มิติโลก ‘เสพติด’ คือป่วยต้องรักษา
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์คม ชัด ลึก
การลงโทษที่ได้สัดส่วน เหมาะสมกับพฤติการณ์กระทำผิด การปรับทัศนคติยอมรับว่า ผู้เสพ คือผู้ป่วย ต้องได้รับการบำบัดรักษา เป็นทิศทางผลักดันเพื่อจัดการกับปัญหายาเสพติดในปัจจุบันที่เป็นปัญหาของทั่วโลก
การรับรู้ถึงทิศทางที่เริ่มเปลี่ยนไปในส่วนของประเทศไทยผ่านมาราว 2 ปี นับจากที่มีการออกมาระบุถึงผลประชุมสมัยพิเศษสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเรื่องยาเสพติด (UNGASS 2016) ที่ส่งผลให้หลายประเทศต้องกลับมาทบทวนมาตรการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่แตกต่างไปจากเดิมที่ทำกันมานานหลายสิบปีอย่างการมุ่งปราบปรามหนัก แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถเอาชนะยาเสพติดได้ ในทางกลับกันประเทศที่หันไปใช้ระบบสาธารณสุขเข้าไปบำบัดฟื้นฟู โดยทำอย่างเป็นระบบแยกผู้เสพออกมารักษา ขณะที่ยังคงโทษรุนแรงสำหรับผู้ค้า ผลที่ได้ปรากฏว่าปริมาณการใช้ยาเสพติดมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างประเทศโปรตุเกสที่ปรับวิธีแก้ปัญหานำหน้าไปนานกว่า 10 ปีแล้ว
ดังนั้น ไม่แปลกที่โลกจะเริ่มเปลี่ยนทิศทาง เพื่อให้เป้าหมายถูกจัดการได้ดีขึ้น สำหรับประเทศไทยต้องยอมรับว่ายังมีอุปสรรคสำคัญคือการสร้างความรับรู้ และเข้าใจกับสังคมว่านี่ไม่ใช่การ "อ่อนข้อ" แต่ถึงเวลาต้องเรียนรู้วิธีจัดการแบบใหม่
การเพิ่มการเรียนรู้ถึงแนวทางที่กำลังจะเปลี่ยนไป ตลอดจนการรับฟังมิติใหม่ ๆ ที่โลกกำลังพูดถึงจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเติมเต็มความเข้าใจของประชาชนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีหนึ่งเวทีสัมมนาสำคัญที่มักหยิบยกประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์ยาเสพติดมาสร้างแรงขับเคลื่อนให้สังคม ซึ่งล่าสุดมีการเปิดเผยข้อมูลถึงพฤติการณ์ "การเสพติด" อีกหลายประเภทในโลกปัจจุบันที่น่ากังวลและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตไม่น้อยกว่าการเสพยาเสพติด
โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชร กิติยาภา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนาหัวข้อ "การเสพติด ย้อนอดีตสู่อนาคต" : "ปัญหาและทางออก" ในโอกาสนี้มีการนำข้อมูลตั้งแต่ที่มาของการเสพติดไปจนถึงผลการวิจัยที่น่าสนใจมานำเสนอมิติของการเสพติดในรูปแบบที่เรียกว่า การเสพติดพฤติกรรม (Behavioral Ad-dictions) เช่น การสูบบุหรี่ กินเหล้า การพนัน การเล่นสื่อโซเชียล การมีเพศสัมพันธ์ ชอปปิง กระทั่งการทำงานในลักษณะที่หมกมุ่นมากเกินไปและส่งผลเสียหายทั้งเสียเวลา ทรัพย์สิน สุขภาพหรือสังคมได้เช่นกัน
