“มาร็องดู” ละครของผู้ไร้เสียง สะท้อนความนัยของผู้ถูกกดขี่

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ภาพโดยสสส.



"การรณรงค์ไม่ได้ช่วยสังคมเปลี่ยนแปลงเพราะไม่ได้ฝึกการกระทำ มัวแต่บ่น การบ่นคือการยอมรับว่าจะไม่ทำ เพราะระบายไปแล้วไม่มีความต้องการที่จะทำอะไร"


ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย หรือ "ฉั่ว" ผู้ก่อตั้งคณะละครมาร็องดู คำว่า  มา-ร็อง-ดู มาจากคำภาษาไทย มา ลองดู คือการจัดแสดงให้ผู้ชมได้เข้ามามีส่วนร่วมแทนที่จะนั่งชมเฉยๆ สะท้อนความเป็นไปในสังคมไทยในเวลานี้ท่ามกลางสิ่งเร้าของสังคมโซเชียลไม่พอใจสิ่งใดมักระรัวต่อว่ากันผ่านคีย์บอร์ด


ในการประชุมวิชาการและ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ"Voice of the voiceless: the vulnerable populations" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กิจกรรมละครสำหรับผู้มีความต้องการพิเศษ เรียกว่า "ละครของผู้ไร้เสียง" เทคนิคละครของผู้ถูกกดขี่ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มบุคคลทุกกลุ่มทั้ง คนไร้บ้าน  ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มเจ้าหน้าที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับ คนเหล่านี้ มาสะท้อนปัญหาเล่าถึงอุปสรรค หรือความกดดันกดขี่ ที่ต้องเจอผ่านละคร ซึ่งเป็นอีกช่องทางการสื่อสารที่แตกต่างจากการสื่อสารในรูปแบบเดิมๆ ที่เราเคยชิน ไม่ว่าการบอกเล่าผ่านน้ำเสียง การเขียน โดยไม่จำเป็นว่าคนผู้ถูกกดขี่จะต้องผ่านโรงเรียนการแสดง แต่ทุกคนสามารถเข้าสู่กิจกรรมนี้ได้



ศรชัย อธิบายว่า ให้ชื่อละคร ดังกล่าวแบบภาษาไทยว่า "ละครแทรกสด" ภายใต้สโลแกนที่ว่า "สังคมเลวเพราะคนเฉย" ซึ่งคณะละครขับเคลื่อนสังคม มาร็องดู หวังจะกระตุกเตือนให้คนลุกขึ้นมา เปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการแสดง เชื้อเชิญ ให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมจากแนวคิด "ปัญญาปฏิบัติ" (praxis) ของเปาโล แฟรเร (Paolo Freire) นักการศึกษา ผู้มีชื่อเสียงของโลก ได้แต่งหนังสือชื่อ "การศึกษาของผู้ถูกกดขี่" เปลี่ยนแปลงแนวความคิดเรื่องการศึกษาเพื่อรับใช้ทุนให้กลายเป็นการศึกษาเพื่อการปลดปล่อยและเพื่อสร้างอิสรภาพและเสรีภาพของโลก แนวความคิดนี้ทำให้นักการละครที่มีชื่อว่าออกัสโต บูอาล ชาวบราซิลเกิดความคิดที่จะ ละครแนวใหม่ โดยอิงจากความคิดดังกล่าว จนเป็นที่มาของละครชนิดใหม่ เรียกว่า "การละครผู้ถูกกดขี่" ซึ่งถือกำเนิดในช่วงปี 1960


มาร็องดูมีเป้าหมายที่จะนำปรัชญาและองค์ความรู้ด้านการละครของผู้ถูกกดขี่มาเผยแพร่เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับนักการละครทั่วไปที่ต้องการทำงานให้มากกว่าด้านสังคมสงเคราะห์ แต่มีเป้าหมายที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ถูกกดขี่และต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างอำนาจและลดการเอารัดเอาเปรียบกันในสังคมในระยะยาว



