‘มิตรผล’ เติมคุณค่าร่วมให้ธุรกิจและสังคม

หลายปีมานี้ น้ำตาลมิตรผลพยายามต่อยอดความสัมพันธ์ จาก "โรงงานน้ำตาล" กับ  "ชาวไร่อ้อย" มาสู่ "การดำเนินธุรกิจ อย่างยั่งยืน" ที่เติบโตไปพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในชุมชน"


\'มิตรผล\' เติมคุณค่าร่วมให้ธุรกิจและสังคม thaihealth


คมกริช นาคะลักษณ์ กรรมการโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน กลุ่มมิตรผล บอกว่า แนวคิดการเพิ่มผลผลิตในไร่อ้อยเพื่อรายได้ที่มากขึ้น ไม่เพียงพอสำหรับการบริหารจัดการองค์กรอีกต่อไปแล้ว แต่การหมั่นเติมเต็มความหมายดีๆ ในใจคน สิ่งที่ได้กลับมาจะมากกว่ารายได้ เป็นการขยายฐานคุณค่าในทุกฤดูกาล  ไม่เฉพาะแต่ช่วงปิดหีบ


ต้นเดือนพ.ค. 2558 ที่ผ่านมา มิตรผลเพิ่งประกาศความร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดตัวโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ถือเป็นแบบอย่างความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ในการสร้างคุณค่าร่วมให้กับสังคม (Creating Shared Value : CSV) โดยผสานจุดแข็งของแต่ละฝ่าย ช่วยกันพัฒนาชุมชนให้มีสุขภาวะที่เข้มแข็ง


โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นการสานต่อจากโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิต ที่มิตรผลริเริ่มเอาไว้ตั้งแต่ปี 2545 โดยเป็นการเชื่อมโยงระหว่างฮาร์ดแวร์ (เทคโนโลยีการจัดการ) กับซอฟต์แวร์ (การพัฒนาชาวไร่อ้อยและชุมชน) เพื่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่


"เป้าหมายใหม่โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง เรามุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ ให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้มากกว่ารายจ่าย มีรายได้เสริม จากการทำอาชีพอะไรก็ได้ที่ไปลดรายจ่าย เช่น ปลูกผัก เลี้ยงปลา ขณะที่ในด้านสังคม เรามุ่งสร้างชุมชนให้มีภาวะผู้นำ เป็นผู้นำ ในเชิงของการพัฒนา ไม่ใช่ผู้นำแบบมหาดไทย ที่ต้องคอยรับคำสั่งจากส่วนกลาง และในด้านของสิ่งแวดล้อม เน้นการมี สุขภาวะที่ดี มีน้ำประปาหมู่บ้าน สุดท้าย คือ ด้านจิตใจ คุณธรรมจริยธรรม  ความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพ"   มิตรผลมีหมู่บ้านในพอร์ตน้ำตาลอยู่ประมาณ 500- 600 แห่ง การเลือกชุมชน เข้มแข็ง คัดมาจากชุมชนต้นแบบที่มีศักยภาพ สามารถเอาไปขยายผลต่อได้  เขาบอกว่า มิตรผลเก่งในเรื่องของการทำ ให้คนมีเงิน จากการลงทุนลงแรงขยันทำงาน ดังนั้นไม่ว่าจะปลูกพืชอะไร  ต้องขายได้หมด ไม่ใช่ยิ่งปลูกยิ่งจน


"ข้อดีของการปลูกอ้อยคือ ต้องมีสระน้ำ ซึ่งชาวไร่สามารถสร้างประโยชน์จากสระน้ำได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงปลา  ปลูกผักปลอดสาร ทำปุ๋ยหมัก หรือสร้างหมู่บ้านให้มีสถานะเป็นตลาดสีเขียว สิ่งที่ยากสำหรับการเปลี่ยนแปลงคือ การเปลี่ยนวิธีคิด ทำให้คนในพื้นที่เข้าใจได้ว่า  การเปลี่ยนแปลงทำให้ชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร และการเคยชินกับสิ่งที่เคยทำมา อย่างเช่น การเผาอ้อย สร้างผลกระทบระยะยาวต่ออาชีพที่ทำอย่างไร"


ก่อนหน้านี้มิตรผลเคยประกาศรับซื้อ ผักปลอดสารพิษจากชุมชนทั้งหมด  เพื่อเอามาทำอาหารเลี้ยงพนักงานในโรงงานที่มีกว่าพันคน เป็นการสร้างความเชื่อมั่น ให้กับชาวไร่ว่า หลังฤดูกาลปิดหีบแล้วชาวไร่สามารถสร้างรายได้แบบพอมีพอกินได้ โดยไม่ต้องเข้ามาขายแรงงานในเมืองหลวง แต่ผ่านไปหลายเดือนมิตรผลยังไม่เคยได้ กินผักจากชุมชนเลย เพราะถึงเวลาที่ลงมือปลูกจริง จะมีตลาดชุมชนซื้อขายกันเอง ในระหว่างหมู่บ้าน รวมถึงมีพ่อค้ามารับซื้อผักปลอดสารไปขายต่อ ทำให้เศรษฐกิจ ไหลเวียน และชุมชนก็เริ่มอยู่ได้ด้วยตัวเอง ท้ายที่สุดก็กลายเป็น "ชุมชนสีเขียว"  ที่หลายหมู่บ้านแห่กันมาดูงาน


คมกริชเป็นกำลังสำคัญของมิตรผล ที่เพิ่งถูกโปรโมทให้มารับตำแหน่งทางด้านการบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืนได้ไม่นาน โดยกอปรรวมเอาหน่วยงานทางด้านสื่อสาร ด้านองค์กรสัมพันธ์ ด้านบริหารความเสี่ยง และความยั่งยืนของกิจการ เข้ามาไว้ด้วยกัน รวมถึงผนวกรวมแนวคิดซีเอสอาร์แบบดั้งเดิม เช่น งานบุญ งานกฐิน เข้ากับซีเอสอาร์ สมัยใหม่ ที่กระแสเรียกร้องให้ธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น


"เราเติบโตมาจากครอบครัวชาวไร่ เวลาทำอะไรจะคิดถึงใจเขาใจเราเป็น เรื่องหลัก เพราะธุรกิจโตคนเดียวไม่ได้ ต้องเอาคนรอบข้างโตไปด้วยกัน ไม่ว่า ทำธุรกิจอะไรจึงต้องสร้างความเจริญ  และต้องดูแลคนทุกคน เป็นสโลแกน การทำธุรกิจ ที่ทำให้เราประสบความสำเร็จทุกวันนี้" เขากล่าวสรุป


"เรามุ่งสร้างชุมชน ให้มีภาวะผู้นำ  เป็นผู้นำในเชิงของการพัฒนา ไม่ใช่ผู้นำแบบมหาดไทย  ที่ต้องคอยรับคำสั่งจากส่วนกลาง"


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code