รพ.สต. เชียงราย ‘ชวนและช่วยคนในชุมชนเลิกบุหรี่’

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า


ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้าและแฟ้มภาพ


รพ.สต. เชียงราย 'ชวนและช่วยคนในชุมชนเลิกบุหรี่' thaihealth


สสส. จับมือ รพ.สต. เชียงราย เดินหน้า “ชวนและช่วยคนในชุมชนเลิกบุหรี่”


จากผลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรไทย พ.ศ.2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีทั้งสิ้น 55.9 ล้านคน เป็นผู้สูบบุหรี่สูงถึง 10.7 ล้านคน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้สนับสนุนภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการชวนและช่วยเลิกบุหรี่ โดยมุ่งหวังที่จะทำให้คนสูบบุหรี่เลิกสูบให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่จะช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนหันมาเลิกบุหรี่อย่างจริงจังผ่านกลไกสำคัญอย่าง อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. เพราะถือเป็นกลุ่มที่กระจายอยู่ทุกหมูบ้านทั่วประเทศ อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดประชาชนในระดับพื้นที่มากที่สุด โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. เป็นแกนกลางสำคัญในการสนับสนุนให้ อสม. ชวนและช่วยคนในชุมชนให้เลิกสูบบุหรี่ได้


ข้อมูลในระบบ 43 แฟ้มมาตรฐานด้านการแพทย์และสุขภาพ (Health Data Center : HDC) ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ประจำปีงบประมาณ 2562 พบว่า มีจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ได้รับการคัดกรอง 591,840 คน มีผู้สูบบุหรี่ 65,306 คน ในจำนวนนี้เข้ารับการบำบัด 52,707 คน และเลิกบุหรี่ได้ 1 เดือน 907 คน เลิกได้ 3 เดือน 705 คน เลิกได้ 6 เดือน 1,771 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 เมษายน 2562)


รพ.สต. เชียงราย 'ชวนและช่วยคนในชุมชนเลิกบุหรี่' thaihealth


นายฤทธิรงค์ หน่อแหวน นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ภาพรวมการเลิกบุหรี่ในพื้นที่เป็นการขับเคลื่อนร่วมกับภาครัฐและเอกชน รวมทั้ง รพ.สต. และ อสม. เพราะถือเป็นกลุ่มสำคัญในการช่วยให้คนเลิกบุหรี่ นอกจากนี้ยังพยายามผลักดันให้สถานศึกษาปลอดบุหรี่และสร้างจังหวัดเชียงรายปลอดบุหรี่ ซึ่งส่วนกลุ่มที่น่าเป็นห่วงในจังหวัด คือ เด็กและเยาวชน เพราะเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน ประกอบกับวัยรุ่นเป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง ขณะที่กลุ่มคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ เป็นสองกลุ่มที่เลิกบุหรี่ได้ง่าย


“ให้ รพ.สต.ทุกแห่งดำเนินการคลินิกบำบัดบุหรี่ โดยแต่ละอำเภอต้องมี รพ.สต. ต้นแบบในการทำคลินิกบำบัดบุหรี่อำเภอละ 1 แห่ง ซึ่งได้นำมาสานต่อในพื้นที่ 18 อำเภอ และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยกระดับคุณภาพ มาตรฐานและขยายไปในพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะ อสม.ที่จะเป็นบุคคลสำคัญในการชวนให้ประชาชนมาเลิกบุหรี่ที่ รพ.สต. ซึ่งที่ผ่านมาได้อบรม อสม.ทั้งจังหวัด กว่า 200 คน ทำให้ขณะนี้จังหวัดเชียงรายมีผู้เลิกบุหรี่ในปี 2560 ได้กว่า 2,000 คน ส่วนปี 2561 เลิกได้กว่า 2,000 คน”


