ยุติ ‘แม่วัยรุ่น-ท้องวัยเรียน’
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
ยุติ'แม่วัยรุ่น-ท้องวัยเรียน' เพศศึกษาวิชาต้องกล้าสอน
"..อันนี้เรียกว่ากระเปาะ บีบเอาไว้ไม่ให้ลมมันเข้ามา ถ้าเราไม่บีบแล้วไปสวม พอใช้งานมันจะแตก ถุงยางแตกมันก็ไม่มีประโยชน์ แล้วก็สวมไปที่อวัยวะเพศชายตอนที่มันแข็งตัวเต็มที่ ถ้าไม่แข็งตัวใส่ไม่ได้นะ.."
ส่วนหนึ่งของการอธิบายวิธีใช้ "ถุงยางอนามัย"ในวิชาสุขศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียน บุญวัฒนา อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดย อาจารย์รชยา พจนจินดา กอร์ตาชา สลับกับเสียงหัวเราะของเด็กนักเรียนทั้งชายและหญิง ไม่เว้นแม้กระทั่งคณะสื่อมวลชนที่เฝ้าสังเกตการณ์ บรรยากาศในห้องเรียนเต็มไปด้วยความ "สนุกสนาน" ในการเรียนวิชา "เพศศึกษา"ที่แตกต่างไปจากภาพเดิมๆ ที่สังคมไทยคุ้นชิน..
"เปิดเผย-ตรงไปตรงมา" ไม่ต้อง "อาย- กระมิดกระเมี้ยน" อย่างเคย!!!
19-20 ก.ย. 2559 "สกู๊ปแนวหน้า" ติดตามคณะของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา จังหวัดนำร่องโครงการ "ต้นแบบการจัดการและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่น" ซึ่ง รร.บุญวัฒนา เป็น 1 ในสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วม "ปฏิรูป" กระบวนการสอนวิชาเพศศึกษา ในแนวทางที่สามารถป้องกันความเสี่ยงปัญหาทางเพศ ทั้งการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้จริง โดยเฉพาะกับ..
"ชั้น ม.2" ถือเป็นช่วงเวลาเริ่ม "เปลี่ยนแปลง" ทั้งร่างกายและจิตใจ!!!
อาจารย์รชยา ยกตัวอย่างหนึ่งเป็น "อุทาหรณ์" กรณีเด็กสาวที่อยู่ดีๆ ก็พบว่าตนเอง "ท้อง 5 เดือน"และไม่สามารถตอบใครๆ ได้ว่าตั้งครรภ์ได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีแฟน ไม่เคยคบกับผู้ชายคนไหนมาก่อน กระทั่งเมื่อคุณครูค่อยๆ "ซักไซ้ไล่เลียง" สอบถามย้อนหลังไปเรื่อยๆ ก็พบว่า เมื่อ 5 เดือนก่อน..
ไป "กินเลี้ยง" กันจนเมา..แล้วถูกเพื่อนชาย "ลักหลับ" โดยไม่รู้ตัว!!!
"นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งความไม่มีทักษะ ไม่รู้ อีโหน่อีเหน่มันมีอยู่จริงๆ เราก็มาเล่าให้เด็กฟังถึงอันตรายของการจัดปาร์ตี้ บอกว่าถ้าไปไหนมาไหนให้บอกพ่อแม่ แล้วที่เด็กๆ ชอบมาก คือการสอนการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี เขาจะตั้งใจดูและทำได้ถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน" อาจารย์รชยา กล่าว
เช่นเดียวกับ อาจารย์วิชมัด งามจิตร ครูและหัวหน้างานป้องกันยาเสพติด รร.บุญวัฒนา กล่าว เพิ่มเติมว่า ธรรมชาติของวัยรุ่น โดยเฉพาะใน "กลุ่มเพื่อน" ที่เมื่อเพื่อนคนอื่นๆ มีแฟนแล้ว แต่ตนเองไม่มีบ้างก็จะรู้สึก "อึดอัด-ไม่สบายใจ" แต่เมื่อคนสองคนคบกันก็มีความเป็นไปได้ที่จะ "เลย" ไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ ฉะนั้นหากไม่มี.. "ทักษะ" ตั้งแต่ "ปฏิเสธ" ไปจนถึง "ป้องกัน" ความเสี่ยงย่อมเกิด!!!
