ยุติความรุนแรงในรั้วโรงเรียน

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ยุติความรุนแรงในรั้วโรงเรียน thaihealth


แฟ้มภาพ


          สำหรับใครที่เคยคิดว่า โลกในรั้วโรงเรียนนั้นปลอดภัย คงต้องถึงเวลาทบทวนความคิดเสียใหม่ เพราะข้อมูลล่าสุดจากรายงาน An  Everyday Lesson-#ENDviolence in Schools  ขององค์การยูนิเซฟ เปิดเผยว่า ความรุนแรงระหว่างเด็กด้วยกันเอง ซึ่งวัดจากจำนวนเด็กที่รายงานว่าถูกข่มเหงรังแกในช่วงเดือนที่ผ่านมา หรือมีส่วนในการทะเลาะวิวาทในปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การศึกษาของเด็กเยาวชนทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และความเป็นอยู่ของนักเรียนทั้งในประเทศที่ร่ำรวยและประเทศที่ยากจน


          "การศึกษาเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสังคมที่สงบสุข แต่ถึงกระนั้น สำหรับเด็กหลายล้านคนทั่วโลกแล้ว โรงเรียนกลับเป็นสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย" เฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการบริหารของยูนิเซฟกล่าว


          "ทุกวัน นักเรียนต้องเผชิญหน้ากับอันตรายต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง การต่อสู้  การถูกกดดันให้เข้าร่วมแก๊ง การข่มเหงรังแกทั้งต่อหน้าและบนโลกออนไลน์  การลงโทษด้วยความรุนแรง การถูก ล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงที่ใช้อาวุธ ในระยะสั้น สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการ เรียนรู้ของเด็ก และในระยะยาว  มันสามารถนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า โรค วิตกกังวล หรือแม้แต่การฆ่าตัวตาย ความรุนแรงเป็นบทเรียนที่ลืมได้ยาก  ซึ่งไม่มีเด็กคนไหนควรต้องเผชิญ"


          รายงานฉบับดังกล่าว ได้เปิดเผยถึง ความรุนแรงต่างๆ ที่เด็กเผชิญอยู่ทั้งในและนอกห้องเรียน จากข้อมูลล่าสุด ของยูนิเซฟ พบว่า 1 ใน 3 ของนักเรียนอายุ 13-15 ปีทั่วโลก เคยถูกข่มเหงรังแก และอีกประมาณ 1 ใน 3 เคยมี ส่วนในการทะเลาะวิวาทนักเรียน  ขณะที่ 3 ใน 10 คนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ยอมรับว่าเคยกลั่นแกล้งรังแกนักเรียนคนอื่น


          นอกจากนี้ เมื่อย้อนดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2560 พบว่า มีการโจมตีโรงเรียนที่ได้รับการบันทึกหรือยืนยัน ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก 396 ครั้ง เซ้าธ์ซูดาน 26 ครั้ง ซีเรีย 67 ครั้ง และเยเมน 20 ครั้ง


          และทราบหรือไม่ว่า เรามีเด็ก วัยเรียนเกือบ 720 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ห้ามการลงโทษด้วยความรุนแรง โดยแม้ว่า เด็กทั้งหญิงและชาย จะมีความเสี่ยงต่อการถูกข่มเหงรังแกเหมือนๆ กัน แต่เด็กหญิงมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของการข่มเหงรังแกทางจิตใจมากกว่า และเด็กชายเสี่ยงต่อความรุนแรงทางร่างกายและการข่มขู่มากกว่า


          เมื่อมองย้อนกลับมาในบ้านเรา มีการสำรวจสุขภาพเด็กนักเรียนในประเทศไทย ที่ดำเนินการโดยกรมอนามัย ในปีพ.ศ. 2558 ชี้ให้เห็นว่า เด็กนักเรียนอายุระหว่าง 13-15 ปี ร้อยละ 29  บอกว่าถูกข่มเหงรังแกในช่วงเดือนที่ผ่านมา และร้อยละ 26 ได้มีส่วนในการทะเลาะต่อสู้กันในปีที่ผ่านมา


          "พวกเด็กๆ ใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนประมาณหนึ่งในสามของวัน ห้าวันต่อสัปดาห์ เมื่อเด็กเดินผ่านประตูรั้วโรงเรียนในแต่ละวัน ก็เป็นความรับผิดชอบ  ของเราในการที่จะทำให้พวกเขาปลอดภัย"โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว "น่าเศร้าใจที่เรายังคงเห็นข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงในโรงเรียนอยู่เรื่อยๆ บางครั้งด้วยการ กระทำของครูซึ่งเป็นผู้ที่เราหวังว่าจะช่วยปกป้องพวกเด็กๆ ด้วยซ้ำ"


          องค์การยูนิเซฟ กำลังทำงานร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพัฒนาศักยภาพของโรงเรียนและบุคลากรด้านการศึกษา ในการตอบสนองต่อการข่มเหงรังแก และความรุนแรงในโรงเรียน


          "เราต้องทำให้แน่ใจว่า ทุกโรงเรียนมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามนโยบายคุ้มครองเด็ก ซึ่งหมายถึงการเพิ่มมาตรการที่จะช่วยป้องกันความรุนแรง และดำเนินการตอบสนองอย่างเร่งด่วนหากมีเหตุเกิดขึ้น" ดาวินกล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางการทำงานเพื่อยุติปัญหา ความรุนแรงในโรงเรียน


          โดยเฉพาะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การกระตุ้นเตือนให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคน รวมถึงผู้บริหารโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และตัวนักเรียนเอง ช่วยกันท้าทายวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนและในชุมชน


          "ทุกคนต้องลุกขึ้นมาปกป้อง ความเป็นอยู่ที่ดีของลูกหลานของ พวกเรา" เขากล่าวย้ำ


 

Shares:
QR Code :
QR Code