รณรงค์ 3 โรค ไม่ใช้’ยาปฏิชีวนะ’
คนไทยเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 100 คน หรือปีละเกือบ 40,000 คน จากเชื้อดื้อยา สาเหตุมาจากความไม่เข้าใจในการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อแบคทีเรีย
แฟ้มภาพ
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ได้ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดงาน 'สัปดาห์รู้รักษ์ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย' ประจำปี พ.ศ.2558 ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักในการใช้ยาปฏิชีวนะ และกระจายข้อมูลเรื่องการใช้ยาที่ถูกต้อง
เนื่องจากปัจจุบัน พฤติกรรมการซื้อยามากินของคนไทยเป็นเรื่องที่จะต้องปรับเปลี่ยน และสร้างความเข้าใจในการใช้ยาอย่างถูกต้องซึ่งการซื้อยามากินเอง ทั้งๆ ที่การเจ็บป่วยนั้นไม่ได้บ่งชี้ว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พฤติกรรมแบบนี้จึงส่งผลให้เกิดการดื้อยา ร่างกายของเราประกอบด้วยแบคทีเรียนับพันชนิด ยาต้านแบคทีเรียที่เรากินเข้าไปสามารถฆ่าแบคทีเรียได้บางตัว ตัวที่รอดมาได้จะพัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่งและเพิ่มจำนวนมากขึ้นพร้อมกับเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ในที่สุดแบคทีเรียเหล่านี้ที่ดื้อยาจะกลายเป็น super bug ซึ่งเป็นเชื้อดื้อยาที่หายาต้านเชื้อแบคทีเรียรักษาได้ยาก หรือไม่มียารักษา มันจะแฝงตัวอยู่ในร่างกายเรา เมื่อเราล้มป่วย ก็พบว่าไม่มียารักษาให้หายได้
3 โรคที่สามารถหายได้เองด้วยภูมิต้านทานของร่างกายโดยไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะคือ 1.หวัดเจ็บคอ 2.ท้องเสีย 3.แผลเลือดออกและยาปฏิชีวนะที่เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียนั้น ประกอบด้วย เพนนิซิลินอะม็อกซิลลิน เตตร้าซัยคลิน ซึ่งไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบแต่อย่างใด
ด้าน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในเวทีเสวนาว่า เรื่องเชื้อดื้อยาต้องมีผู้เข้ามาร่วมกันแก้ไข และร่วมมือกันหลายหน่วยงาน เพราะผลกระทบเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นหลัก ซึ่งทาง สสส. เข้ามาสนับสนุนศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เพราะปัญหาดังกล่าวนั้นกระทบกับประชาชนทั่วประเทศ สถิติการเสียชีวิตจากการดื้อยาปฏิชีวนะในประเทศไทยนับว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ เนื่องจากผลวิจัยได้ประมาณการเสียชีวิตของคนไทยเฉลี่ยวันละ 100 คน และการใช้ยาในประเทศของเราก็อยู่อันดับต้นๆ ของโลกด้วย
ทพ.ศิริเกียรติ กล่าวอีกว่า สสส. ได้เข้ามาสนับสนุนศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เพื่อมองดูช่องว่างที่เกิดขึ้นและเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายกระจายข้อมูลให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวางเพราะปัญหาดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศ
"สำหรับสื่อที่อธิบายให้เกิดความตระหนักในการใช้ยาปฏิชีวนะนั้น ทาง สสส. จะนำมาปรับให้ง่ายขึ้น และเผยแพร่ไปยังเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ว่า เราสามารถรักษาและดูแลตัวเองขั้นพื้นฐานง่ายๆ ด้วยหลัก 3 อ. คือ อารมณ์อาหาร และออกกำลังกาย และไม่ควรกินยาโดยไม่จำเป็น"ทพ.ศิริเกียรติ กล่าว
ด้าน ผศ. ภกญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า เชื้อต่างๆ ที่อยู่ในร่างกายเรามีทั้งดีและไม่ดี เชื้อที่เราคุ้นเคย เช่น ไวรัสเชื้อรา และแบคทีเรีย แต่เมื่อเราเป็นไข้หวัดเรามักเข้าใจว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทั้งๆ ที่เชื้อหวัดของคนไทยส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัส ซึ่งเราจะกินยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านเชื้อแบคทีเรียไม่ได้ เพราะจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยา และไม่มียาหรือหายารักษายาก
"องค์การอนามัยโลกประกาศให้วันที่ 24-26 พ.ย. เป็นสัปดาห์รู้รักษ์ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรียประจำปี พ.ศ.2558 เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นค่อนข้างใหญ่ เป็นหน้าที่ของคนไทยและหน่วยงานจำนวนมากที่ต้องช่วยกันกระตุ้นรณรงค์ เพื่อให้ประชาชนทุกคนทราบสิทธิ ดังนี้ 1.รู้ว่ากินยาอะไร ชื่อยาอะไรและยานั้นเป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรียหรือไม่2.รับรู้ว่าเชื้อดื้อยารุนแรงถึงระดับไหนบ้าง 3.สอบถามแพทย์/บุคลากรสุขภาพที่จ่ายยาให้ว่ามีคำแนะนำอะไรเพิ่มเติมหรือไม่และหน้าที่ที่ควรทำคือ 1. ดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง และสร้างเสริมสุขภาพอย่างถูกต้อง 2. ไม่แพร่เชื้อเหล่านั้นไปให้ผู้อื่น3.ร่วมกันแก้ไขและเฝ้าระวัง" ผศ. ภกญ.ดร.นิยดา แนะนำเพิ่มเติม
ขณะที่ รศ.พญ.วารุณี พรรณวานิช วานเดอพิทท์ผู้แทนสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวย้ำเรื่องการใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรียอย่างถูกวิธีว่า 3 โรคพื้นฐาน คือโรคหวัดโรคท้องเสีย และแผลสด ถ้าเราควบคุมเรื่องการกินยาไม่ได้จะส่งผลเสียมากขึ้น เพราะหลายคนใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นโดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ เราต้องการให้ตระหนักเรื่องการใช้ยาเนื่องจากการใช้ยาที่พร่ำเพื่อจะส่งผลกระทบต่อจุลินทรีย์ที่ดีในร่างกาย ทำให้เสียสมดุล ส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วนโรคภูมิแพ้ รวมไปถึงโรคกลุ่มภูมิแพ้ตัวเองด้วย จึงจำเป็นต้องสร้างความตระหนักให้คนไทยอย่างมาก ซึ่งวิธีการดูแลรักษาตัวเองด้วยการออกกำลังกาย ล้างมือให้ถูกวิธี และล้างจมูกเมื่อมีอาการหวัด สุขภาพเราก็จะดีขึ้นได้โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะแล้ว
การดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรงตามหลัก 3 อ.ทั้งอารมณ์ อาหาร ออกกำลังกาย จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดี ไม่ป่วยง่าย และไม่ต้องกินยาโดยไม่จำเป็นค่ะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