ม.รังสิตเปิดตัวโครงการ RSU Healthy Campus
มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยรังสิต สู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ (rsu healthy campus) มุ่งเน้นการพัฒนาองค์กร นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากร ให้หันมาดูแลสุขภาพตนเอง และเป็นผู้นำในการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีแก่สังคม ซึ่งนับเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกที่นำร่องโครงการ
นายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ คณบดีบริหารกลุ่มวิทยาลัยแพทยศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า เรื่องสุขภาพอนามัยนั้นไม่ใช่เรื่องของแพทย์ หรือพยาบาลเพียงอย่างเดียว ปัจจัยที่จะทำให้เกิดสุขภาพที่ดีนั้น มีอยู่หลายปัจจัย ซึ่งขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ รวมทั้งพฤติกรรมของแต่ละบุคคล สิ่งเหล่านี้คือตัวกำหนดสุขภาพ ไม่ใช่สถานพยาบาลอย่างเดียว ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยรังสิต มีคนอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ คือ นักศึกษา กับอาจารย์ นักศึกษาเป็นคนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว บางคนก็มาจากต่างจังหวัดและย้ายมาอยู่รวมกันในหอพัก ใช้ชีวิตเรียนหนังสือ ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันอยู่ในมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้น สิ่งแวดล้อมเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพ ถ้าเด็กมีพฤติกรรมที่ถูกต้องก็จะทำให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สามารถเป็นที่พึ่งและช่วยเหลือสังคมต่อไปได้ ถ้าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหา และไม่รู้วิธีการปฏิบัติตนที่ถูกต้องนั้น ก็อาจจะเป็นปัญหาได้ ในส่วน
อาจารย์ก็เช่นเดียวกัน หากทำงานหนักในสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ก็จะส่งผลต่อสุขภาพเช่นกัน ดังนั้น การทำโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยรังสิต สู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ หรือ rsu healthy campus rsu healthy campus คือการพัฒนาทั้งหมดนี้ ซึ่งเราเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกที่นำร่องโครงการ โดยมุ่งที่จะทำให้มหาวิทยาลัยของเราเป็นชุมชนสุขภาพที่ยั่งยืนในลักษณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
มหาวิทยาลัยรังสิต มีคณะที่ให้บริการทางด้านสุขภาพมากมาย จึงเป็นโอกาสให้คณะต่างๆ มีโอกาสที่จะได้สอนได้พัฒนาให้ครบองค์ความรู้ และที่มาของโครงการที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยรังสิต ให้เป็นแคมปัสที่สร้างเสริมสุขภาพ ทั้งนี้ เราจึงได้ทำโครงการขอสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีโครงการสนับสนุนมหาวิทยาลัยในด้านนี้อยู่ โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 – 30 กันยายน 2555 เป็นระยะเวลา 2 ปี อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยรัฐบาลหลายแห่งได้รับการสนับสนุนไปแล้ว เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ฯลฯ
สำหรับภาพรวมที่จะเน้นคือ การปรับปรุงมหาวิทยาลัยรังสิตให้เอื้อต่อสุขภาพ โดยการปรับวิถีชีวิตของนักศึกษาและอาจารย์ พัฒนาองค์ความรู้ด้านสุขภาพให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนและกิจกรรม ที่จะเป็นที่พึ่งของสังคม ปรับปรุงบริการสุขภาพโดยนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรทุกคน จะต้องได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ นอกจากนี้คือการทำให้ร้านอาหารในมหาวิทยาลัยทุกร้านผ่านมาตรฐานอาหารสะอาด clean food good taste ของกระทรวงสาธารณสุข และส่งเสริมให้นักศึกษาและอาจารย์ทุกคนออกกำลังกายอย่างน้อย อาทิตย์ละ 3 วัน ครั้งละ 30 นาที อย่างน้อย 60% มีคลินิกให้คำปรึกษาเรื่องความเครียด ลดความซึมเศร้า คลินิกอดบุหรี่ รวมถึงการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ให้เป็นสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพและสถานที่ออกกำลังกายต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น ในภาพรวมนี้ก็คือสิ่งที่เราจะทำ และทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนในมหาวิทยาลัยรังสิตทั้งหมดร่วมมือกัน ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง ท่านอธิการบดี ท่านรองอธิการบดี คณบดี หน่วยงาน ที่สนับสนุนโครงการนี้ในทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัย และนี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน 2 ปีนี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์