ยุทธศาสตร์สุขภาวะ เดินหน้าทุกเพศเท่าเทียม

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ยุทธศาสตร์สุขภาวะ เดินหน้าทุกเพศเท่าเทียม thaihealth


แฟ้มภาพ


กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ยังมีปัญหาขาดการเข้าถึงสิทธิ โดยเฉพาะความเท่าเทียมด้านสุขภาพ จึงมีการจัดทำยุทธศาสตร์สุขภาวะ LGBTIQN+ เพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ความหลากหลายทางเพศ


ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมเพศวิถีศึกษา จัดงานเสวนา "ยุทธศาสตร์สุขภาวะ LGBTIQN+ ฉบับแรกของประเทศไทย" ณ รร.แมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ ซึ่ง ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. กล่าวว่า สสส. นั้นมีภารกิจหลักด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น ประเด็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-ยาสูบ รวมถึงการ ออกกำลังกาย


แต่ สสส. จะมีกลุ่มงานหนึ่งที่ทำหน้าที่ส่งเสริม สุขภาพของประชากรกลุ่มเฉพาะ ซึ่งคำว่า "ประชากรกลุ่มเฉพาะ" หน่วยงานอื่นๆ อาจเรียกกลุ่มเปราะบางบ้าง กลุ่มชายขอบบ้าง กลุ่มด้อยโอกาสบ้าง โดยการจัดบริการหรือการให้ความรู้ด้านสุขภาพสำหรับคนทั่วไปอาจเข้า ไม่ถึงกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะระบบในภาพรวมไม่ได้คำนึงถึง อย่างละเอียดอ่อนเพียงพอ เช่น แรงงานนอกระบบ ผู้หญิง ผู้สูงอายุ เป็นต้น


ทำให้ สสส. เชิญนักวิชาการมาวิเคราะห์ปัญหาและโอกาสในประเด็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เนื่องจากต้องการบทวิเคราะห์ที่เป็นวิชาการ เป็นธรรมและมองอย่างรอบด้าน รวมถึงต้องการทราบว่าหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ ใครทำอะไรส่วนไหนบ้าง เพื่อวางบทบาทของ สสส. ได้อย่างถูกต้องว่าควรเข้าไปเสริมในเรื่องใด


ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหนึ่งในคณะผู้วิจัย "(ร่าง) ยุทธศาสตร์สุขภาวะ LGBTIQN+ พ.ศ.2564-2566 " อธิบายว่า กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTIQN หมายถึง ผู้ที่มีเพศกำเนิดกับเพศสภาพไม่ตรงกันตามวิธีคิดแบบการ แบ่งเพศชาย-หญิง ส่วนการใส่เครื่องหมายบวกไว้ด้านหลัง LGBTIQN หมายถึงบุคคลผู้มีความหลากหลาย ทางเพศมีอัตลักษณ์ที่ไม่ตายตัว จึงต้องการทำให้ นิยามในการศึกษาครั้งนี้เปิดกว้าง สามารถลื่นไหลต่อไปได้ ในอนาคต


สำหรับผลการศึกษานั้น คณะผู้วิจัยมีคำแนะนำถึง สสส. ในเรื่องที่ควรทำอย่างเร่งด่วน ได้แก่ 1.การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สสส. ควรเปลี่ยนฐานคิดของบุคลากรด้านสาธารณสุขในประเด็นสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของผู้รับบริการที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศก่อน รวมถึงสนับสนุนการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับประเด็นสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเกี่ยวเนื่องกับสุขภาวะของผู้มีความหลากหลายทางเพศ


2.การจัดทำฐานข้อมูลผู้มีความหลากหลายทางเพศในแต่ละกลุ่ม (LGBTIQN) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี ทำให้การเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาวะทำได้ลำบาก นอกจากนี้ ยังพบว่า งานวิจัยที่เคยปรากฏในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2493-2559 เกี่ยวกับประชากรผู้มีความหลากหลาย ทางเพศ ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 417 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชายรักชาย (เกย์) หรือไม่ก็กลุ่มหญิงข้ามเพศ (สาวประเภทสอง)


ขณะที่งานวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มหญิงรักหญิง (ทอม ดี้ เลสเบี้ยน) ยังมีจำนวนน้อย เช่นเดียวกับการรวบรวมงานวิจัยตั้งแต่ปี 2553-2563 พบว่ามีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ ประชากรผู้มีความหลากหลายทางเพศ จำนวน 159 เรื่อง ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในภาพรวมเป็นกลุ่มเดียวกัน ถึงกระนั้นงานวิจัยที่เน้นเจาะจงเป็นรายกลุ่ม ก็ยังมีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มหญิงรักหญิง รวมถึงกลุ่มที่รักได้ทั้งชายและหญิงจำนวนน้อย ที่สำคัญคือยังไม่พบงานวิจัยที่ศึกษาประชากรกลุ่ม I Q และ N