ข้อมูลระบุคำว่า การเสพติด พบเริ่มใช้มานานตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ เพื่อหมายถึงการเชื่อมโยงกับบางสิ่งอย่างแนบแน่น แต่ต่อมาการเสพติดถูกนำไปใช้อธิบายถึงพันธะที่แยกขาดจากกันได้ยาก ในระยะแรกคำนี้ไม่ได้เป็นสิ่งรุนแรง กระทั่งในทศวรรษที่ 1800 ที่มีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์รื้อฟื้นมาใช้หลังนักเคมีค้นพบวิธีสังเคราะห์โคเคน การพยายามออกห่างจากยาเสพติดเป็นสิ่งที่ทำยากขึ้น และคำว่าการเสพติด จึงถูกตีความเป็นการติดยาเสพติดมาโดยตลอด
ที่ผ่านมาสิ่งที่อยู่ในความเข้าใจของคนเกี่ยวกับการทำให้เสพติดมีเพียงไม่กี่อย่าง ยาเสพติด เหล้า บุหรี่ อย่างไรก็ตาม ด้วยพฤติกรรมการเสพติดที่หมายถึง การทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่อาจหักห้ามใจได้แม้จะส่งผลเสียต่อชีวิต ทำให้พฤติกรรมเสพติดของคนไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากยาเสพติดเหมือนที่นักประสาทวิทยาเคยมีความเชื่อมาก่อน
ขณะนี้มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการเสพติดพฤติกรรม ทำให้เกิดการตอบสนองในสมองด้วยรูปแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นหลังการใช้ยาเสพติด ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากจึงยอมรับความคิดว่า การเสพติดไม่จำเป็นต้องมียาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้องก็ได้
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในหัวข้อสัมมนาดังกล่าวว่า ขณะนี้ยังพบการใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในการจัดการปัญหายาเสพติด ทั้งที่ควรใช้ระบบสาธารณสุขหรือวิธีทางการแพทย์ เพราะโลกกำลังพูดถึงสิ่งเสพติดที่มีผลต่อสมอง สิ่งเสพติดและยาเสพติด ถือเป็นโรคทางสมองจึงต้องแก้ด้วยแพทย์ไม่ใช่กระบวนการทางอาญา ที่ผ่านมามีการต่อสู้กับยาเสพติดกันมานานแต่ก็ยังไม่สามารถปรับทัศนคติของคนว่า การนำผู้เสพมาเข้าเรือนจำไม่ช่วยให้เลิกเสพได้ ยกตัวอย่างประเทศเยอรมนีและประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียคนเสพติดไม่ถูกจับเข้าเรือนจำเพราะไม่มีทางเอาชนะได้ ปัญหาจึงอยู่ที่จะอยู่กับมันอย่างไร การแก้กฎหมายยาเสพติดที่ดำเนินการไม่ได้ทำเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ เพราะนี่ไม่ใช่การปล่อยอาชญากร แต่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดคือเข้าไปแก้ไขอาการทางสมอง
ด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ยุติธรรม ระบุ ข้อมูลของกรมแพทย์ทหารสหรัฐยืนยันข้อมูลเรื่องที่วงการวิทยาศาสตร์พูดมาโดยตลอดว่า การเสพติดเป็นโรคอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ความล้มเหลวทางศีลธรรม ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปมองสังคมในอดีตรูปธรรมของการเสพติดและพฤติกรรมเสพติดคือ สภาวะคนล้นคุก เมื่อโทษจำคุกถูกนำมาใช้แก้ปัญหาป้องกันความเสี่ยง และเชื่อว่ามาตรการทางอาญามีผลต่อการควบคุมสังคมมากที่สุด ซึ่งสวนทางในความเป็นจริงที่เรือนจำกลายเป็นสถานที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเมื่อ 60 ปีก่อน ประเทศไทยมีนักโทษแค่ 6,000 คน ต่อมาปี 2520 เพิ่มเป็น 75,000 คน กระทั่งปัจจุบันมีกว่า 340,000 คน มากเป็นอันดับ 6 ของโลก และเทียบได้กับประชากรของไอซ์แลนด์ทั้งประเทศ นักโทษไม่น้อยกว่า 220,000 คน ต้องโทษคดียาเสพติด ดังนั้นจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ออกไปทำประโยชน์ให้สังคมและครอบครัวได้
