มุ่งสร้างสุขภาพดีแทนการซ่อมร่างกาย
ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
แฟ้มภาพ
ที่วัดอุปราช ตำบลท่าสงคอน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม นายแพทย์ไพบูลย์ อัศวธนบดี รองผู้อำนวยการฝ่ายปฐมภูมิ โรงพยาบาลมหาสารคาม เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการชุดวิทยากรหลักสูตรแพทย์วิถีธรรม ตามโครงการสร้างครอบครัวสุขภาพดีวิถีธรรม เพื่อชาวร้อยแก่นสารสินธุ์ไร้พุงไร้โรค โดยดำเนินการอบรมบุคลากรสาธารณสุขให้เป็นวิทยากรระดับอำเภอ และตำบลในพื้นที่ จำนวน 200 คน ระยะเวลา 3 วัน คือตั้งแต่วันที่ 19-21 กันยายน 2560
โดยเน้นการปฏิบัติจริงเป็นฐานการเรียนรู้ 5 ฐานปฏิบัติการ และฐานรวม 1 ฐาน เพื่อให้วิทยากรนำความรู้ประสบการณ์ไปจัดอบรมประชาชนกลุ่มเป้าหมายใน 4 จังหวัดของเขตสุขภาพที่ 7 ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ โดยคณะวิทยากรจากจังหวัดกาฬสินธุ์ และจิตอาสาจากสวนป่านาบุญ และได้รับความกรุณาจากอาจารย์ ดร.ใจเพชร กล้าจน หรือหมอเขียว ประธานมูลนิธิแพทย์วิถีธรรมแห่งประเทศไทย มาบรรยายพิเศษในภาคเช้านี้ หัวข้อ “บทเรียนการแพทย์วิถีธรรมและการสร้างจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมกับการสร้างความผาสุกของมวลมนุษยชาติ” งบประมาณในการดำเนินการได้การสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 7 จังหวัดขอนแก่น
นายแพทย์ไพบูลย์ อัศวธนบดี รองผู้อำนวยการฝ่ายปฐมภูมิ โรงพยาบาลมหาสารคาม กล่าวว่า การรวมพลังกันขับเคลื่อนโครงการสร้างครอบครัวสุขภาพดีวิถีธรรม เพื่อชาวร้อยแก่นสารสินธุ์ไร้พุงไร้โรค ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาโรคภัยสุขภาพโดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อหรือ NCD มีขนาดปัญหาและความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะ 5 โรควิถีชีวิตที่สำคัญ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง ไตวาย โดยพบว่า มีผู้เสียชีวิตจาก 5 โรคดังกล่าวปีละมากกว่า 97,900 คน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดที่มีปีละประมาณ 3 แสนคน เฉลี่ยชั่วโมงละ 11 คน โดย 2 ใน 3 มีอายุน้อยกว่า 60 ที่ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่คุกคามคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย เพราะเป็นโรคที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรควิถีชีวิตอื่นๆ และเป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและสูญเสียชีวิตของประชาชนไทย
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ จึงร่วมมือกันนำหลักการสร้างสุขภาพดี ด้วยการใช้หลัก 5 อ. คือ อาหาร อากาศ ออกกำลังกาย อารมณ์ เอาพิษออก รวมทั้งการนำหลักธรรมของพระพุทธเจ้าในการลดละกิเลส สร้างคุณงามความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส และการใช้แพทย์วิถีธรรม 9 ขั้นตอน หรือ ยา 9 เม็ด อันประกอบด้วย 1.การรับประทานสมุนไพรปรับสมดุล 2.การกัวซาหรือขูดซาหรือขูดพิษหรือขูดลม 3.การดูแลสุขภาพลำไส้ใหญ่ 4.การแช่มือแช่เท้าในน้ำสมุนไพร 5.การพอก ทา หยอด ประคบ อบ อาบ ด้วยสมุนไพร 6.การออกกำลังกาย กดจุดลมปราณ โยคะ กายบริหาร 7.การรับประทานอาหารปรับสมดุลร่างกาย 8. ใช้ธรรมะ ทำใจให้สบาย ผ่อนคลายความเครียด 9. รู้เพียร รู้พักให้พอดี ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจะมุ่งมีสุขภาพดีด้วยการพึ่งตนเอง โดยผู้เข้ารับการอบรมจะได้นำความรู้และประสบการณ์ จากหลักสูตรไปขับเคลื่อนโครงการให้เกิดผลจริงเป็นรูปธรรม และพัฒนาไปสู่การสร้างสุขภาพดีแก่ประชาชนทั่วประเทศต่อไป
ดร.สม นาสอ้าน หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศระยะ 20 ปี มีเป้าประสงค์ที่สำคัญคือให้คนไทยอายุคาดเฉลี่ย 85 ปี สุขภาดี 75 ปีไม่ป่วย สู่การบรรลุเป้าหมาย ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศหรือ 4 Excellence คือ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค การบริการ การพัฒนาคน และการบริหารจัดการ ซึ่งการขับยุทธศาสตร์และนโยบายสู่การปฏิบัติจะต้องค้นหารูปแบบและนวัตรกรรมในการทำงานตามนโยบาย Thailand 4.0 ให้เขตสุขภาพกำหนดเขตละ 1 ประเด็น ซึ่งเขตสุขภาพที่ 7 ได้เลือกประเด็นวิถีธรรมเป็นข้อเสนอการพัฒนาระยะ 5 ปี เพราะแพทย์วิถีธรรม ถือเป็นการบูรณาการของศาสตร์หรือองค์ความรู้ด้านสุขภาพต่างๆ มาใช้ได้จริง โดยเน้นหลักพึ่งพาตนเอง และสร้างสุขภาพดี แทนการซ่อมหรือการรักษา โดยตั้งเป้าหมายให้กลุ่มผู้เข้าร่วมอบรมนำความรู้ไปเผบแพร่แก่ อสม. แกนนำสุขภาพครอบครัว กลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วยด้วยโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ จำนวน 4,000 คน ของพื้นที่ 40 หมู่บ้าน 38 อำเภอ ใน 4 จังหวัดของเขตสุขภาพที่ 7