ดังนั้นในช่วง 1 ปีแรก สสส. ควรสร้างองค์ความรู้ ในส่วนที่ขาดหายไป และอีก 2 ปีหลัง สสส. ควรรวบรวมฐานข้อมูลความรู้ที่กระจัดกระจายให้เป็นแหล่งเดียวกัน เพื่อให้ง่ายในการเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ได้ 3.การสร้างระบบสุขภาพที่เป็นธรรมและเข้าถึงได้ สสส. ต้องพัฒนาระบบสุขภาพที่เป็นมิตรกับ LGBTIQN โดย คำนึงถึงลักษณะเฉพาะและอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนของคนกลุ่มนี้ด้วย ตลอดจนส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณสุขสำหรับประชากรกลุ่มดังกล่าว


4.การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย และชุมชนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในปีแรก สสส. ควรสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือกับเครือข่าย เหล่านี้ก่อน ส่วนอีก 2 ปีหลัง จึงให้เครือข่ายที่เข้มแข็งแล้ว ไปสร้างชุมชนที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับกลุ่มผู้มี ความหลากหลายทางเพศต่อไป และ 5.การพัฒนาศักยภาพ เยาวชน เรื่องเร่งด่วนคือยังมีเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองใช้ความรุนแรงกับบุตรหลานที่เป็น ผู้มีความหลากหลายทางเพศ การจะพัฒนาศักยภาพของเยาวชน สิ่งแรกที่ต้องทำคือสร้างครอบครัวที่ปลอดภัย


ภายในงานยังมีการวิพากษ์ร่างยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่ม LGBTIQN ฉบับแรกของประเทศไทยนี้ โดย "หมอโอ๋" พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล รามาธิบดี และเจ้าของเพจ "เลี้ยงลูกนอกบ้าน" กล่าวในตอนหนึ่งว่า สำหรับ LGBTIQN หรือกลุ่มผู้มีความ หลากหลายทางเพศ ยังมีปัญหาขาดการเข้าถึงสิทธิบางประการ เนื่องจากกฎหมายยังไม่เอื้อ


เช่น การรับฝากไข่หรือน้ำเชื้อของตนเองก่อนข้ามเพศ กฎหมายปัจจุบันยังไม่รับรองบุคคลที่ผ่านกระบวนการข้ามเพศไปแล้ว ให้สามารถใช้ไข่หรือน้ำเชื้อของตนเองเพื่อการมีบุตรได้ โรงพยาบาลจึงไม่รับฝาก จึงควรมีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อปกป้องสิทธิของคนกลุ่มนี้ รวมถึงนิยามของคำว่าการเจริญพันธุ์ ต้องครอบคลุมถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้เข้าถึงบริการด้านการเจริญพันธุ์และการมีบุตร


"อีกอันคือเราอยากให้มีการตั้งคณะกรรมการ ขับเคลื่อนเรื่องการเข้าถึงบริการการข้ามเพศที่สามารถจ่ายโดย สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ตอนนี้คนข้ามเพศหลายคนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการข้ามเพศของตัวเอง ให้เป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งเราก็คุยกันว่าไม่ง่ายเลย แต่มันก็มีอะไรที่เป็นไปได้เสมอในประเทศไทย หลายอย่างไม่ได้อยู่บนหลักการ อยู่ที่ตัวบุคคลแล้วก็จังหวะ" พญ.จิราภรณ์ กล่าว


อีกด้านหนึ่ง รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นายก สมาคมเพศวิถีศึกษา ให้ความเห็นว่า งานด้าน LGBTIQN+ มีความคล้ายกับงานอีกชิ้นที่ทำอยู่คือประเด็น "การทำแท้ง" ซึ่งย่ำแย่กว่าประเด็นความหลากหลายทางเพศ เนื่องจากกฎหมายไทยมองว่าการทำแท้งเป็น อาชญากรรม ดังนั้นสิ่งที่ต้องแก้คือ "รากฐานทางความคิด" ให้มองว่าการทำแท้งคือบริการสุขภาพ เช่นเดียวกับความหลากหลายทางเพศ ต้องเปลี่ยนไปสู่การมองว่า ความรักไม่ว่าจะรูปแบบใดก็สามารถเกิดขึ้นได้

Shares:
QR Code :
QR Code