รพ.อุบลรัตน์ที่สุดของความพอเพียง

รพ.อุบลรัตน์ที่สุดของความพอเพียง 

            กว่าหนึ่งปีที่เราได้เรียนรู้วิถีชีวิต ตามแนวทางของความพอเพียง ทั้งจากแนวคิดของบุคคล องค์กร หรือแม้กระทั่งตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง จากการยึดทฤษฎีพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นเป้าหมายในการดำเนินชีวิตและเป็นหลักปฏิบัติ ผ่านทางคอลัมน์องค์กรสร้างสุข ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.ต้องการเผยแพร่วิธีการสร้างสุขภาวะที่ดี ทั้งทางกาย และทางจิตให้กับคนไทย แต่ก็ยังมีกลุ่มคนอีกไม่น้อย ที่ได้ซึมซับความพอเพียงของในหลวง และเป็นตัวอย่างที่ดีที่เราน่าจะได้เรียนรู้ และชื่นชม

 

            เหมือนกับชีวิตของคุณหมอคนหนึ่งคือ นายแพทย์ อภิสิทธิ์ ธำรงวรวางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ที่ถึงกับยอมรับว่าในช่วงชีวิตหนึ่ง คุณหมอเองก็เคยเข้าใจความเป็นจริง และความสุขของชีวิตผิดๆ ไป กับการลงทุน และการแสวงหาเงินให้มากๆ เพราะเชื่อว่า การมีเงินมากนั้น นำพามาซึ่งความสุข โดยแม้ว่าคุณหมอจะไม่ได้คิดถึงตัวเอง แต่มองในแบบของการเจริญเติบโตของโรงพยาบาล การขยายการให้บริการเพื่อให้มีรายได้เข้ามาใช้ในการบริหารกิจการโรงพยาบาลมากขึ้น แต่ในท้ายที่สุดแล้ว คุณหมอก็กล่าวเองว่า เงินมากมายไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง

 

            เริ่มต้นจากการที่คุณหมอบอกคนไข้ว่า “มีอะไรก็ให้รีบไปหาหมอ” โดยที่คิดเพียงว่า เมื่อคนไข้มากขึ้น ก็จะมีเงินไหลเข้ามา เพื่อใช้ในการขยายกิจการของโรงพยาบาลได้ แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็คือ โรงพยาบาลเต็มไปด้วยคนไข้ ทั้ง คลินิกในเวลาราชการ และคลินิกนอกเวลา ทำให้รายจ่ายของโรงพยาบาลเริ่มสูงขึ้นจากการให้บริการคนไข้มากขึ้นเป็นเท่าตัว

 

            ที่แย่ไปกว่านั้นคือ รายได้ที่คาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นกลับไม่เพิ่ม เพราะงบประมาณของทางราชการมีจำกัด ส่วนชาวบ้านในภาคอีสานส่วนใหญ่ก็มีฐานะยากจน

 

            คุณหมอเล่าให้ฟังว่า บางครั้งเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลคนไข้ 100 บาท แค่คนไข้บอกว่าไม่มี ก็จ่ายได้เพียง 50 บาทเท่านั้น ซึ่งตรงส่วนนี้ทำให้โรงพยาบาลต้องนำงบที่เป็นเงิน ออกมาใช้จนเหลือน้อยลง

 

            สุขภาวะของหมอ และพยาบาล และบุคลากรทุกระดับก็แย่ลงตาม” คุณหมอบอกเช่นนั้น และยังย้ำว่า การสร้างสุขในองค์กรยังเกิดขึ้นไม่ได้ แล้วจะสามารถรักษาคนไข้ที่เจ็บป่วยให้กลับมามีสุขได้อย่างไร

 

รพ.อุบลรัตน์ที่สุดของความพอเพียง

            คุณหมอเริ่มพูดคุยกับปราชญ์ชาวบ้าน และพบว่า แนวคิดของความพอดี และพอเพียง กับการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ในการรักษาโรคควบคู่กัน ใช้หลักการสร้างภูมิคุ้นกันด้วยการออม นั่นคือ ออมน้ำ ออมดิน ออมสัตว์ และออมต้นไม้ยืนต้นที่หลากหลาย ไม่มุ่งทำลายธรรมชาติ และออมเงิน สั่งสมกัลยาณมิตร ทั้งหมดนี้ ทำให้สภาพแวดล้อมในชุมชนดีขึ้น อัตราการเจ็บป่วยของคนไข้ก็ลดน้อยลง

 

            การหันมาใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการรักษาพยาบาล และแสวงหาความรู้โบราณตามหลักภูมิปัญญาท้องถิ่น ก็ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล เพราะไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพิงยาฝรั่ง

 

            ท้ายที่สุดแล้ว ชุมชนแห่งนี้ที่อยู่ล้อมรอบโรงพยาบาลก็มีพื้นที่ที่เป็น ดินดำ น้ำชุ่ม ป่าอุดมสมบูรณ์ ปลอดจากมลภาวะ และสารเคมีฆ่าหญ้า มีครอบครัวที่อบอุ่น และชุมชนที่เข้มแข็งมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นจนกลายเป็นเมืองที่คนมีสุขภาพดี มีกินมีใช้ และมีเพื่อน มีปัญญาในการแก้ปัญหา

 

            ไม่เพียงแต่กลไกของหลักความพอเพียงจะเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนทำให้สถานภาพของโรงพยาบาลดีขึ้นเท่านั้น แต่หลักธรรมะของพระพุทธเจ้าอย่างอริยสัจสี่ ก็เป็นสิ่งที่คุณหมอได้เรียนรู้มาจากปราชญ์ชาวบ้าน และนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนอีกด้วย

 

            ทั้ง ทุกข์ สมุทัย การหาเหตุแห่งทุกข์ นิโรธ หาทางเลือกในการดับทุกข์ ทั้งทุกข์กาย จากปัญหาหนี้สินรุมเร้า และสุดท้ายมรรค คือการปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากทุกข์ ทั้งหมดนี้ เข้ามาเสริมทัพให้ความพอเพียง กลายเป็นปราการที่แข็งแกร่ง ที่ทำให้ทั้งสมาชิกในชุมชน และบุคลากรของโรงพยาบาลเข้าใจ และมองเห็นทางในการสร้างสังคมที่เป็นสุขอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในพื้นที่รอบๆ โรงพยาบาลอุบลรัตน์ได้ไม่ยากเลย

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

update: 28-09-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