รพ.สต. เชียงราย 'ชวนและช่วยคนในชุมชนเลิกบุหรี่' thaihealth


ด้าน นายณรงค์ชัย ใจวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ไร่ จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือคนที่สูบมานานไม่พร้อมจะเลิก จึงนำคนที่เลิกได้มาเป็นต้นแบบ พร้อมทั้งเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายเพื่อกระชับพื้นที่ให้คนสูบบุหรี่น้อยลง จนเห็นว่าการสูบหรี่ไม่ดี และเดินเข้ามาให้ รพ.สต. ช่วยเลิกให้ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าคนที่เดินเข้ามาเพื่อขอเลิกบุหรี่ด้วยตนเองมีอัตราการเลิกบุหรี่ได้ดีกว่า


รพ.สต. เชียงราย 'ชวนและช่วยคนในชุมชนเลิกบุหรี่' thaihealth


ขณะที่ นายพุทธิชัย ธารี แพทย์แผนไทย รพ.สต.บ้านไร่ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เล่าถึงกระบวนการช่วยเลิกบุหรี่ ว่า เมื่อเริ่มเข้าโครงการจะทำการประเมินภาวะการติดนิโคติน จากนั้นจะสอบถามอาการร่วม เช่น อาการไอ หอบเหนื่อย เพื่อวางแผนการดูแลบำบัด สำหรับสมุนไพรที่ใช้ คือ 1.ชาหญ้าดอกขาว มีสรรพคุณช่วยลดการสูบบุหรี่ได้ เพราะจะไปเปลี่ยนต่อมรับรสขมบริเวณลิ้น 2.ยาอมมะแว้ง มีรสเปรี้ยว ใช้อมเวลาอยากสูบบุหรี่ได้ นอกจากนี้ยังมีการอบสมุนไพรเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต และจะมีน้ำมันหอมระเหยด้วย เมื่อคนไข้ได้กลิ่นแล้วก็จะรู้สึกสบายขึ้น


“สิ่งที่ท้าทายการทำงานเลิกบุหรี่ในพื้นที่คือ จะต้องหาปัจจัยที่ทำให้คนที่เลิกแล้วกลับมาสูบใหม่ โดยจะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น กรมสุขภาพจิต นักจิตวิทยา เพื่อให้การเลิกบุหรี่อีกครั้งประสบความสำเร็จ แต่ก็ยอมรับว่าแม้บางคนจะเข้าสู่กระบวนการเลิกหลายครั้งแต่สุดท้ายก็จะกลับไปสูบใหม่ได้เช่นกัน”


รพ.สต. เชียงราย 'ชวนและช่วยคนในชุมชนเลิกบุหรี่' thaihealth


ส่วน นายสุดสาคร ไชยวงค์ ประธาน อสม.ตำบลบ้านไร่ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย กล่าวปิดท้ายว่า “ได้ร่วมกับ รพ.สต.บ้านไร่ อบรม อสม.เพื่อให้ชักชวนชาวบ้านที่ติดบุหรี่เข้าร่วมโครงการ เพื่อลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน ดังนั้นจึงชักชวนพี่น้อง อสม.ที่เปิดร้านขายของชำในหมู่บ้านให้ร่วมกิจกรรม ร้านค้าปลอดบุหรี่ ด้วยการให้ข้อมูลว่าหากยังขายจะทำให้ผู้ที่ติดบุหรี่มีสถานที่ให้ซื้อ รวมทั้งรณรงค์ไม่ขายบุหรี่ให้กับเด็กและเยาวชนด้วย นอกจากนี้ ยังเอกซเรย์พื้นที่ทั้งหมด เพื่อสำรวจอย่างละเอียดว่า ยังมีร้านค้าที่ขายบุหรี่ให้เด็กและเยาวชนหรือไม่ พร้อมทั้งพูดคุยกับพ่อแม่กลุ่มเสี่ยงที่ลูกอาจจะสูบหรี่ว่า หากในบ้านยังมีคนสูบก็จะเป็นตัวอย่างให้เด็กสูบตามนั่นเอง”

Shares:
QR Code :
QR Code