ขณะที่ ศาสตราจารย์บรูซ อเล็กซานเดอร์ (Prof.Bruce Alexander) จากมหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ ประเทศแคนาดา กล่าวตอนหนึ่งของการนำเสนอให้เห็นถึงพฤติกรรมการเสพติดว่า การเสพติดเกิดขึ้นได้กับสิ่งต่าง ๆ การจัดการไม่สามารถทำได้โดยนโยบาย ปัญหาการเสพติดถือเป็นครูที่สอนให้รู้ว่ามันมีพลังมหาศาล ทุกวิธีที่เราเรียนรู้ อาจแก้บางอย่างได้เท่านั้น สถานการณ์ปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่าวิธีการโลกสมัยใหม่ที่ใช้กันอาจยังไม่เพียงพอ เพราะหากได้ผลก็คงจะเห็นผลลัพธ์กันไปนานแล้ว แต่ทำไมที่ผ่านมาเราต่างใช้เวลาแสนนาน แต่ก็ยังแก้ไขไม่ได้ ทำได้แค่การควบคุมแต่ปัญหายังคงอยู่ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จำเป็นต้องพิจารณาปัญหาแบบโลกาภิวัตน์ ต้องตัดคำตอบที่ใช้เวลา ใช้งบ ใช้ความพยายามมหาศาลทดลองกันไปแล้ว แต่ไม่ได้ผลออกไป
ทั้งนี้ เคยมีโอกาสได้พูดคุยกับลูกชายเพื่อนสนิทที่เสพกัญชาและดื่มแอลกอฮอล์ตลอดชีวิต ทำให้พบว่าปัญหายาเสพติดทรงพลังมาก หลายวิธีการไม่พอที่จะแก้ไข ที่รัฐแวนคูเวอร์หลายสิบปีก่อนเคยต้องเผชิญหน้ากับโรคพิษสุราเรื้อรัง มีการจัดการปัญหาด้วยกฎหมายห้ามขาย แต่พอยกเลิกปัญหาก็กลับมาอีก ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนมาเป็นการทำให้ถูกกฎหมาย มีการจำกัดอายุ และบำบัดในกลุ่มที่ต้องรักษา โลกาภิวัตน์ในยุคนี้การเสพติดในโลกสมัยใหม่จะเป็นปัญหาสำคัญมาก
สำหรับการเสพติดในสังคมปัจจุบัน เช่น เสพติดสื่อลามก เสพติดอีเมล เสพติดเฟซบุ๊ก เสพติดอินสตาแกรม เสพติดการซื้อสินค้าทางออนไลน์ ก่อนหน้านี้มีการศึกษาถึงพฤติกรรมเสพติดเพื่อสร้างตระหนักเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยองค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศใช้การจัดกลุ่มโรคฉบับปรับปรุงใหม่ในเวอร์ชั่น ICD-11 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือมีการเพิ่มชื่อโรคในกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้นถึง 55,000 รายชื่อ จากเดิมที่มีเพียง 14,400 รายชื่อ การเพิ่มชื่อโรคแบบใหม่นี้เป็นไปเพื่อให้สอดรับกับความรู้ใหม่เกี่ยวกับโรคที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การเพิ่มโรคติดเกมในกลุ่มโรคของการสูญเสียความสามารถในการควบคุมตัวเอง โดยให้การวินิจฉัยเมื่อพฤติกรรมเข้าเกณฑ์ต่อเนื่องอย่างน้อย 12 เดือน
การพยายามชี้ให้เห็นถึงมิติใหม่ ๆ เพื่อปรับทัศนคติการมองและความเข้าใจเกี่ยวกับการเสพติด นับเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับช่วงเปลี่ยนผ่านที่ต้องอาศัยความเข้าใจเพื่อให้เป็นที่ยอมรับตรงกัน