‘มือเท้าปาก’ เสี่ยงระบาดสูง เฝ้าระวังพิเศษ ‘หน้าฝน’
สำนักอนามัย เผยสถิติผู้ป่วยมือ เท้า ปาก เพิ่มสูงขึ้น และมักเกิดในเด็กที่มาอยู่รวมๆ กัน แนะประชาชนในพื้นที่ กทม. ที่มีบุตรหลานให้ดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะมีความเสี่ยงสูงต่อการระบาด
พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งมักจะมีโรคระบาดเกิดขึ้นตามมา เช่น โรคมือ เท้า ปาก โรคฉี่หนู ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ที่พบว่าขณะนี้ทั่วประเทศมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อระบุแน่ชัด อย่างไรก็ตาม กทม. มีความเป็นห่วงในเรื่องของการแพร่ระบาดเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เท่าที่ทราบจากตัวเลขสถิติผู้ป่วยของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปี 2556 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 2 มิ.ย. พบผู้ป่วยมือ เท้า ปากแล้วประมาณ 11,678 ราย แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 1 ปี พบร้อยละ 31 รองลงมาคืออายุ 2 ปีพบร้อยละ 25 และ 3 ปีพบร้อยละ 17
ทั้งนี้ โรคนี้มักเกิดในเด็กที่มาอยู่รวมกัน มาก ๆ ซึ่งในกรุงเทพฯ ก็มีโรงเรียนอยู่หลายแห่ง รวมถึงในช่วงนี้มีฝนตกทั่วพื้นที่ จึงเสี่ยงต่อการระบาดของโรคนี้ จึงขอฝากเตือนไปยังประชาชนที่มีบุตรหลานให้ดูแลพวกเขาอย่างใกล้ชิด แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ในพื้นที่ของ กทม.ยังไม่พบการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว แต่ก็ได้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะมีการระบาดเกิดขึ้นได้ เพราะกรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงที่มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อาจมีการไปสัมผัสในที่สาธารณะโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น ป้ายรถเมล์และศูนย์การค้าต่าง ๆ ได้
พญ.วันทนีย์ กล่าวต่อว่า วิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก คือควรล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังรับประทานอาการรวมถึงหลังขับถ่ายทุกครั้ง รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ควรใช้ช้อนกลาง และไม่ใช้หลอด แก้วน้ำ ช้อน ขวดนม ร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย ควรแยกเด็กป่วยจากเด็กปกติ และควรหยุดเรียนจนกว่าจะหายป่วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ผู้ดูแลเด็กต้องตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และรีบล้างมือให้สะอาดโดยเร็วหลังเช็ดน้ำมูกน้ำลาย หรือเปลี่ยนผ้าอ้อม เสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระ และควรทำความสะอาดพื้น เครื่องใช้และของเล่นเด็กอย่างสม่ำเสมอด้วย โดยเฉพาะในโรงเรียนที่มีเด็กอยู่เป็นจำนวนมากให้ดูแลเรื่องหลักอนามัยให้ถูกต้อง คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ รวมทั้งดูแลความสะอาดของอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ลูกบิดประตู คอมพิวเตอร์ โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น ซึ่งถ้าทำสิ่งเหล่านี้อย่างอย่างจริงจังจะสามารถป้องกันได้แทบจะทุกโรคที่มาพร้อมหน้าฝน
เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคมือ เท้า ปากโดยเฉพาะ เป็นเพียงแค่การรักษาตามอาการเท่านั้น ทั้งนี้ หากผู้ปกครองพบว่าบุตรหลานมีการไข้ขึ้นสูง 1-2 วัน และมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บภายในช่องปากและลำคอ ปวดเมื่อยตามร่างกายคล้ายเป็นหวัด ในปากมีแผลเหมือนเป็นร้อนในและมีผื่นเป็นจุดแดงอักเสบที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือที่ก้น รวมถึงหากมีอาการชักให้รีบปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์