รพ.สต.ดอนทราย ราชบุรี ขับเคลื่อนหมู่บ้านปลอดบุหรี่
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า
จังหวัดราชบุรี ถือเป็นจังหวัดที่มีการขับเคลื่อนงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพอย่างจริงจัง และถูกประกาศเป็น “เมืองขับเคลื่อนสุขภาวะ” คือเป็นจังหวัดต้นแบบของเมืองสุขภาวะที่ทำงานแบบบูรณาการร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะการเลิกเหล้า – เลิกบุหรี่ โดยมีพื้นที่นำร่อง 8 ตำบล 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโพธาราม จอมบึง และวัดเพลง เน้นการสานพลังภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และชุมชนท้องถิ่น
โดยก่อนหน้านี้ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวว่า จังหวัดราชบุรีเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมในหลายด้าน จึงได้ลงมาขับเคลื่อนให้เป็นต้นแบบของจังหวัดที่บูรณาการงานส่งเสริมสุขภาพ ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ราชบุรีสามารถขับเคลื่อนงานโดยสร้างความร่วมมือได้ทุกระดับ ตั้งแต่ อสม. รพ.สต. และกับภาคเอกชน คือ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี มีความคืบหน้าในการดำเนินโครงการฯ ที่ชัดเจน และมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ คือ นวดกดจุดฝ่าเท้า
ตำบลดอนทราย เป็นตัวอย่างของตำบลที่ประสบความสำเร็จในการชวนคนในชุมชนเลิกบุหรี่ ปัจจัยความสำเร็จของตำบลดอนทราย คือ ความเข้มแข็งของเจ้าหน้าที่และ อสม. ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการใช้ศาสตร์แพทย์แผนจีนในการนวดเท้ากดจุดช่วยคนที่อยากเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งนวัตกรรมการนวดเท้ากดจุดเลิกบุหรี่ในจังหวัดราชบุรี ถือเป็นต้นแบบในระดับภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จแบบวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะผู้ที่มานวดกดจุดไปแล้วจะรู้สึกว่าบุหรี่ที่สูบมีรสชาติไม่อร่อยตามภาษาของคนที่สูบประจำ หรือบางคนจะบอกว่ารสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไปจึงทำให้เขาเลิกสูบบุหรี่
นางสมศรี โพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.ดอนทราย จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า รพ.สต.ดอนทราย ถือเป็นแห่งแรกในจังหวัดราชบุรีที่มีเปิดคลินิกเลิกบุหรี่ในชุมชนระดับตำบล เพื่อทำงานช่วยเลิกบุหรี่ในรูปแบบผสมผสานทั้งเชิงรุกและเชิงรับ พร้อมทั้งขยายการให้บริการให้กว้างขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ รพ.สต. เท่านั้น แต่ อสม.ยังออกไปตามหมู่บ้าน ชุมชน วัด โรงเรียน และหน่วยงานราชการภายในตำบล เพื่อชักชวนคนให้มาเลิกบุหรี่ นอกจากนี้ ยังมีหมู่บ้านต้นแบบปลอดบุหรี่ 2 หมู่บ้าน ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะขยายผลให้ครอบคลุมทั้งตำบล ซึ่งการจะทำให้บรรลุเป้าหมายได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจาก อสม.ในพื้นที่
“อสม.เป็นคนในพื้นที่อยู่แล้ว เราให้ประสานกับเครือข่ายในชุมชน เพื่อลดช่องว่างในการทำงาน โดยมีเครือข่ายที่สำคัญ ได้แก่ ผู้นำหมู่บ้าน อปท. ครู วัด โรงเรียน และสถานประกอบการในพื้นที่ โดย อสม.จะเข้าไปสำรวจก่อนว่ามีผู้ติดบุหรี่มากน้อยเพียงใด จากนั้นก็จะถามความสมัครใจที่จะเข้าร่วมโครงการ เมื่อได้จำนวนที่แน่นอนก็จะดำเนินการตามกระบวนการช่วยเบิกต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ผู้นำชุมชน หมู่ 1 จะไปรณรงค์ให้ลูกบ้านรู้ว่ามีโครงการนี้เข้ามาเพื่อทำเป็นหมู่บ้านต้นแบบ และหาผู้เข้าร่วมอุดมการณ์ โดยมีบ้าน อสม. เป็นจุดให้บริการ แต่บางครั้งก็ไปให้บริการถึงบ้านเพื่อความสะดวกตรงไหนก็ได้ขอให้บอกมา” ผู้อำนวยการ รพ.สต.ดอนทราย กล่าว
