรียนสุขภาวะ ตลอดจนสร้างเครือข่ายโรงเรียนสุขภาวะให้เกิดเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้วิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) โดยบูรณาการแนวทางเรียนรู้ (Active Learning) ใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning) ทั้งการลดพฤติกรรมเสี่ยงและเพิ่มพฤติกรรมสุขภาพ ทั้งด้านกาย จิต สังคม และสติปัญญา เพื่อสร้างโรงเรียนสุขภาวะที่มีองค์ประกอบด้านความสุขครบทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ผู้เรียนเป็นสุข ครอบครัวเป็นสุข โรงเรียนเป็นสุข ชุมชนเป็นสุข และสภาพแวดล้อมเป็นสุข
ด้วยเหตุนี้โรงเรียนจึงร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะชีวิตผ่านการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนน้ำขุ่นวิทยา โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
กิจกรรมของโครงการมุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันระหว่างกลุ่มเด็กหลังห้องและกลุ่มเด็กแถวหน้าห้อง โดยใช้ศูนย์การเรียนรู้ในโรงเรียน สร้างกิจกรรมทางวิชาชีพที่นักเรียนทั้งสองกลุ่มสนใจร่วมกัน เช่น เลี้ยงไก่ชน เลี้ยงหมู ปลูกสวนกล้วย เพาะต้นอ่อนทานตะวัน เป็นต้น
ผลจากการดำเนินโครงการสามารถช่วยเหลือกลุ่มเด็กหลังห้องที่อยู่ในภาวะเสี่ยง ทั้งจากปัญหายาเสพติด มั่วสุม และพฤติกรรมไม่เหมาะสม เด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีอยู่ในโรงเรียนจาก 36 คน ได้ถึง 35 คน คิดเป็นร้อยละ 97.22 และเด็กกลุ่มนี้ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงบวก มีความตั้งใจ สนใจในการเรียน และมีความรับผิดชอบสูงขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มเด็กแถวหน้าห้องยังมีทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำเพิ่มขึ้น รวมทั้งเด็กทั้งสองกลุ่มยังเกิดสัมพันธไมตรีอันดี ทำงานและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขอีกด้วย
ในปีการศึกษาปัจจุบัน โรงเรียนยังคงดำเนินกระบวนการดูแลเด็กหลังห้องอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มเติมกิจกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และจำหน่ายสินค้า การอบรมเพื่อสร้างอาชีพตัดผมชายและเสริมสวยหญิง เพื่อปรับให้ตรงกับความชอบ ความต้องการของนักเรียนแต่ละรุ่น
จะเห็นได้ว่าการจัดการศึกษาที่สอดรับกับความต้องการของนักเรียน จะสามารถสร้างแรงขับจากภายในของนักเรียนได้ ฉุดรั้งให้นักเรียนที่กำลังจะตัดสินใจออกจากระบบการศึกษาให้ยังคงอยู่ และเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนได้อย่างมีความสุข อีกทั้งยังเป็นแนวทางที่จะสามารถแก้ไขปัญหานักเรียนที่กำลังจะหลุดออกจากระบบได้อย่างยั่งยืน
สุดท้าย นายสายทอง เขียวขำ ให้ข้อคิดสำคัญทางการศึกษาที่แหลมคมยิ่ง ทำไมครูสนใจให้ความสำคัญเด็กเก่งแถวหน้าไม่กี่คนที่สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนแต่ทอดทิ้งเด็กมีปัญหา เด็กหลังห้องจำนวนมาก ทั้งๆ ที่เด็กเก่งต้องเรียนต่อสูงขึ้น ใช้ชีวิตในเมืองไม่กลับท้องถิ่นมากนัก ผิดกับเด็กหลังห้อง ถ้าเราดูแลให้ทักษะชีวิต อาชีพการงาน เด็กหลังห้องจะเป็นผู้นำชุมชน นายก อบต. ผู้ใหญ่บ้านดูแลและสร้างความเจริญให้ชุมชนต่อเนื่อง เด็กเก่งทอดกฐินได้เงินหลักร้อย แต่เด็กหลังห้องหาเงินได้เป็นแสน กว้างขวาง เป็นที่รู้จัก กตัญญูรู้คุณครู เอาใจใส่ปัญหาต่างๆ เพราะผ่านประสบการณ์มามาก
เราลองมาเปลี่ยน mindset รักและทุ่มเทเด็กหลังห้องจะดีกว่าไหม