“ยาเสพติด” ภัยร้ายที่ป้องกันได้จาก “ครอบครัว”
ห้ามจับผิดเน้นสร้างความสัมพันธ์และเข้าใจ
เงียบหาย เบาบางไปนาน นึกว่าหมดไปจากประเทศแล้วเสียอีก!!! แต่หลังจากเกิดเหตุบ้านการเมืองไม่สงบ อาชญากรตัวร้ายอย่าง “ยาเสพติด” ที่เงียบหายไปจากกระแสสังคม กลับทวีความรุนแรงและคืบคลานเข้ามาสู่สังคมไทยอย่างช้าๆ เห็นได้จากข่าวที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ว่ามีการจับยาเสพติดลอตใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ไม่เว้นแต่ละวัน ไหนจะมีรายที่ไม่เป็นข่าวอีก นับเป็นภัยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตลอดทุกช่วงเวลาเลยทีเดียว
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก ลองมาดูกันว่าสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศไทยเป็นอย่างไร จากข้อมูลทางสถิติพบว่า สถานการณ์การค้ายาเสพติดในประเทศไทยปัจจุบันมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น พิจารณาจากสถิติการจับกุมคดียาเสพติดตั้งแต่ปี 2548-2551 การจับกุมคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 72,595 คดี เป็น 84,266 คดี 107,454 คดี และ 121,135 คดี โดยตามลำดับ ผู้ต้องหาส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วง15-24 ปี ถึงร้อยละ 37.1 รองลงมาเป็นอายุ 25-29 ปี ร้อยละ 23.9
สำหรับตัวยาที่นิยมลักลอบนำเข้ามาขายกันจะมีทั้ง ยาบ้า, กัญชา, เฮโรอีน, ฝิ่นดิบ, ไอซ์, เคตามีน และเอ็กซ์ตาซี เป็นต้น และพื้นที่ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ ทางชายแดนภาคเหนือและทางภาคอีสาน โดยในปี 51 มีสัดส่วนการลักลอบนำเข้ายาเสพติดสูงถึงร้อยละ 86.5
ยาบ้า ยังคงเป็นตัวยาที่ครองแชมป์ ที่มีการค้ามากที่สุด โดยสามารถยึดของกลางได้ 21.7 ล้านเม็ด รองลงมาเป็น กัญชา 21,041.8 กิโลกรัม และ สารระเหย 145.2 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังพบว่ายาในกลุ่ม Club Drugs เป็นยาชนิดที่ใช้กันในสถานบันเทิง เช่น ยาอี, ยาไอซ์, ยาเลิฟ ยังมีแนวโน้มที่จะรุนแรงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มนักค้ายาเสพติดในประเทศเทศแล้ว ปัจจุบันได้มีนักค้ายาเสพติดต่างชาติที่ได้แอบแฝงเข้ามาในลักษณะนักท่องเที่ยวมากระทำผิดด้วย ซึ่งก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้หลายราย และที่สำคัญ กลุ่มนักค้ายาเสพติดที่ถูกจับกุมและได้รับการประกันตัวปล่อยตัวชั่วคราวหรือพักการลงโทษ ก็ได้กลับมากระทำความผิดซ้ำอีก…
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ กลุ่มที่ถือว่าเสี่ยงมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น เด็กและเยาวชน ที่จะถูกชักชวน ดึงดูดและหลงกลให้ตกเป็นทาสยานรกเหล่านั้นได้ง่ายกว่าวัยอื่นๆ โดยสาเหตุอาจมาจากสภาพความอ่อนแอของสังคม จริยธรรม ที่สำคัญคือครอบครัวขาดความอบอุ่น เด็กและเยาวชนถูกทอดทิ้งสูงขึ้น…
