รพ.พื้นที่ภัยแล้งทำแผนสำรองน้ำใช้อย่างน้อย 3 วัน

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์


รพ.พื้นที่ภัยแล้งทำแผนสำรองน้ำใช้อย่างน้อย 3 วัน thaihealth


แฟ้มภาพ


สธ.สั่งโรงพยาบาลในพื้นที่แล้ง สั่งเพิ่มการสำรองน้ำสะอาดยามวิกฤติต้องใช้ได้อย่างน้อย 3 วัน พร้อมเน้นย้ำเรื่องความสะอาด


นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหาร ได้ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนส์ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และผอ.รพ.ในพื้นที่ประสบภัยแล้งฝนทิ้งช่วง ตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประกอบด้วย จังหวัดเพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา ชัยภูมิ และสุพรรณบุรี รวมถึงจังหวัดสุรินทร์ ด้วย โดย นพ.ประพนธ์ ได้ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ว่า ได้รับการรายงานว่าตามประกาศของ ปภ.ส่วนใหญ่เกิดความเสียหายกับผลผลิตของเกษตรกร ส่วนสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับความเสียหาย เพราะส่วนใหญ่มีการประเมินสถานการณ์ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดหาน้ำสำรองใช้ แต่มีที่จังหวัดชัยภูมิรายงานว่าหากภายในวันที่ 20 ส.ค.นี้ ยังไม่มีฝนตกลงมาอาจจะกระทบกับน้ำที่จะนำมาผลิตประปาส่ง รพ.ได้ เมื่อทราบเช่นนี้ก็ทำให้เราสามารถวางแผนการบริหารจัดการได้ คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา


นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีการขาดแคลนน้ำที่รพ.สุรินรินทร์นั้น ทางนพ.สสจ.สุรินทร์ และผอ.รพ.สุรินทร์รายงานว่ามีการประเมินสถานการณ์แล้ว แต่ผิดพลาดและเกิดวิกฤติแบบเฉียบพลันทำให้ประสบปัญหา แต่ขณะนี้ได้แก้ปัญหาเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของรพ.สุรินทร์ ที่พบว่าน้ำสะอาดสำรองใช้ของรพ.สามารถใช้ได้เพียงวันเดียว ถือว่าน้อยเกินไป จึงได้ให้ทุกรพ.ทำแผนการสำรองน้ำใช้กันใหม่ อย่างน้อยต้องให้สามารถใช้ได้ประมาณ 3 วัน รวมถึงสำรวจและขุดเจาะแหล่งน้ำบาดาลด้วย


ด้าน นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการสำรวจน้ำทั่วไปในยามปกติพบว่ามีคุณภาพร้อยละ 50 แต่เนื่องจากปริมาณน้ำมากจึงไม่มีปัญหาเรื่องของเชื้อโรค แต่ถ้ามีปัญหาภัยแล้ง น้ำน้อยมีโอกาสที่เชื้อโรคจะแพร่กระจายได้เร็ว ดังนั้น จึงขอให้สถานพยาบาลเข้มงวดเรื่องความสะอาดของภาชนะที่เก็บสำรองน้ำ และการเปลี่ยนถ่ายน้ำต่างๆ ต้องสะอาด มีการเติมคลอรีนเพิ่มขึ้น ปริมาณ 0.5 พีพีเอ็มต่อน้ำ 1 พันลิตร โดยเฉพาะน้ำบาดาล ที่สำคัญคือต้องให้ความรู้กับประชาชนในด้านสุขอนามัย คือกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ


อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์โรคที่มากับภัยแล้ง เช่น อาหารเป็นพิษ ท้องร่วง ท้องเสีย ไม่พบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากปกติ ทั้งนี้ในวันที่ 11 ส.ค.นี้ ทางกรมจะส่งเจ้าหน้าที่ศูนย์อนามัยลงไปที่รพ.สุรินทร์ด้วย เพื่อหารือและให้คำแนะนำเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่มีคุณภาพเบื้องต้น การใช้น้ำสะอาดสำหรับผู้ควรสำรองไว้เฉลี่ย 800-1,000 ลิตรต่อผู้ป่วย 1 เตียง

Shares:
QR Code :
QR Code