มาราธอนแรกของชาว สสส.
ที่มา : สร้างสุขกับ สสส.
แฟ้มภาพ
เพราะ “มาราธอนแรกมีแค่ครั้งเดียว” และนี่คือความใฝ่ฝันของเหล่านักวิ่งผู้กล้าหาญ ที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของร่างกาย และได้ฝึกวินัยการซ้อมวิ่งอย่างเข้มข้นก่อนจะลงสนามจริง ความตั้งใจที่จะพิชิตมาราธอนแรกของชาว สสส. ซึ่งทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพได้เลือก “จอมบึงมาราธอน” เป็นสนามสอบจริงของพวกเขาเหล่านี้
กลางเดือนมกราคม 2561 ท่ามกลางอากาศที่เย็นสบายของ จ. ราชบุรี เหล่านักวิ่งต่างหลั่งไหลไปพบปะกันพร้อมหน้า เหมือนได้นัดหมายกันมาอย่างดีทุกๆ ปี ว่าเราจะพบกันที่ “จอมบึงมาราธอน” ซึ่งในปีนี้เองได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 33 จากนักวิ่งเริ่มต้นเพียงหลักสิบ จนถึงวันนี้กลายเป็นหลักหมื่นคน กลายเป็นที่เล่าขาน เป็นตำนานที่ถูกกล่าวถึงด้วยวลีที่ว่า “อยากไปพิชิตมาราธอนแรก ต้องไปที่จอมบึง” นั่นเปรียบเสมือนเวทมนต์ก็ไม่ปาน ที่ทำให้นักวิ่งเกือบทุกคนต้องก้าวไปพิชิตความมุ่งมั่นของตัวเอง ณ ที่แห่งนี้
ชาว สสส. ก็มีความมุ่งมั่นไม่ต่างจากนักวิ่งทั่วไปที่มีความฝันในการพิชิตระยะมาราธอนแรก และพวกเขาก็เลือกจอมบึง เป็นสนามแรกเช่นกัน คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าด้วยหน้าที่การงานในองค์กรที่ส่งเสริมการรักสุขภาพบังคับให้พวกเขาต้องลุกขึ้นมาเป็นแบบอย่างในการดูแลสุขภาพ ก่อนจะส่งสารบอกคนอื่นๆ ในสังคมว่าคุณต้องดูแลสุขภาพของตัวเองเช่นกัน แต่พวกเขาดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างเต็มใจและเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันว่า "สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ก็ต้องลงมือทำเอง"
– 1 –
"วสันต์ เลิศสิมา – ต้อม"
จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจ ในการเริ่มวิ่ง
ผมชอบออกกำลังกาย แทบทุกชนิด ยกเว้น “การวิ่ง” เพราะรู้สึกว่าไม่น่าสนุก และไม่เคยคิดจะวิ่ง แต่แล้วผมก็ได้มาทำงานที่ สสส. มีเพื่อนๆ ชวนไปวิ่ง ตามงานต่างๆ คือไปเพราะเพื่อนชวน เลยไม่ได้คิดอะไร งานวิ่งงานแรกรู้สึกว่าเป็น 10 โล ที่เหนื่อยมาก พอถึงเส้นชัย ก็รู้สึกว่า “ไม่คิดว่าจะทำได้” หลังจากนั้นก็สนใจ การวิ่ง มากขึ้น เริ่มศึกษา วิธีวิ่งที่ถูกต้อง เริ่มซ้อม และก็ลงงานวิ่งมากขึ้น
ลึกๆ แล้ว แรงบันดาลใจในการวิ่งของผม คือ เพื่อนคนหนึ่ง ที่ป่วยเป็นโรคโลหิตจาง สมัยเรียนด้วยกันแค่ยืนบนรถเมล์ก็จะเป็นลมแล้ว ก่อนที่ผมจะวิ่ง ผมเห็นเค้าวิ่งก่อน วิ่งเป็น 10 กม. เลย ผมก็รู้สึกว่า ขนาดเค้าป่วยเค้ายังสามารถลุกขึ้นมาวิ่งได้ เราก็น่าจะทำได้ ซึ่งผมก็พึ่งมารู้ภายหลังว่า เค้าหายป่วยเพราะการลุกขึ้นมาวิ่ง
