ย่านจีนถิ่นตลาดน้อย วัฒนธรรมนำท่องเที่ยว
เรื่องโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ TEAM CONTENT www.thaihealth.com
แฟ้มภาพ
มีหลากหลายสถานที่ในกรุงเทพมหานครที่เราสามารถสะพายเป้ออกเดินทางเรียนรู้ หากแต่พื้นที่ที่รองรับการเดินท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทย-จีน หลายคนคงนึกถึงย่านเยาวราช ที่มีทั้งอาหาร และวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า นอกจากย่านเยาวราชแล้ว กรุงเทพมหานครยังมีพื้นที่ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย-จีน อยู่อีกหนึ่งแห่งที่น่าสนใจไม่แพ้เยาวราชเช่นกัน
‘ตลาดน้อย’ พื้นที่สายวัฒนธรรมไทย-จีนเก่าแก่ในเขตกรุงเทพมหานครที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในอดีตพื้นที่ดังกล่าว เคยเป็นย่านการค้าเก่าแก่ ที่เต็มไปด้วยบรรดาเรือสำเภาจอดเทียบท่าแน่นขนัดจนสามารถเดินบนเรือได้ นับได้ว่า ตลาดน้อย เป็นเมืองท่าแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งโครงการย่านจีนถิ่นบางกอก ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ โดยเป็นการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางกายและการส่งเสริมให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ที่ดีของสังคมเป็นสำคัญ
แฟ้มภาพ
การปรับปรุงพื้นที่ดั้งเดิมที่เต็มไปด้วยคุณค่าด้านการค้า ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ให้เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมทางกายทั้งของคนในชุมชนเองและนักท่องเที่ยว โดยเป็นเส้นทางเดินศึกษาวัฒนธรรมชุมชน ซึ่ง ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก5) สสส. กล่าวถึง เป้าหมายในการสนับสนุนปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าว ว่า สสส. มีเป้าหมายในการส่งเสริมคนไทยให้มีสุขภาพดี ด้วยการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญ และการให้ความรู้ รวมไปถึงการจัดพื้นที่ สวนสาธารณะ เส้นทางเดินต่างๆ โดยทำให้กิจกรรมทางกายอยู่ในวิถีชีวิตปกติ
“การพัฒนาเส้นทางเดินในที่ชุมชนจึงเป็นหนึ่งในงานที่ต้องส่งเสริม ทั้งนี้เล็งเห็นว่าตลาดน้อยเป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรมชุมชน มีความพร้อมที่จะพัฒนาเป็นย่านที่มีเส้นทางเดินได้ในชีวิตประจำวัน สสส.จึงทำงานร่วมกับทีมโครงการร่วมกันวิเคราะห์ชุมชน พัฒนาเป็นพื้นที่สุขภาวะ น่าอยู่ น่าเดิน มีความเป็นชุมชน สสส.จึงพยายามโปรโมทโมเดลแบบนี้ให้มีในที่ต่างๆ ชวนให้หันกลับมามองที่ชุมชนตนเอง” ดร.นพ.ไพโรจน์ อธิบาย
แฟ้มภาพ
ท่ามกลางชุมชนเมืองที่ล้อมรอบ พื้นที่ตลาดน้อย เป็นพื้นที่ที่ยังมีการอยู่อาศัยของคนในชุมชน โดยยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม และบางส่วนก็มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่แบบผสมผสานให้มีความน่าสนใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสชุมชนวัฒนธรรมแห่งนี้ โดยอาจารย์ศรินพร พุ่มมณี อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์ ผู้รับผิดชอบโครงการย่านจีนถิ่นบางกอก เล่าถึงการพัฒนาในพื้นที่ว่า เล็งเห็นถึงศักยภาพของคนในชุมชน ที่มีตึก หรือ พื้นที่ดั้งเดิม ทำอย่างไรที่จะสร้างมูลค่าจากสิ่งเหล่านั้นให้น่าสนใจและยังคงอบอวลไปด้วยบรรยากาศดั้งเดิม รวมถึงสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ จึงร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ให้ดำรงอยู่ได้ท่ามกลางความเจริญทางวัตถุ และสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป
9 จุดเช็คอินสุดชิคย่านตลาดน้อย
แฟ้มภาพ
สวนชุมชนโปลิศสภา : พื้นที่สีเขียวประมาณ 2 ไร่ของชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วย ลานเอนกประสงค์ และสวนสาธารณะที่เป็นพื้นที่ให้คนในชุมชนมาพักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกาย เดิมพื้นที่ตรงนี้ เป็นโรงไม้ ภายหลังเกิดไฟไหม้ เมื่อปลายปี 2555 จึงเกิดการระดมพลังปรับปรุงพื้นที่ โดยความร่วมมือของสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์และชุมชน นับเป็นจุดเปลี่ยนของชุมชน ที่ได้พื้นที่เสี่ยงเปลี่ยนเป็นพื้นที่สุขภาวะ ทั้งยังเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองอีกด้วย
แฟ้มภาพ