เมื่อปัญหายังคงทวีความรุนแรงมากขึ้น แนวทางแก้ไขที่ดีที่สุดนั้น นพ.อรรถพล สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ผู้รับผิดชอบโครงการจัดการองค์ความรู้ด้านยาเสพติด (อสต.) กล่าวว่า ครอบครัว ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดปัญหายาเสพติดลงได้มากที่สุด เริ่มจากการหากจับได้ว่าลูกหรือคนในบ้านเข้าข่ายติดยา พ่อแม่ส่วนใหญ่มักเกิดความโมโห โกธร ดุด่า ว่ากล่าว บางรายถึงกลับไล่ออกจากบ้าน ซึ่งนั่นถือว่าเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ผิดอย่างรุนแรง เพราะฉะนั้นอาจยิ่งทำให้เด็กเกิดความหวาดกลัว รู้สึกหมดคุณค่าในตัวเอง ไม่อยากใกล้ชิดพ่อแม่ หันหน้าไปหาเพื่อน และสุดท้ายก็หันกลับไปเสพยาอยู่เช่นเดิม…
“สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำเมื่อพบว่าลูกติดยา คือ เพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัวให้มากยิ่งขึ้น หาโอกาสพูดคุยกัน ใกล้ชิดกัน พูดจาดีๆ กับเขา ถามถึงเหตุผลที่ทำให้หันไปเสพยา ทำให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง ให้เขารู้ว่าเรายินดีที่จะเป็นเพื่อน คอยให้คำปรึกษา และเมื่อเด็กไว้วางใจ เห็นว่าเราเข้าใจเขา นั่นแหละที่จะทำให้เขาพูดความจริง เชื่อฟังเราและยอมเลิกยาในที่สุด” นพ.อรรถพล กล่าว
แต่หากไม่อยากให้ปัญหานี้เกิดขึ้นและรุนแรงในกลุ่มเด็กและเยาวชน พ่อแม่ผู้ปกครองหรือคนในและสังคมต้องร่วมกันสอดส่องดูแลลูกหลานว่ามี การใช้เงินสิ้นเปลืองถึงขั้นใช้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ภายในไม่เกิน 1 ปีหรือไม่ พบอุปกรณ์การเสพ กระดาษฟรอยด์ ไฟแช็ค หลอด หรือบุหรี่ที่มีรอยยับหรือเปล่า เด็กมีนิสัยโกหก เข้าห้องน้ำนาน มีนิสัยลักขโมย เกียจคร้าน และไม่รับผิดชอบหรือไม่ มีอาการเมายาไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ร่างกายไม่แข็งแรง ผอมแห้งแรงน้อย ขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สกปรก อารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย เอาแต่ใจตัวเอง เก็บตัว ไม่สุงสิงกับคนอื่นไม่รับรู้ปัญหาภายในบ้าน ติดต่อกับคนแปลกหน้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกที่เสพยาเสพติดเหมือนกันหรือไม่ เพราะหากเด็กมีพฤติกรรมเช่นนี้ ลูกของคุณอาจเข้าข่ายตกเป็นทาสยาเสพติดได้…
หรือหากพบว่าลูกหลานมีอาการติดยาสามารถก็สามารถขอคำแนะนำได้ที่ สำนักงานศึกษาป้องกันการติดยา(กระทรวงสาธารณสุข) โทร. 02–824180-5 สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยศูนย์อาสาสมัครยาเสพติด ตึกมหิดล กรุงเทพฯ โทร. 0-2455522 ศูนย์สุขวิทยาจิต พญาไท กรุงเทพฯ โทร.0-2815241 สมาคมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ โทร.0-2452733 สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กรุงเทพฯ โทร.0-2459340-9 หรือหน่วยงานเอกชนที่ทำเกี่ยวกับเรื่องนี้…
ทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ…เมื่อหลายหน่วยงานต่างช่วยกันหาทางออกก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่จะเป็น “กุญแจ” สำคัญในการแก้ไขปัญหาของเยาวชนขั้นแรก คือ “ครอบครัว” ที่จะช่วยสกัดกั้นปัญหา “ยาเสพติด” ได้ดีที่สุด ทำตั้งแต่วันนี้ก่อนที่จะสายเกินแก้ ดีกว่า!!
ที่มา : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th
Update:28-06-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่