`ม่วงหวาน` ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งความสุข

ความอุดมสมบูรณ์ในทรัพยากรของประเทศไทย ว่ากันว่า สิ่งที่มีอยู่รอบๆ ตัวเรา สามารถนำเอามาทำประโยชน์ได้อย่างมากมาย ขอเพียงให้ผู้มีปัญญา สร้างสรรค์ประโยชน์ที่จะก่อเกิดจากทรัพยากรนั้นๆ เท่านั้น


'ม่วงหวาน' ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งความสุข thaihealth


แฟ้มภาพ


ครูเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญในการช่วยดำเนินการให้เด็กได้เรียนรู้อย่างเป็นกระบวนการ แม้ว่าจะไม่ได้เรียนจบครูมาโดยตรง ขอเพียงให้ มีใจรักต่อการพัฒนาเด็กให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ก็สามารถนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่มาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมได้อย่างดี


“ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” มีบทบาทสำคัญในการยกระดับ การพัฒนาศักยภาพของเด็ก ที่มีการออกแบบกระบวนการเรียนรู้และพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้ ตลอดจนทักษะ ทัศนคติของครู หรือพี่เลี้ยง ด้วยเหตุนี้เองศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาสุขภาวะที่ดีของเด็กที่น่าสนใจ


พื้นที่ อบต.ม่วงหวาน จังหวัดสระบุรี เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมแห่งหนึ่งที่ทำให้มองเห็น คุณค่าของศูนย์พัฒนาเด็ก เนื่องจากมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่เกิดจากการสนับสนุนของผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเขาดิน โดยใช้พื้นที่ ใต้ถุนของโรงเรียน ซึ่งแรกเริ่มมีเด็กเข้าเรียนจำนวน 20 คน แต่เนื่องจากไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทำให้ขาดงบประมาณในการพัฒนา ดูแลรักษาสถานที่จึงทรุดโทรม ขาดสื่อ และกิจกรรมที่เหมาะสม ต่อเด็ก ทำให้จำนวนเด็กลดลงจนเหลือเพียง 3 คน


จนกระทั่ง นางสาววิภา คำภา ครูพี่เลี้ยงประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตำบลม่วงหวาน มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงได้ส่งข้อมูลเข้าร่วม โครงการ”มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ใน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” ที่ จัดโดยสถาบันสื่อเด็ก และเยาวชน (สสย.)ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) โดยได้อบรมการจัดกระบวนการเรียนรู้ และพื้นที่สร้างสรรค์ ด้วยยุทธศาสตร์ พื้นที่สื่อสร้างสรรค์ 3 ดี ประกอบด้วย  “สื่อดี” หมายถึง สื่อที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ที่นำไปสู่การดำรงชีวิตที่ดี มีสุขภาวะ เช่น สื่อศิลปวัฒนธรรม อย่างดนตรีพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้าน หุ่นเงา สื่อภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาษาถิ่น ขนม อาหารพื้นบ้าน ของเล่นพื้นบ้าน เป็นต้น และยังรวมถึงสื่อออนไลน์สมัยใหม่ สื่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและทางสังคม รวมถึงสื่อกิจกรรมในระดับต่างๆ ทั้งในระดับครอบครัว โรงเรียนและชุมชน “พื้นที่ดี” คือ การออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์ทางกายภาพ ให้มีบรรยากาศที่เปิดกว้างต่อการเรียนรู้และ “ภูมิดี” หมายถึง ภูมิปัญญาใน การฉลาดรู้ ซึ่งหมายถึง การเท่าทันสื่อ เท่าทันตัวเอง เท่าทัน สังคม มีทักษะในการคิด วิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ อันจะ เป็นภูมิคุ้มกันในตัวเอง ครอบครัว และชุมชน ในการป้องกันภัย รอบด้านและสามารถจัดการกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่าง เหมาะสม


ครูวิภา เล่าว่า หลังจากผ่านการอบรมรวมถึงได้รับสื่อและงบประมาณจาก สสส. ทำให้การเรียนการสอนเป็นระบบมากขึ้น ชาวบ้านมองเห็นความสำคัญมากขึ้นเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาสถานที่ของ ศพด. เด็กทุกคนมีความสุขที่ได้เรียนรู้จากสื่อที่ดี ผู้ปกครองมีความไว้วางใจนำบุตรหลานเข้ามาเรียนเพิ่มขึ้นจนปัจจุบันศพด. มีจำนวนเด็กเข้าเรียนเพิ่มขึ้น 8 คน ซึ่งการจัดกระบวนการการเรียนรู้ของเด็กเล็กมีความสำคัญ ต่อการเรียนรู้ในอนาคต ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จึงเป็นสถานที่สำคัญ ที่เด็กๆ จะได้รับการพัฒนาสมอง การเรียนรู้ บุคลิกภาพ ทักษะชีวิต รวมทั้งการปลูกฝังการเป็นพลเมืองเด็ก


นอกจากสื่อการเรียนการสอน สถานที่สำหรับกิจกรรมทางกาย ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก โดยมี สนาม BBL เป็นสนามเด็กเล่นที่ช่วยพัฒนาสมอง โดยคุณครูวิภา เน้นให้ทราบว่า เมื่อเด็กออกกำลังกายร่างกายจะส่งเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันทาง ศพด. ได้ขอความร่วมมือจากชาวบ้าน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นให้เข้ามาร่วมในการส่งเสริมด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ หากได้รับการส่งเสริมและความร่วมมือย่างรอบด้านอย่างจริงจัง อนาคตของเด็กๆและคนในชุมชนย่อมจะยิ่งเกิดประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น


“เพราะครูเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยดำเนินการให้เด็กได้เรียนรู้อย่างเป็นกระบวนการ แม้ว่าตนจะไม่ได้เรียนจบครูมาโดยตรง แต่ด้วยใจรักที่อยากพัฒนาเด็กให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ทำให้ไม่เคยลดความพยายาม โดยเฉพาะการได้รับ การอบรมจากโครงการต่างๆ ทำให้ได้ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ในอนาคตเชื่อว่าศพด.ตำบลม่วงหวาน จะมีเด็ก และบุคลากรครูที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็น ศพด.ที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นต่อไป” ครูวิภา กล่าวทิ้งท้ายด้วยความเชื่อมั่น


ความสามัคคีร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการมุ่งมั่นในการทำงานอย่างจริงจังด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์คือหัวใจสำคัญของประเทศไทยที่จะก้าวขึ้นสู่การพัฒนา ที่ยั่งยืนในอนาคต


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า


 


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code