‘ยุงลายสวน’ อันตราย กว่ายุงลายบ้าน
สธ. เผยคนป่วยไข้เลือดออกลดลงจากปีที่แล้วถึง 80% แต่ยังน่าห่วงโดยเฉพาะภาคใต้ เหตุฝนตกมาก ยาวนาน ภูมิประเทศเป็นป่าสวน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายสวน ระบุชุกชุมยิ่งกว่ายุงลายบ้าน แถมนำโรคไข้เลือดออก
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แม้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้จะลดลงจากปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันถึง 80% โดยตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วย 11,881 ราย เสียชีวิต 13 ราย แต่ช่วงฤดูฝนยังวางใจไม่ได้ เพราะมีการระบาดของโรคทุกปี จึงกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศเฝ้าระวังโรค ทั้งการกำจัดลูกน้ำยุงลายตามสถานที่ต่างๆ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ กำจัดยุงลายตัวที่มีเชื้อ เมื่อมีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก เป็นต้น
ที่น่าห่วงคือ ไม่เพียงแต่ยุงลายบ้านที่เป็นพาหะ แต่ยุงลายสวนก็นำโรคได้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในป่าสวน เพาะพันธุ์ตามต้นไม้ใบไม้ ตอไม้ที่มีน้ำฝนมาตกค้างอยู่ มีแหล่งเพาะพันธุ์กระจายอยู่ในวงกว้าง ทำให้ปริมาณยุงมีความชุกชุมมากกว่ายุงลายบ้าน จึงต้องกำจัดยุงลายสวนควบคู่ยุงลายบ้านด้วย โดยเฉพาะภาคใต้ที่มีปริมาณฝนตกชุกและยาวนานกว่าภาคอื่น สภาพภูมิประเทศเป็นป่าสวน เหมาะต่อการเพาะพันธุ์ยุง
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า กรณีข่าวเด็กอายุ 10 ปี ป่วยโรคไข้เลือดออก จนช็อก และมีแผลผุพองตามแขนขา ที่ อ.พะโต้ะ จ.ชุมพร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ชุมพร รายงานว่า ผู้ป่วยเป็นเด็กหญิง อายุ 10 ปี เริ่มป่วยวันที่ 4 ก.ค. เข้ารับการรักษาที่ รพ. เอกชนแห่งหนึ่ง ในวันที่ 5 ก.ค. แพทย์วินิจฉัยเป็นไข้เลือดออก ให้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและย้ายเข้าห้อง ไอ.ซี.ยู. ในวันที่ 8 ก.ค. ต่อมา 9 ก.ค. ญาติขอย้ายไป รพ.ชุมพร ซึ่งผู้ป่วยมีภาวะช็อกก่อนที่จะมาถึง รพ.ชุมพร และมีภาวะแทรกซ้อนหลายระบบ มีเลือดออกในสมอง ขณะนี้ยังรักษาตัวอยู่ที่ห้อง ไอ.ซี.ยู. อาการทั่วไปคงที่
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ ยังมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกอีก 1 ราย อายุ 3 ขวบ เข้ารับการรักษาที รพ.พะโต้ะ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. โดยบ้านผู้ป่วยอยู่ห่างกันประมาณ 250 เมตร ทีมสวบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วจึงได้สอบสวนโรค และส่งเลือดตรวจหาสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรค และดำเนินการพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งมอบหมายให้สำนักควบคุมป้องกันโรคที่ 11 เก็บตัวอย่างยุงลายที่มีปริมาณหนาแน่นในพื้นที่พบผู้ป่วย ดูสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก เพื่อวางแผนในการควบคุมป้องกันโรค โดยส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดว่าจะใช้เวลา ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์
ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์