ยกระดับการทำงานแพทย์ฉุกเฉิน รู้เท่าทันโรค NCDs
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ใน 10 ปี ข้างหน้าไทยมีปัญหาแน่นอน เพราะโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ มักจะมารุมเร้าไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นการดูแลโรคประจำตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงจนถึงวาระสุดท้าย จึงต้องเตรียมพร้อมไปกับสังคมสูงวัย แนวทางสำคัญคือการป้องกันเพื่อไม่ให้เป็นโรคเรื้อรังเมื่อสูงวัย
ล่าสุด สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย สถาบันประสาทวิทยา และสมาคมนักกำหนดอาหาร จัดเวทีระดมความคิดในโครงการส่งเสริมและป้องกัน คนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ระดมทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน กว่า 100 ชีวิต ติวเข้มเพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทย โดยเน้นที่การป้องกันเพื่อลดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน-เสียชีวิต-พิการ
ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย อธิบายว่า ขณะนี้คนไทยมีแนวโน้มเจ็บป่วยฉุกเฉิน เสี่ยงเสียชีวิต พิการ กะทันหันเพิ่มขึ้น ยอดผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าโรงพยาบาลกว่า 25 ล้านคนต่อปี ขณะเดียวกันองค์การอนามัยโลก(WHO) รายงานว่า 68% ของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก เกิดจากโรคที่ไม่ติดต่อ หรือโรคเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตันเป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับการจัดงานครั้งนี้ที่เป็นการระดมสมองจากบุคลากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการรักษาผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อการขยายแนวคิดในการป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และการรับฟังความเห็นและคำแนะนำเพื่อการปรับปรุงสื่อต่าง ๆ ที่ทางโครงการฯได้จัดเตรียมให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถนำไปใช้ในการส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้เป็นการส่งเสริมป้องกันไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นได้ ก็จะช่วยลดการเสียชีวิต ความพิการ หรือความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยได้
สำหรับแนวคิดของโครงการนี้ ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์สันต์ ระบุว่าจะประกอบด้วย 4 กรอบหลัก คือ 1.การทำให้มีสุขภาพดี 2.หากมีโรคประจำตัว หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินใด ผู้ป่วยหรือญาติสามารถดูแลและควบคุมโรคประจำตัว หรือการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3.หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินรุนแรง ผู้ป่วยหรือญาติ ควรทราบวิธี ช่องทางในการสอบถามวิธีการแก้ไขเบื้องต้น หรือติดต่อขอรับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม 4.การเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีการเจ็บป่วยรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้อย่างเหมาะสมเมื่อพบผู้ประสบเหตุ
"การที่รัฐบาลพยายามสร้างกลไกการรักษาด้วยนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิได้ทุกที่ฟรี 72ชั่วโมง นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ประชาชนไม่ต้องสำรองเงินจ่าย แต่การดำเนินการนั้นจำเป็นจะต้องมีความรัดกุมเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการใช้ระบบที่ฟุ่มเฟือยไม่ถูกต้อง และมีความครอบคลุม" ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์สันต์ กล่าวระบุ
นายแพทย์สมชาย กาญจนสุต อุปนายก สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ดี นั้นจะต้องประกอบด้วยวัตถุประสงค์ที่เป็นผลสำเร็จ 3 ประการของการบริการได้แก่ 1.ความรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ 2.คุณภาพของการดูแลรักษา และ 3.ความครอบคลุม เพื่อให้ผู้เจ็บป่วยสามารถได้รับการดูแลรักษาที่ทันต่อเหตุการณ์ไม่เสียชีวิตไปก่อน และได้รับการดูแลตามมาตรฐานที่เสมือนแพทย์ได้ดูแลเอง อย่างทั่วถึง เท่าเทียม ตลอดเวลา และได้รับการนำส่งไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พินิจ กุลละ วณิชย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ระบุ การดูแลสุขภาพตั้งแต่เด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ การที่จะทำให้ตนเองมีสุขภาพดี ไม่มีโรค ตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต หากสามารถปฏิบัติตาม 10 เคล็ดลับ ได้แก่ มีหุ่นดี ทานอาหารเพื่อ สุขภาพ ออกกำลัง พักผ่อนให้เพียงพอ อารมณ์ดีเดินสายกลาง งดสารเสพติด มีเพศสัมพันธ์ปลอดภัย ฉีดวัคซีนตามแนะนำ ระวังภัยไม่ประมาท ตรวจสุขภาพตามความเหมาะสม และการตรวจคัดกรองโรคต่าง ๆ เมื่อถึงวัยจะเป็นหนทางหนึ่งของการมีสุขภาพที่ดีได้ หากตรวจเจอสิ่งผิดปกติในร่างกายจะได้ทำการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นดีกว่าจะปล่อยให้โรคกำเริบออกมาแล้วจึงค่อยทำการรักษา
เวทีครั้งนี้จะเป็นก้าวย่างที่สำคัญเพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพ และนำมาสู่การส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างแท้จริง