รพ.สวนปรุง ผลิตยารูปแบบใหม่ช่วยเด็กกินง่ายขึ้น
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
รพ.สวนปรุงสุดไฮเทค นำเทคโนโลยีระบบพิมพ์ 3 มิติ ผลิตยาเป็นรูปแบบต่างเช่นตัวการ์ตูน ช่วยให้เด็กไม่กลัวกินง่ายขึ้น
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่บริเวณห้องประชุม โรงพยาบาลสวนปรุงเชียงใหม่ ได้มีการจัดแถลงข่าวการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยาด้วยระบบการพิมพ์แบบ 3 มิติ โดยมี ภก.ดร.วนิดา พุ่มไพศาลชัย หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลสวนปรุง พร้อมด้วย รศ.ดร.นิพนธ์ ธีรอำพน ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์วิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้นำเสนอ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ในการนำระบบการพิมพ์แบบ 3 มิติ มาดัดแปลงปรับปรุง และนำมาใช้ในการพิมพ์ยาให้เกิดรูปแบบต่างๆ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าว มาใช้ในการแก้ไขปัญหาการจัดยาให้กับผู้ป่วย
รองศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ ธีรอำพน ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์วิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในปัจจุบันโลกเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ดังนั้นทางศูนย์วิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้มีการคิดค้นในการนำเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติรูปแบบใหม่ นำมาใช้เพื่อเปิดโอกาสให้เภสัชกรสามารถสร้างเม็ดยาที่มีรูปแบบเฉพาะตามความต้องการของผู้ป่วยแต่ละคนได้อย่างรวดเร็ว ช่วยทำให้การกินยานั้นง่ายขึ้น เพียงแค่ เภสัชกรผสมยาตามสูตรที่ต้องการ จากนั้นป้อนตัวยาที่ต้องการใช้เข้าไปในเครื่อง ก่อนที่จะสั่งพิมพ์ออกมาเป็นรูปแบบต่างๆตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งนวัตกรรมนี้ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ และถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการผลิตยาที่ต้องลงทุนสูง ให้สามารถผลิตยามาใช้กับผู้ป่วยเฉพาะรายในโรงพยาบาลได้เอง ในราคาประหยัดและรวดเร็ว
ขณะที่ทางด้าน ภก.ดร.วนิดา พุ่มไพศาลชัย หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลสวนปรุง เปิดเผยว่า สำหรับโครงการดังกล่าวถือเป้นการร่วมมือกันระหว่าง 3 หน่วยงานคือ โรงพยาบาลสวนปรุง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์วิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการที่จะแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ป่วยที่กลืนยาลำบาก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก รวมไปถึงผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาในปริมาณที่เฉพาะตามความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งเราสามารถใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเฉพาะราย จากนั้นจะนำตัวยาไปผสมกับช็อกโกแลต และใช้เทคโนโลยีระบบการพิมพ์แบบ 3 มิติ มาทำการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของยาให้ออกมาเป็นรูปการ์ตูน เพื่อให้เด็กเล็กสามารถทานยาได้ง่ายแต่ปริมาณของตัวยายังคงเท่าเดิม ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีการทดลองกับยาประเภทมีลอกซิแคม ซึ่งเป็นยาแก้อักเสพจากโรคไขข้อ รวมไปถึงยากันชัก และยารักษาโรคประสาท ทั้งนี้ในอนาคตจะได้มีการพัฒนาเพื่อให้ใช้กับยาได้หลากหลายประเภทมากยิ่งขึ้นต่อไป