เส้นทางริมคลองผดุงกรุงเกษม : พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความดูแลของเขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งมีการพัฒนา ปรับพื้นที่สาธารณะ สร้างศักยภาพของการเดินเลียบคลองผดุงกรุงเกษมในมิติทางกายภาพ สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของทางเดินเลียบคลองเส้นนี้
แฟ้มภาพ
พื้นที่ตลาดผลไม้ สะพานนี้จงสวัสดิ์ : ตลาดที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นของย่านนี้ ในอดีตที่ตรงนี้เต็มไปด้วยร้านค้าหลายร้าน เป็นตลาดที่ขายผลไม้เกรดเอ หากบ้านใดมีงานก็จะต้องมาซื้อผลไม้จากตลาดตรงนี้เท่านั้น นับว่า เป็นศูนย์กลางของตลาดผลไม้นานาชนิด โดย เฉพาะ ส้มเช้ง เป็นผลไม้ขึ้นชื่อของย่านนี้เลยก็ว่าได้
แฟ้มภาพ
โบสถ์พระแม่ลูกประคำ (กาลหว่าร์) : ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนกุหลาบวิทยา ซึ่งกลายเป็นความร่วมมือของสถานศึกษาในการเรียนรู้ด้านมรดก วัฒนธรรมและกิจกรรมในพื้นที่ โบสถ์แห่งนี้มาอายุกว่า 120 ปี ในอดีตเป็นโบสถ์ไม้ หลังจากนั้นเกิดไฟไหม้ และได้บูรณะขึ้นใหม่ โดยเป็นสถาปัตยกรรมประเภทกอทิก ที่รองรับการประกอบพิธีทางศาสนาและเทศกาลสำคัญของชาวจีนที่นับถือศาสนาคริสต์
แฟ้มภาพ
ธนาคารไทยพาณิชย์ : สถาปัตยกรรมของเอกชนแบบตะวันตกที่เรียกว่า โบซาร์ ผสมกับ นีโอคลาสสิก ที่มีการอนุรักษ์ไว้อย่างเหมาะสม ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ได้ให้ความร่วมมือกับชุมชนในการสนับสนุนการจัดกิจกรรมของชุมชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการตั้งธนาคารในพื้นที่ครั้งอดีตก็เป็นตัวยืนยันว่า พื้นที่ตรงนี้เคยรุ่งเรืองและมีสภาพคล่องทางเศรษฐกิจที่ดี
แฟ้มภาพ
ศาลเจ้าโรงเกือก: ศาลเจ้าเก่าแก่ดั้งเดิมของชาวจีนฮากกา พัฒนาให้เป็นพื้นที่สุขภาวะทั้งทางด้านสังคม วัฒนธรรม กายภาพ และสิ่งแวดล้อม เดิมพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่สาธิตน้ำประปาแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากติดกับริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้สามารถสูบน้ำจากแม่น้ำได้สะดวกกว่าพื้นที่อื่น
แฟ้มภาพ
บ้านโชวเฮงไถ่ : สถาปัตยกรรมแบบจีนสยามของชาติพันธ์จีนฮกเกี้ยน ที่มีอายุกว่า 200 ปี ที่นี่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว ด้วยสไตล์ของบ้านจีนแบบเก่าที่ยังคงอนุรักษ์ไว้อย่างดี ให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมสัมผัสบรรยากาศ พร้อมทั้งเรียนรู้ศิลปะจีนผ่านรูปภาพและตัวอักษรภายในบริเวณบ้าน
แฟ้มภาพ
ศาลเจ้าโจวซือกง : ศาลเจ้าเก่าแก่ดั้งเดิมของชาวจีนฮกเกี้ยน ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นศาลเจ้าที่มีความสำคัญของคนในย่านนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจาก เป็นศาลเจ้าที่ใหญ่ที่สุดในย่านตลาดน้อย ทั้งยังเป็นสถานที่จัดงานเทศกาลกินเจโบราณที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานครอีกด้วย เชื่อกันว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่บนบานในเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้ผู้คนเลื่อมใส ศรัทธาและแวะเวียนมาที่ศาลเป็นประจำ
บ้านไท้ง้วนเองกี่ : ตั้งอยู่บริเวณหลังศาลเจ้าโจวซือกง เดิมตัวบ้านเป็นไม้ หลังจากนั้นเกิดฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้บ้านเกิดทรุดโทรมและพังถล่มลงมาในที่สุด จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูอาคารแห่งนี้ที่มีคุณค่าในย่านตลาดน้อย โดยปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่พบปะและแลกเปลี่ยนความรู้ของการอนุรักษ์บ้านและย่านตลาดน้อย และภายในเป็นการจัดแสดงโชว์ภาพเก่าของย่านตลาดน้อยอีกด้วย
แฟ้มภาพ
นอกจากสถานที่สำคัญต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้นแล้วนั้น ย่านตลาดน้อย ยังมีพื้นที่ สตรีทอาร์ท เอาใจวัยรุ่นและนักท่องเที่ยวที่ชอบศิลปะร่วมสมัยหลายจุด ให้ไปเก็บภาพบันทึกความทรงจำ รวมไปถึงพื้นที่ตลอดเส้นทางเดินไปยังจุดสำคัญในย่าน ยังชวนให้หยิบกล้องขึ้นมาจับภาพได้ตลอดทุกระยะ แต่สิ่งที่นอกเหนือจากการเดินท่องเที่ยวนั้น ประเพณี วัฒนธรรม และศิลปะไทย-จีน ตลอดการเดินทางยังคงโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ที่คอยย้ำเตือนว่า พื้นที่ตรงนี้ ยังคงรอคอยทุกท่านไปสัมผัสกลิ่นไอวัฒนธรรม เพื่อที่จะเป็นต้นแบบให้กับอีกหลายๆชุมชน ได้เล็งเห็นถึงการอนุรักษ์และเห็นคุณค่าในชุมชนของตนเอง เช่นเดียวกับ ย่านจีนถิ่นบางกอก ตลาดน้อย แห่งนี้.