ม.มหิดลแฉวิกฤติครอบครัวหย่าร้างพุ่ง
จัดตั้งสถาบันพัฒนาครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวหวังพัฒนาคุณภาพพ่อแม่
รศ.ดร.สายฤดี วรกิจโภคาทร ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล เปิดเผยว่า สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) ศึกษาสถานการณ์ครอบครัวไทย ในช่วงเดือน ม.ค. 2552 พบว่าประเทศไทยมีประชาชากรเด็กและเยาวชนอายุ ระหว่าง 11-22 ปี จำนวน 11.4 ล้านคน อยู่ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมากกว่า 2.5 ล้านครอบครัว และยังพบว่ากลุ่มตัวอย่างพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวถึง 1,000 ราย ระบุว่า สาเหตุของการเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว อันดับ 1 เกิดจากการหย่าร้าง ที่สำคัญส่วนใหญ่กลายเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวตั้งแต่วัยรุ่นและวัยเรียนและต้องดูแลบุตรเฉลี่ย 1-2 คน
รศ.ดร.สายฤดีกล่าวต่อว่า สำหรับสถานภาพของพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวพบว่า 1 ใน 3 ของพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว สูญเสียความมั่นใจ เกรงว่าจะเลี้ยงลูกให้มีความสุขไม่ได้ ท้อแท้หมดหวัง เครียด ปัญหาที่กังวลที่สุด ได้แก่ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ การหารายได้ให้พอกับค่าใช้จ่าย พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมากกว่า ร้อยละ 80 ไม่ได้รับสวัสดิการใดๆจากที่ทำงานและภาครัฐบาล โดยกลุ่มตัวอย่างได้เสนอแนะต่อรัฐบาลว่า อยากให้ช่วยสนับสนุนรายได้ ครอบครัวให้มีเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 3,250 บาท เงินประกอบ อาชีพเสริม สิทธิพิเศษให้บุตรเรียนฟรีจนจบปริญญาตรี งดจัดเก็บหรือลดหย่อนภาษีเงินได้ให้เหลืออัตราร้อยละ 2
“สิ่งที่เรากำลังหาทางช่วยเหลือขณะนี้ คือ การจัดตั้งสถาบันพัฒนาครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว และทำหน้าที่พัฒนา พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวให้มีคุณภาพ” รศ.ดร.สายฤดีกล่าว
นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวและแผนงานสุขภาวะครอบครัว สสส. กล่าวว่า ปัญหาการหย่าร้างของคนไทยสูงขึ้นทุกปี สถิติเมื่อปี 2550 มีคู่สมรสจดทะเบียนประมาณ 300,000 คู่ แต่หย่าร้างถึง 100,000 คู่ ทั้งนี้ หากครอบครัวอ่อนแอ ขาดความพร้อม จะส่งผลให้เด็กเกิดปัญหา เพราะจากการศึกษาพบว่าเด็กที่กระทำผิดมากกว่าครึ่งมาจากครอบครัวเดี่ยว ดังนั้น รัฐบาลต้องใส่ใจปัญหาดังกล่าว ไม่ใช่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
update: 17-02-52