‘มุมนมแม่’ ในที่ทำงาน สานอนาคตเด็กไทย

          ด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้แม่ยุคใหม่หลายคนต้องรีบกลับสู่ระบบการทำงานก่อน 3 เดือนหลังคลอด ส่งผลให้ลูกน้อยต้องหย่านมเร็วขึ้นหรือได้กินนมแม่อย่างไม่ต่อเนื่อง… 


/data/content/25317/cms/e_bhijkmrwx136.jpg


         ด้วยเหตุนี้สถานประกอบการจึงถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมเด็กไทยให้ได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ “รศ. กรรณิการ์ วิจิตรสุคนธ์” กรรมการ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เล่าถึงเหตุผลที่ต้องจัดให้มี “มุมนมแม่” ในสถานที่ทำงานว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แม่หลังคลอดได้บีบน้ำนมเก็บไว้ให้ลูกน้อยได้ดื่มกิน


          “ปัญหาเดิมคือ แม่หลังคลอดที่กลับมาทำงาน ไม่สะดวกในการบีบเก็บน้ำนม  ทั้งที่บางคนตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จริงๆ แต่พอถึงเวลากลับต้องมาแอบบีบน้ำนมในห้องน้ำบ้าง ซึ่งอาจจะไม่สะอาดและไม่มีความเป็นส่วนตัว พอเด็กไม่ได้กินนมแม่ ก็อาจจะได้กินนมผสม อีกทั้งแม่เองจะคัดเต้านม และน้ำนมก็ค่อยๆ แห้งไป” รศ. กรรณิการ์เล่า


        ‘มุมนมแม่’ มีดีอย่างไร?


          รศ. กรรณิการ์เล่าต่อว่า เมื่อมีมุมนมแม่ในสถานประกอบการแล้ว เด็กก็ได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่อง เกิดการเจ็บป่วยน้อยลง เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่านมแม่มีประโยชน์และดีที่สุดสำหรับลูกน้อย เด็กที่กินนมแม่ก็จะมีพัฒนาการเด็กที่ดีเพราะได้รับสารอาหารครบถ้วน เมื่อลูกน้อยแข็งแรง แม่ก็ลางานน้อย ซึ่งส่งผลดีต่อผลผลิตของบริษัทตามมา


/data/content/25317/cms/e_cdefmnopquz9.jpg


          และอีกอย่างก็จะเกิดเป็นสังคมเล็กๆ ของคุณแม่ที่มาบีบน้ำนมพร้อมกัน เป็นช่วงเวลาที่จะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กัน ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกให้คงอยู่ แม้ว่าแม่ลูกอาจจะอยู่ไกลกันก็สามารถส่งน้ำนมให้ลูกกินได้ ทั้งยังช่วยให้แม่ประหยัดเงินด้วย


          สร้าง “มุมนมแม่” ง่ายนิดเดียว


          “เราพยายามจะบอกว่า มุมนมแม่ในสถานประกอบการนั้น ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก เพียงแต่จัดมุมๆ หนึ่งขึ้นมาในห้องไหนก็ได้ ที่ทำให้แม่รู้สึกถึงความปลอดภัยในการบีบเก็บน้ำนม และส่วนใหญ่ก็จะเลือกห้องพยาบาล และมีพยาบาลที่คอยให้คำแนะนำได้ด้วย ที่สำคัญคือ มีที่นั่งให้แม่ มีโต๊ะสำหรับวางอุปกรณ์ มีที่ล้างมือให้แม่ และตู้เย็นเก็บนมที่บีบแล้ว เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องง่ายมากที่จะจัดทำมุมนมแม่ขึ้นมา” รศ. กรรณิการ์เล่าต่อ


          แต่ปัญหาคือ เจ้าของโรงงานหรือสถานประกอบการอาจจะยังไม่เห็นความสำคัญ หรือไม่มีความรู้ความเข้าใจมากพอ ดังนั้นทางศูนย์นมแม่ฯ จึงได้มีโครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตสตรีวัยทำงานและครอบครัว โดยเปิดรับสมัครสถานประกอบการเพื่อเข้ารับการอบรมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเกิดเครือข่ายการปฏิบัติการร่วมกัน ทั้งการจัดอบรมวิทยากร (Trainer and Facilitator) การสร้างต้นแบบและเกิดการสร้างเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง


/data/content/25317/cms/e_cfghijmnstz1.jpg


          ทั้งนี้โรงงานหรือสถานประกอบการใดที่สนใจ สามารถประสานขอข้อมูลมาที่มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยเพื่อจัดส่งชุดข้อมูลความรู้ เอกสาร หนังสือคู่มือและสื่อต่างๆ ที่จะสามารถนำไปไว้ใช้ที่มุมนมแม่ได้ ที่เว็บไซต์ http://www.thaibreastfeeding.org


          ใครๆ ก็รู้ว่าอาหารที่ดีที่สุดสำหรับเด็กแรกเกิด คือ “นมแม่” ทุกคนมีส่วนที่จะต้องช่วยกันสร้างเด็กไทยเพื่อให้เป็นเด็กที่มีคุณภาพ ถ้าสถานประกอบการให้ความร่วมมือ แม่หลังคลอดมีความสุข เด็กที่ได้กินนมมีสุขภาพดี อนาคตของประเทศ ก็ย่อมเติบโตและมีแนวโน้มที่ดี


          เพราะ “นมแม่คือหลักชัย ปกป้องโรคภัยตลอดชีวิต”


 


 


          เรื่องโดย ภาวิณี เทพคำราม Team Content www.thaihealth.or.th


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code