"คือเวลามีคู่แล้วสัมพันธภาพระหว่างคนสองคนไปจนถึงขั้นจะมีเพศสัมพันธ์ มันเกิดจากความรัก เด็กๆ ก็จะปฏิเสธไม่ป็น หรืออีกส่วนมีความรู้ ทำข้อสอบได้แต่ไม่สามารถเอามาใช้ได้จริง หรืออยากลอง ไม่ป้องกัน ก็มีทั้งส่วนที่รู้แต่ไม่ใช้ กับส่วนที่ไม่รู้เลย คิดว่ามันเป็นธรรมชาติของวัยรุ่น ถ้าไม่มีแฟนแล้วจะรู้สึกเครียด รู้สึกว่ามันเชยๆ ยังไงก็ไม่รู้ เพื่อนเขาคุยเรื่องแฟน เราก็อยากจะมีแฟนเพื่อจะได้ไปคุยกับเพื่อนรู้เรื่อง" อาจารย์วิชมัด ระบุ
จาก รร.บุญวัฒนา สถาบันการศึกษาระดับมัธยมขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของ "เมืองโคราช"เราเดินทางต่อไปยัง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) วังไทร อ.ปากช่อง ที่นี่ ดลฤดี สุรินทร์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.วังไทร ระบุว่า ปัญหาเรื่องเพศกับวัยรุ่นไม่ได้มีแต่วัยรุ่นหญิงเท่านั้น
"วัยรุ่นชาย"ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน..จาก "ความเชื่อ" ที่สอนแบบผิดๆ!!!
"ทางอนามัยเราเคยเจอวัยรุ่นชายอายุ 15-19 ปีนี่แหละ มาบอกว่ามีน้ำหนองไหลจากอวัยวะเพศ ถามไปถามมาเขาก็บอกว่ามีผู้หญิงถึง 5 คน แล้วก็ไปเที่ยวสถานบริการแต่ไม่ได้ป้องกัน เพราะคิดว่าผู้หญิงพวกนั้นหน้าตาดี สะอาด ไม่มีโรค ความคิดแบบนี้มันยังมีอยู่จริงๆ คือวัยรุ่นเขาก็ยังไม่ทันคิด บางทีก็ใช้วิธีหลั่ง ข้างนอก บอกว่ามันไม่ท้องหรอก บางคนก็อายไม่กล้าไปหาหมอเพราะกลัวพ่อแม่รู้ หรือบางคนก็ไปฉีดให้อวัยวะเพศมันใหญ่ แล้วก็มีภาวะแทรกซ้อนตามมา" พยาบาลประจำ รพ.สต.วังไทร ระบุ
ไม่เพียงแต่ให้คำปรึกษากับวัยรุ่นเท่านั้น ดลฤดี ยังกล่าวอีกว่า "ผู้ใหญ่" ไม่ว่าครูบาอาจารย์หรือพ่อแม่ผู้ปกครอง ล้วนเป็น "ตัวแปรสำคัญ" ที่ผ่านมาจึงมีการจัดอบรมให้กับครูและผู้ปกครองคู่ขนานไปด้วย ซึ่งก็พบว่า..แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยัง "ขาดความรู้" เช่นเดียวกับเด็กๆ อาทิ ไม่รู้จัก "ยาคุมฉุกเฉิน" หรือการใช้คำพูดบางอย่างกลับกลายเป็น.. "กำแพง"ปิดโอกาสสร้าง "ความเข้าใจระหว่างกัน" ไปโดยปริยาย!!!
"ถ้ายังปรับทัศนคติไม่ได้ ครูยังมองว่าเป็นสองแง่สองง่าม เรื่องเพศมันก็มองได้ทั้งเชิงลบและเชิงบวก การเข้าไปสอนการใช้ถุงยางอนามัยในโรงเรียน ครูบางท่านอาจจะมองว่าเป็นการชี้โพรงให้กระรอก ครูบางท่านอาจจะมองว่าเป็นการป้องกัน มันอยู่ที่เราจะสอนเด็กให้เข้าใจว่าอย่างไรในการใช้ถุงยางอนามัย ไปส่งเสริมหรือ? ไม่ใช่!..แต่ไปแนะนำว่าถ้ามันถึงวันนั้นจริงๆ แล้วคุณยังไม่พร้อม คุณจะทำยังไง?
หรือพ่อแม่บางทีก็ไม่กล้าพูดกล้าเปิด พอลูกถามก็จะบอกว่า..ทะลึ่ง! ยังไม่ถึงเวลา..ลูกก็จะถูกปิดกั้นไปด้วยคำนี้ ก็จะไม่อยากถามแล้ว เด็กก็จะไปหาความรู้จากสื่อออนไลน์ต่างๆ คลิปโป๊บ้างหนังโป๊บ้าง แล้วก็ไปทดลองทำด้วยตัวเอง เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นมันถูกหรือผิด แล้วก็มีปัญหาตามมา" ดลฤดี ฝากทิ้งท้าย
กระบวนการแก้ไขปัญหา "แม่วัยใส-ท้องไม่พร้อม" ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ยังไม่จบแค่การสอนเพศศึกษาเท่านั้น ในตอนหน้าจะกล่าวถึงกิจกรรมเชิง "บูรณาการ" ที่ทุกภาคส่วนในจังหวัด "ร่วมคิดร่วมทำ"อย่างจริงจัง
หมายเหตุ :ชมคลิปการสอนเพศศึกษา รร.บุญวัฒนา ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v= zpcnSrou2N4
ชมคลิปการให้ความรู้เพศศึกษา รพ.สต.วังไทร ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=obgZwZNFMys