ยันไว้ อย่าให้อ้วน
ที่มา : ดร. สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการอิสระ และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.
ภาพประกอบจาก สสส.
ภาวะอ้วนในประเทศไทย พุ่งสูงขึ้นทุกๆปี และได้สูงขึ้นคู่ขนานไปพร้อมๆกับอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนไทย อันเกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ที่มาจากต้นเหตุของความอ้วน ทั้งๆที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ระดมการรณรงค์ลดอ้วนลดพุง และ NCDs ติดต่อกันมานานนับสิบกว่าปี
ทั่วโลกยอมรับว่า อ้วนคือต้นเหตุสำคัญของการนำไปสู่ NCDs ณ วันนี้มนุษย์บนโลกใบนี้อ้วนสูงถึง 800 กว่าล้านคน ในจำนวนนี้เป็นคนไทยราวๆ 20 ล้านคน ที่สำคัญไม่มีใครไม่รู้ว่าอ้วนคือภาระอันหนักอึ้งของประเทศ ที่ต้องใช้ทรัพยากรชาติมหาศาลในการแก้ปัญหา คำถามคือ ที่ผ่านมาทำไมเราจึงลดภาวะอ้วนและ NCDs ไม่สำเร็จ?
ตอบง่ายๆ เลย เราแก้ปัญหาแบบหลงทางใช่หรือไม่? กล่าวคือเราไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยการปล่อยให้คนไทยที่มีภาวะปกติกลายเป็นคนอ้วนจน NCDs ตามมาแล้วค่อยมาลดมารักษา ซึ่งต้องใช้งบประมาณและทรัพยาการของชาติมากมายมหาศาลในการรักษา สรุปเรามุ่งซ่อมมากว่าสร้าง พอลดอ้วนได้คนปกติก็ขึ้นมาอ้วนแทน มันเลยวนอยู่ในอ่าง อีกกี่ชาติจึงจะแก้ปัญหานี้ได้
ทำไมเราไม่นำหลักการการสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health Care) ที่ท่านอาจารย์หมออมร นนทสุตและบรรพบุรุษวงการแพทย์และสาธารณไทยได้ก่อไว้ มาประยุกต์ใช้ในการลดภาวะอ้วนและ NCDs ด้วยการเอา “สร้าง” นำ “ซ่อม” ป้องกันให้คนปกติไม่อ้วน แทนการ ปล่อยให้อ้วนแล้วจึงมารักษา
บทเรียนที่ผ่านมา เราไปมุ่งเน้นทุ่มทรัพยากรของประเทศไปกับการลดอ้วนลดพุงในคนที่อ้วนและพุงใหญ่มากเกินไป แต่ถ้าเราเปลี่ยนแนวคิดหันมาส่งเสริมป้องกันคนปกติไม่ให้อ้วน คู่ขนานไปกับการลดอ้วน น่าจะทำให้ภาวะอ้วนและอุบัติการณ์ NCDs ลดลงได้ กลุ่มเป้าหมายที่ควรมุ่งเน้นเพื่อการส่งเสริมป้องกันยันไว้ไม่ให้อ้วนที่สำคัญมี 3 กลุ่ม คือหนึ่ง กลุ่มประชากรวัยเด็กและเยาวชน สองกลุ่มวัยทำงานผู้สูงอายุที่มีภาวะโภชนาการปกติหรือไม่อ้วน และสามกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุที่มีภาวะเสี่ยงเช่น กลุ่มที่มีดัชนีมวลกายเข้าใกล้ 23 กก./ตารางเมตร และรอบเอวจวนเจ้าใกล้ 80 ซม.ในผู้หญิง และในผู้ชายเข้าใกล้ 90 ซม.
การควบคุมป้องกันยันไม่ให้เด็กไทยอ้วนคือการแก้ปัญหาอ้วนและ NCDs ที่จะได้ผลดีในระยะยาวและยั่งยืน ณ เวลานี้ทางแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กำลังค้นหารูปแบบการป้องกันไม่ให้เด็กไทยอ้วน ภายใต้โครงการ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน”คงจะได้คำตอบในเร็วๆนี้ เพื่อขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป
หลักการและแนวคิดการยันให้คนปกติสามกลุ่มดังกล่าวไม่ให้เป็นคนอ้วนที่สำคัญคือ การนำทรัพยากรของชาติที่มีอยู่มาลงทุนทำให้คนเหล่านี้มีความฉลาดรอบรู้ด้านสุขภาวะ หรือ Health Literacy กล่าวคือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้คนปกติเกิดความตระหนักรู้ถึงภัยร้ายเมื่อกลายเป็นคนอ้วน และที่สำคัญใช้กระบวนการสื่อสารเพื่อให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์
ในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องมีความกล้าหาญมากพอที่จะยอมลงทุนในการสร้างสิ่งแวดล้อมให้คนไทยที่ปกติ ได้มีโอกาสเข้าถึงการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ กินแล้วไม่อ้วน และให้มีสถานที่และเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงการออกกำลังการและมีกิจกรรมทางกาย( Physical Activity) ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ จะทำอย่างไรที่จะออกมาตรการทางกฏหมายและหรือมาตรการทางสังคม เพื่อส่งเสริมให้คนปกติดูแลตัวเองไม่ให้อ้วน เช่น การส่งเสริมให้มีอาหารที่เป็นมิตรต่อสุขภาพจำหน่ายอย่างแพร่หลาย ทำไปพร้อมๆกับทำให้สถานที่ทำงานทุกหนแห่งมีสถานที่ออกกำลังกาย หรือการใช้มาตรการทางภาษีสำหรับผู้ประกอบการอาหารและผลิตอุปกรณ์การออกกำลังกายทุกระดับ เพื่อส่งเสริมให้คนปกติเข้าถึงมากขึ้น
แนวคิด “ยันไว้ ไม่ให้อ้วน” ที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ใช่ความฝันที่เป็นไปไม่ได้ แต่มันคือความจริงที่ผู้กำหนดนโยบายด้านการแพทย์และสาธารณสุขของชาติ ต้องนำไปทบทวน เพื่อถามตัวเองว่า….แล้วเราจะลดอ้วนในคนที่อ้วนแล้วไปอีกนานเท่าไร อุบัติการณ์โรคอ้วนและ NCDs จึงจะลดณ เวลานี้ เราไม่ได้เริ่มต้นที่สูญ แต่เรามีทุนทางสังคมอยู่ระดับหนึ่ง เพียงแต่ขาดการจัดการอย่างเป็นระบบเพราะความละเลยไม่เอาจริงเท่านั้น
หากทำสำเร็จ ไม่ใช่เพียงแค่เกิดความยั่งยืนของการแก้ปัญหาอ้วนของประเทศเท่านั้น แต่ผมมั่นใจว่าจะส่งผลต่อ GDP ของประเทศที่สูงขึ้นตามมาด้วยครับ