มาลาเรียคร่าชีวิตทั่วโลกปีละ 1 ล้านคน

 

มาลาเรียคร่าชีวิตทั่วโลกปีละ 1 ล้านคน

สถานการณ์โรคมาลาเรียในแต่ละปีมีประชากรที่ติดเชื้อมาลาเรียทั่วโลกประมาณ 300 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณ 1 ล้านคน ในจำนวนนี้เกือบ 9 แสนคน หรือ ร้อยละ 90 เกิดขึ้นในแอฟริกา ส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตรด้านการป้องกันควบคุมโรคมาลาเรีย หรือ international course on malaria prevention and control ให้กับบุคลากรในด้านการป้องกันและรักษาโรคมาลาเรียของประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ว่าการอบรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (japan international cooperation agency : jica) และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ(thailand international development cooperation agency : tica)

สำหรับสถานการณ์โรคมาลาเรีย พบว่า ในแต่ละปีมีประชากรที่ติดเชื้อมาลาเรียทั่วโลกประมาณ 300 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณ 1 ล้านคน ในจำนวนนี้เกือบ 9 แสนคน หรือ ร้อยละ 90 เกิดขึ้นในแอฟริกา ส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ส่งผลให้องค์การอนามัยโลก (who) จัดให้โรคมาลาเรียเป็น 1 ใน 4 โรคที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนนอกเหนือจากโรคเอดส์ ไข้เลือดออกและวัณโรค ส่วนสถานการณ์โรคมาลาเรีย ปี 2554 ในประเทศไทย พบผู้ป่วยทั้งหมด 29,025 ราย แยกเป็นผู้ป่วยคนไทย จำนวน 11,013 รายผู้ป่วยชาวต่างชาติ จำนวน 18,012 ราย แยกเป็นรายจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับ จ.ตาก ผู้ป่วยไทย 2,676 ราย ผู้ป่วยต่างชาติ 9,484 ราย จ.กาญจนบุรี ผู้ป่วยไทย 1,250 ราย ผู้ป่วยต่างชาติ1,733 ราย จ.ศรีสะเกษ ผู้ป่วยไทย 816 ราย จ.แม่ฮ่องสอน ผู้ป่วยไทย811 ราย ผู้ป่วยต่างชาติ 524 ราย และ จ.ยะลา ผู้ป่วยไทย 714 ราย

“โรคมาลาเรียส่วนมากเกิดขึ้นตามชายแดน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเขาและมียุงก้นปล่องอันเป็นพาหะนำโรค ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนวางใจกับมาตรการการควบคุมและป้องกันโรคมาลาเรีย เนื่องจากไทยมีทั้งการตรวจคัดกรองและการให้การรักษาที่ดีอยู่แล้ว แค่เพียงป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากยุงก้นปล่อง และสวมเสื้อผ้ามิดชิดหากอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยง” นพ.พรเทพ กล่าว

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code