ย้ำโรงพยาบาลสนาม ตัวช่วยสำคัญพิชิตโควิด-19

ที่มา : ไทยรัฐ


ย้ำโรงพยาบาลสนาม ตัวช่วยสำคัญพิชิตโควิด-19 thaihealth


แฟ้มภาพ


ในสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยสะสมในแต่ละวันสูงขึ้น หากให้ผู้ป่วยเหล่านี้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเชื่อว่าคงต้องเห็นภาพผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนไทยอย่างแน่นอน


แต่ท่ามกลางความหวาดวิตก ก็ยังต้องนับว่าโชคดีที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงานซึ่งร้อยละ 80 เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยและนั่นจึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เป็นแรงงานต่างด้าวที่นับวันจะพบจำนวนมากขึ้นรวมทั้งจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่ต่างๆ


โรงพยาบาลสนามมีความสำคัญและจำเป็นต่อการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่นี้อย่างไร ?


นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วยที่เกินกำลังรองรับของโรงพยาบาล เช่น จ.สมุทรสาคร มีผู้ป่วยเกินกว่า 1,000 คน ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะหาเตียงในโรงพยาบาลมารองรับ 1,000 กว่าเตียง เราก็จะจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเป็นการเร่งด่วน ลักษณะของผู้ป่วยต้องเป็นผู้ป่วยที่มีอาการน้อย  หรือไม่มีอาการ


สำหรับหลักการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายว่า หลักการคือโรงพยาบาลสนามไม่ควรอยู่ใกล้ชุมชนมากนักควรห่าง 200-500 เมตรเป็นอย่างน้อยเพื่อให้ชุมชนวางใจ จะเป็นสนามกีฬา อาคารเรียน หอพัก หอประชุม วัด หอปฏิบัติธรรม ค่ายทหาร ก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะสำคัญคือ เป็นสถานที่ที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี เช่น โรงพยาบาลสนามที่สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร หรือลานปฏิบัติธรรม วัดโกรกกราก เมื่อได้พื้นที่แล้วก็จะพิจารณาเรื่องระบบกำจัดน้ำเสียระบบกำจัดขยะติดเชื้อ และ ระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี


"ถ้าที่ไหนก็ตามที่มีจำนวนคนไข้โควิดที่ไปครองเตียงโควิด ที่เราเตรียมไว้เกิน 50% เช่นสมุทรสาคร มี 100 เตียง มีคนไข้โควิดครองแล้ว 50 เตียง คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดต้องเตรียมมองหาสถานที่ตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยฝ่ายปกครองผู้นำท้องถิ่น เช่น นายก อบต.นายกเทศมนตรี ต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่เมื่อมีคนไข้ครองเตียง 70% ก็ต้องลงมือจัดตั้งโรงพยาบาลสนามให้รับผู้ป่วยได้ทันทีภายใน 24 ชั่วโมง โดยจะรองรับผู้ป่วยที่เป็นพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของเขาเองยกเว้นผู้ป่วยล้นจริงๆมาจากจังหวัดข้างเคียง ก็ต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าถ้าเราไม่ป้องกันคนเหล่านี้ หากปล่อยให้อยู่ภายนอกเราก็มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ ซึ่งเรื่องนี้ผู้นำต้องทำความเข้าใจกับชุมชน ส่วนหมอยินดีที่จะไปให้ความรู้และนำบุคลากร อุปกรณ์ลงพื้นที่ไปดูแลคนป่วย" นี่คือสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเตรียมการ นพ.สมศักดิ์ ย้ำให้เห็นภาพความจำเป็นของการต้องมีโรงพยาบาลสนาม


อธิบดีกรมการแพทย์ ยังกล่าวฝากทิ้งท้ายด้วย 3 ส สำคัญ เพื่อเป็นอาวุธในป้องกัน และต่อสู้กับโควิด-19 ด้วยว่า" สิ่งที่ผมอยากฝากทุกคนคือ 3 ส โดย ส แรกคือ สติ เช่น การไม่เห็นด้วยกับการตั้งโรงพยาบาลสนาม หรือเห็นตัวเลขผู้ป่วยวันละ 200-300 คนแล้วตกใจได้ไม่แปลก แต่ ต้องตั้งสติให้เร็ว และต้องรู้ด้วยว่าโรคโควิด ไม่ได้ติดกันง่ายๆ เราป้องกันได้ด้วยการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ หรือมีโรงพยาบาลสนามในชุมชน เราก็ไม่ได้ติดเชื้อ เพราะตั้งห่างจากชุมชน 200-500 เมตร และการติดเชื้อก็ผ่านละอองเสมหะ น้ำลายไม่ได้ติดต่อทางอากาศ เพราะฉะนั้นสติสำคัญที่สุด


ส ที่สอง คือ การสื่อสาร เพราะทุกวันนี้ข่าวปลอม หรือเฟกนิวส์ มีเยอะมา ทำอย่างไร ที่เราจะเสพสื่อที่อ้างอิงได้ เสพสื่ออย่างมีสติ อย่าเสพข่าวทั้งวันและอย่าไปวิตกกังวลกับมันมากเกินไป และ ส ที่สาม คือ สามัคคี ขอให้ทุกคนเป็นทีมประเทศไทย ผมคิดว่าถ้าทุกคนตั้งหลัก ใช้สติสื่อสารกันและสามัคคีกันถกเถียงกันได้ไม่เห็นด้วยได้ เช่น วัคซีนตัวนี้ ไม่ดีแต่เมื่อมีข้อตกลงแล้ว ให้เรายอมรับฉันทามติแล้วเดินหน้าเป็นทีมประเทศไทยไปด้วยกันผมคิดว่าเราจะชนะโควิดเหมือนรอบที่แล้ว"


วันนี้คงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราจะต้องรวมพลังกันอีกครั้ง โดยเฉพาะการตั้งสติและยอมรับเมื่อมีการตัดสินใจของผู้เกี่ยวข้องทางด้านสาธารณสุขของประเทศในการบริหารจัดการเพื่อหยุดยั้งโรคร้ายนี้และเรื่องโรงพยาบาลสนามอาจเป็นหนึ่งในตัวช่วยจำเป็นเพื่อตอบโจทย์ที่จะสู้กับมหันตภัยไวรัสร้าย "โควิด-19"

Shares:
QR Code :
QR Code