‘ยิ้มได้ เมื่อภัยมา`
ที่มา : วิถีชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานราก : จัดการน้ำ โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประชารัฐ และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
หากยังจำกันได้ เมื่อคราวมหาอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ตำบลท่างามแห่งนี้ ไม่เพียงแต่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก หากแต่ยังถูกกล่าวหาว่าเป็นชนวนทำให้น้ำไหลเข้าท่วมจังหวัดข้างเคียง ด้วยประตูน้ำบางโฉมศรี ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลท่างามได้พังทลายลง เกิดข้อครหาว่าตำบลท่างามปล่อยปละละเลยจนทำให้ประตูน้ำพัง
ประตูน้ำบางโฉมศรี เป็นประตูระบายน้ำที่มีอายุกว่า 50 ปี เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับคลองบางโฉมศรี เมื่อประตูพังพลายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาก็ไหลเข้าท่วมพื้นที่ตำบลท่างาม ลัดเลาะลำคลองไปยังพื้นที่ใกล้เคียงอย่างรวดเร็ว
“บางโฉมศรี ผิดจริงหรือ” คือข้อความบนเสื้อยืดที่ชาวตำบลท่างามได้ร่วมกันทำขึ้น เพื่อขายเอาเงินมาช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ ทั้งสร้างคำถามกลับไปยังชุมชน ซึ่งในเวลานั้น สื่อแขนงต่างๆ ได้ลงมาทำข่าวที่ประตูน้ำแห่งนี้อย่างพร้อมเพรียง ทำให้เสื้อยืดที่ทำขึ้นขายหมดใน 3 วัน จนต้องสั่งทำรอบ 2 เพื่อนำมาขายให้กับผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาให้ความช่วยเหลือ
ตำบลท่างาม มีรายได้จากการขายเสื้อครานั้น 80,000 บาท จึงได้จัดตั้งกองทุนภัยพิบัติตำบลท่างาม ซึ่งบริหารงานโดยคณะกรรมการภาคประชาชน เพื่อเป็นเงินสำรองไว้ใช้ในยามประสบอุทกภัย แบ่งเบาภาระของผู้นำตำบล ด้วยในกรณีที่ทางจังหวัดยังไม่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ พื้นที่สามารถนำเงินกองทุนนี้มาใช้จ่าย ซื้อกระสอบทราย ข้าวปลาอาหารแห้ง และการช่วยเหลือเบื้องต้นเล็กๆ น้อยๆ หากเมื่อจังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้วนั้นเอง ทาง อบต.ท่างาม จึงสามารถนำงบกลางมาจัดสรรใช้ได้
ภายหลังจากน้ำท่วมใหญ่ครานั้น ทางตำบลท่างามยังได้รับงบประมาณในการฟื้นฟู ด้านการประกอบอาชีพจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เพื่อช่วยผู้ประสบภัยให้ฟื้นสู่วิถีทางของชีวิต นอกจากนี้ ทางตำบลยังตระหนักถึงความสำคัญของการเฝ้าระวัง โดยส่งเสริมให้มีการอบรม อปพร. รวมถึงถ่ายทอดภูมิปัญญาเพื่อสังเกตภัย อาทิ การสังเกตมดคาบไข่ น้ำแดง ลมพายุ
ชินวุฒิ อาศน์วิเชียร หัวหน้าส่วนสวัสดิการสังคม อบต.ท่างาม เล่าว่า น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เป็นวิกฤติที่มาพร้อมกับโอกาส ตำบลท่างามได้รับการช่วยเหลือและฟื้นฟู ซึ่งหลายสิ่งก็ได้รับการวางรากปักฐานให้แน่นหนายิ่งขึ้น
“เวลาเงินช่วยเหลือเข้ามา นโยบายของนายกฯ จะพยายามไม่ใช้เงินทั้งหมด แต่เน้นนำมาหมุนเวียนโดยให้ประชาชนเข้ามาเป็นคณะกรรมการ อย่างกองทุนภัยพิบัตินั้น เงินที่ได้จากการขายเสื้อตำบลแทบไม่ได้ใช้ เพราะความช่วยเหลือเข้ามามาก เงินก้อนนี้จึงนำมาปล่อยกู้เพื่อสร้างอาชีพ คิดดอกเบี้ยต่ำ เพียงร้อยละ 25 สตางค์ต่อเดือน หรือร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งจะมีผู้ทรงคุณวุฒิและเจ้าหน้าที่เป็นคณะกรรมการพิจารณา เน้นให้กับคนที่มีส่วนร่วม มีจิตอาสา” ชิณวุฒิ เล่า
ไม่เพียงเท่านั้น ตำบลท่างามยังได้รับความช่วยเหลือจาก กิ่งทอง ใบหยก ซึ่งเคยมาเป็นอาจารย์ฝึกสอบเมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาพักอาศัยกับอาจารย์ เสาวนิต โกสุมา เมื่อรับทราบข่าวว่าตำบลท่างามประสบภัยพิบัติครั้งใหญ่ก็ได้มอบเงินช่วยเหลือให้ 1 ล้านบาท
จากการพูดคุยกันระหว่างเจ้าของเงินกับชาวตำบลท่างาม ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องบริหารเงินจำนวนดังกล่าวให้มีความยั่งยืนและเห็นชอบตรงกันที่การนำเงินดังกล่าวมาปล่อยกู้ให้เกษตรกร โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ เจ้าหน้าที่ อบต. และผู้นำเกษตรกรเป็นคณะกรรมการ
เสาวนิต โกสุมา หนึ่งในผู้บริหารกองทุนใบหยก อธิบายว่า คนตำบลท่างามทำเกษตรกรรมเป็นส่วนมากและน้ำท่วมครั้งนั้นเกษตรกรก็ต้องมาเริ่มกันใหม่จึงเจาะจงให้กลุ่มนี้กู้โดยเฉพาะ
“ทางคณะกรรมการจะรวบรวมความต้องการทั้ง ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ ยา ในแต่ละรอบการทำนา ส่งคืนใน 6 เดือน คิดดอกเบี้ยร้อยละ 25 สตางค์ต่อเดือน จำกัดวงเงินที่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อปี ส่งคืนแล้วกู้ใหม่ได้ ทีนี้ก็จะมีคนไม่ยอมคืนต้นเพราะดอกเบี้ยถูก เราจึงต้องมีเบี้ยปรับรวมถึงหมายชื่อเกษตรกรที่ปฏิบัตินอกกฏกติกาเอาไว้” เสาวนิตเล่า
สำหรับกองทุนใบหยกนั้น ถ้ารอบการยืมรอบใดมีความต้องการเกินจากเงินทุน จะมีการพูดคุยเพื่อเฉลี่ยแบ่งกันไป จากการดำเนินงานมา 3 ปี กองทุนใบหยกมีเงินเพิ่มเติมและสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนตำบลท่างามอย่างยั่งยืนตามเจตนารมณ์ของผู้มอบเงินจำนวนนี้