"ในต่างประเทศที่อินเดียใช้กระบวนละครเปลี่ยนแปลงสังคมสำเร็จ ตัวอย่างของหมู่บ้านแห่งหนึ่งมีโรงเหล้า มอมเมาคน ผัวเมียทะเลาะกัน ครอบครัวแตกแยก ปรากฏว่ามีแม่คนหนึ่งขึ้นไปเล่นละคร คำพูดบางอย่างเป็นแรงบันดาลใจไปกระทบกับความคิดของคนที่มีอำนาจ จนสุดสุดท้ายโรงเหล้าต้องปิด จะเห็นว่าการละครเป็นมากกว่ารณรงค์ เราจะปฏิเสธการรณรงค์ว่า เรารู้แล้วว่าการณรงค์แก้ไขอะไรไม่ได้  เราตอบคนพิการได้ไหมถ้าเราไม่พิการ  เราตอบแทนไม่ได้ เพราะฉะนั้นละครเราจะจึงไม่ต้องเขียนบทเลย บททุกอย่างมาจากคนที่มาจากการกดขี่ จึงเรียกว่าละครของ ผู้ถูกกดขี่ ไม่จำเป็นว่าคนนั้นเป็นนักแสดง เพราะจริงๆ คนนั้นเป็นนักแสดงอยู่แล้ว แสดงออกในชีวิตประจำ สะท้อนความรู้แล้วอยากให้คนรับรู้แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือต้องการให้สังคมเปลี่ยนแปลง" ผู้ก่อตั้งคณะละครมาร็องดู อธิบาย


ปัจจุบันมาร็องดู มีสมาชิกหลักอยู่จำนวน 6 คนและมีอาสาสมัครทำงานร่วมอยู่ 30 คน โดยเข้าไปเกี่ยวข้องในประเด็นการเข้าถึงบริการสาธารณะของผู้พิการ สิทธิและสวัสดิการของผู้สูงอายุ สิทธิของผู้ป่วยระยะสุดท้าย คนไร้บ้านและประเด็นการไล่รื้อ ประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศ การเหยียดเพศสภาวะ เป็นต้น โดยมาร็องดู ได้เริ่มเปิดตัว มาตั้งแค่ 2556 ขณะนี้มีผู้ผ่านกระบวนการละครมาแล้ว 1,000 คน อาทิ หมอ ผู้ป่วย และมีบางที่หมอมาเล่นละครแทรกสดเพื่อสร้างวิธีการสื่อสารใหม่ๆ กับญาติและคนไข้



สำหรับคนที่จะเข้าสู่กิจกรรมละครแทรกสด ในเบื้องต้นจะใช้วิธีการละลายพฤติกรรมผ่านการเล่นเกมเพื่อให้รู้จักตัวตน จากนั้นให้คิดเรื่องละครจากประสบการณ์จริง จากที่ทำงาน หรือนำเรื่องราวของคนใกล้ตัวมาแสดง ให้แต่ละคนเป็นบทบาทสมมุติของผู้ถูกกระทำ และละครจะไม่มีบทจบเหมือนละครที่ชมผ่านทีวีหรือ สื่ออื่น ๆ แต่จะทิ้งคำถาม ปมปัญหา ให้ผู้อยู่ในระบบไปแก้ไขต่อไป


"เราหาวิธีคุยแบบใหม่สื่อสาร แบบใหม่โดยไม่ต้องทะเลาะกัน สังคมไทย ทุกวันนี้ รอแตกหัก เราเผชิญกับความขัดแย้ง เราเปลี่ยนวิธีคุยโดยไม่ทะเลาะ แต่เราใช้ละครซึ่งเป็นศิลปครอบไว้ เราทำเรื่องจริงให้เป็นเรื่องเล่น ถ้าเอาจริงเอาจังทุกเรื่องเราคุยกันไม่ได้ เสวนา วิชาการ เพราะทำจริง เราทำเป็นละคร เล่นละครเราทำที่ไหนก็ได้"


อรุณวรรณ แม่หล่าย ทันตภิบาล รพ.สต.ร่องฟอง ต.ร่องฟอง อ.เมือง จ.แพร่ บอกเล่าภายหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมละครแทรกสดว่า ได้เรียนรู้กระบวนการสื่อสารในรูปแบบใหม่ ที่จะนำไปปรับใช้กับอาชีพของเธอได้ ที่ผ่านมารู้สึกว่าภาระที่รับผิดชอบในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่รพ.สต.ต้องรับผิดชอบหนัก และเมื่อเกิดความผิดพลาดไม่มีระบบปกป้อง เคยมีกรณีถอนฟันคนไข้แล้วเลือดไหลไม่หยุด เพราะไม่รู้มาก่อนว่าคนไข้มีโรคประจำตัว ถูกผู้บังคับบัญชาตำหนิไม่เข้าใจว่าเราทำตามหน้าที่  ญาติคนไข้ต่อว่า ซึ่งสร้างความอึดอัดใจในการทำงานให้กับเราเหมือนกัน


นวัตกรรมการสื่อสารแบบใหม่ที่หลายคนได้ลองแล้วรู้สึกดี โดยเฉพาะผู้ชมนอกจากตาเห็นแล้วยังกระทบใจ

Shares:
QR Code :
QR Code