ผู้อำนวยการ รพ.สต.ดอนทราย ย้ำว่า การจะขับเคลื่อนประเด็นทางสุขภาพและสังคม อย่างเช่นเรื่องการช่วยเลิกบุหรี่ในชุมชนให้สำเร็จ จะต้องใช้ใจของผู้ปฏิบัติงานเป็นหลัก รวมถึงต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกภาคส่วน ซึ่งในพื้นที่จะมีการประชุม อสม. ทุกต้นเดือน เพื่อติดตามความคืบหน้าสะท้อนปัญหาเพื่อนำมาหารือแนวทางแก้ไข
“จากประสบการณ์ที่เราทำงานเกี่ยวกับการช่วยให้คนเลิกบุหรี่ มา 3-4 ปี เรารู้เลยว่าถ้าเกิดว่า ใจเป็นอันดับแรกทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ยิ่งผู้ให้บริการจะต้องใช้ความอดทนความพยายามอย่างที่สุดในการที่จะทำให้เขาเลิกบุหรี่ให้ได้ เพราะว่าเราอาจจะใช้เทคนิคไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเทคนิคตรงนี้ แต่ว่าถ้าเราถือคติว่าความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น รับรองสำเร็จแน่นอน” นางสมศรี กล่าวทิ้งท้าย
ส่วนวิธีการช่วยเลิกบุหรี่ ของ รพ.สต.ดอนทราย นอกจากเรื่องนวดกดจุดสะท้อนเท้า ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของที่นี่แล้ว ยังมีตัวช่วยอื่น ๆ เช่น สเปรย์เลิกบุหรี่ ที่มีส่วนผสมของหญ้าดอกขาว อบเชย กานพลู และชะเอม ซึ่งสมุนไพรทุกชนิดที่นำมาผลิตนั้นล้วนแล้วแต่มีสรรพคุณในการลดความอยากบุหรี่ทั้งสิ้น รวมทั้งยังมีชาชงหญ้าดอกขาว ที่จะให้กับคนไข้ที่มาใช้บริการ ณ คลินิกเลิกบุหรี่
ด้าน นางสุภา กระนีจิตต์ อสม.ดอนทราย เล่าถึงขั้นตอนการทำบ้านปลอดบุหรี่ว่า อันดับแรกจะต้องค้นหากลุ่มเป้าหมายที่สูบบุหรี่ เพื่อนำมาอบรมให้ความรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่รวมทั้งอันตรายของผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง จากนั้นก็จะให้เข้าสู่กระบวนการเลิก เริ่มต้นด้วยการนวดกดจุดเลิกบุหรี่ที่เท้าเป็นเวลา 10 วัน รวมทั้งให้สมุนไพรตัวช่วยต่าง ๆ และเมื่อครบตามกำหนดก็จะทำการวัดค่าปอด ถ้าเป่าแล้วเป็นสีเขียวถือว่าเลิกได้จริง
ขณะที่ รท.นพนนท์ ศรีอิ่ม นายทหารนอกราชการ หนึ่งในผู้ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ เล่าว่า ตนเองสูบบุหรี่มากว่า 40 ปี ซึ่งเหตุผลที่ต้องการเลิกบุหรี่คือสุขภาพเริ่มแย่ลง มีอาการเจ็บหน้าอก มีกลิ่นปาก และต้องการลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยจากการที่ต้องซื้อบุหรี่วันละ 200 บาท จึงตัดสินใจเข้ามารับบริการที่ รพ.สต.ดอนทราย โดยใช้ระยะเวลาในการเลิก 4 เดือนก็สามารถเลิกได้ หลังจากนั้นก็พบว่า สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น อาการเจ็บหน้าอกหายไป หน้าสดใส ไม่หมองคล้ำ ที่สำคัญมีเงินเหลือไปให้กับครอบครัว พร้อมเชิญชวนให้ผู้ที่ติดบุหรี่มาเข้าสู่กระบวนการเลิก เพราะบุหรี่เป็นที่มาของปัญหายาเสพติดทั้งหมด เป็นขั้นแรกของการเข้าสู่วังวนการติดยาเสพติด
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานจากข้อมูลในระบบ 43 แฟ้มมาตรฐานด้านการแพทย์และสุขภาพ (Health Data Center : HDC) ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ประจำปีงบประมาณ 2562 พบว่า มีจำนวนประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป ได้รับการคัดกรอง 327,341 คน มีผู้สูบบุหรี่ 29,255 คน มีผู้สูบบุหรี่แต่เลิกแล้ว 14,016 คน ในจำนวนนี้เข้ารับการบำบัด 20,676 คน และเลิกบุหรี่ได้ 1 เดือน 207 คน เลิกได้ 3 เดือน 92 คน เลิกได้ 6 เดือน 140 คน ขณะที่ในปีงบประมาณ 2561 จำนวนประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป มีผู้สูบบุหรี่ 13,631 คน ในจำนวนนี้เข้ารับการบำบัด 2,648 คน และเลิกบุหรี่ได้ 1 เดือน 27 คน เลิกได้ 3 เดือน 12 คน เลิกได้ 6 เดือน 36 คน (ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2562)