กว่าจะมาถึงมาราธอน
ผมตั้งใจจะไปมาราธอนที่สนามจอมบึง ตั้งแต่ปี 2559 เพราะว่า ผมเริ่มวิ่งที่จอมบึงครั้งแรก ปี 2558 ในระยะ 10 โล เลยตั้งใจว่าปีต่อไปจะลงมาราธอน แต่บาดเจ็บระหว่างการซ้อมมาตลอด ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ผมเรียนรู้ว่า เป้าหมายอาจไม่ได้สำคัญเท่าระหว่างทาง คือ จะวิ่งมาราธอนวันนี้ไม่ใช่พรุ่งนี้วิ่งได้เลย มันต้องซ้อม มีวินัย และต้องรู้ระดับของตนเอง ซ้อมอย่างพอดี เพียงพอ ไม่ฝืน และไม่คาดหวังจนเกินไป
การฝึกซ้อม และการเตรียมตัว
ในปีก่อน ๆ ผมซ้อมหนักพอสมควรครับสำหรับการลงมาราธอน แต่ก็บาดเจ็บจนไม่สามารถลงวิ่งได้ พอมาปี 2561 นี้ ผมค่อนข้างกังวลในการซ้อมพอสมควร ผมซ้อมวิ่งน้อยกว่าตารางฝึกซ้อม ผมคิดว่ามันไม่ดีสำหรับการลงมาราธอน แต่ก็อาศัยที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ก็เลยลองลงดูปีนี้ แบบทดสอบสนามจริงดูสักครั้ง ตามความตั้งใจที่มีมามีทุกปี จริง ๆ นอกจากการฝึกซ้อมแล้วสิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ การพักผ่อนที่เพียงพอ ซึ่งมีผลไปถึงการฟื้นสภาพภายหลังการวิ่งด้วย
จอมบึงสนามในฝัน สู่มาราธอนแรกในชีวิต
ผมเชื่อมั่นในสนามจอมบึง เหมือนที่หลาย ๆ คนเชื่อ เพราะเป็นสนามที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยผมก็ไปวิ่งทุกปีหลังจากที่ได้ไปวิ่งครั้งแรก และตั้งใจมาตลอดว่าจะต้องมาพิชิต Full Marathon ที่จอมบึงให้ได้ ผมชอบบรรยากาศของจอมบึง ชอบความมีส่วนร่วมของชาวบ้านที่ออกมาเชียร์ มันทำให้จอมบึงถูกพูดถึงตลอดมา ผมว่ามันเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักวิ่งจากทุกที่ เหมือนเป็นจุดนัดพบทุกปี ที่เหล่านักวิ่งหน้าใหม่และหน้าเก่าจะมารวมกัน
ระหว่างทางจนถึงเส้นชัยใช้หัวใจช่วยเติมพลัง
ระหว่างทางเองก็มีเรื่องราวแห่งมิตรภาพเกิดขึ้นตลอดนะครับ ผมว่ามันไม่ใช่เราเข้าเส้นชัยคนเดียวแล้วทิ้งเพื่อนอยู่ข้างหลัง ผมคอยมองตลอดใครไหว ไม่ไหว และให้กำลังใจกันและกัน ในระหว่างทางทั้งที่เราไม่ได้รู้จักกันมาก่อน อย่างที่ทุกคนเข้าใจครับ มาราธอนไม่ใช่การวิ่งเพื่อสุขภาพ แต่เป็นการวิ่งเพื่อออกกำลังกายหัวใจ ฝึกใจให้เข้มแข็ง การเอาชนะใจตัวเอง การดูแลและคิดถึงจิตใจเพื่อนนักวิ่งคนอื่นๆ ผมไม่ได้มีเวลาเป็นตัวเร่งเร้าให้ต้องวิ่งเร็ว คือวิ่งเรื่อยๆ เอาที่ร่างกายพอจะไหว เหนื่อยก็พัก และผมก็คิดถึงคนที่รอผมที่เส้นชัยนะ ผมว่าเค้าก็คงห่วงผม และผมก็จะต้องไปให้ถึงให้ได้ วินาทีที่เห็นเพื่อนๆ อยู่ที่เส้นชัย ผมรู้สึกหัวใจผมพองโตนะ มันเป็นความรู้สึกชัยชนะเล็กๆ ซึ่งเป็นชัยชนะที่แข่งกับตัวเอง และอยากขอบคุณร่างกายของผมด้วยที่พาผมมาถึง “ผมทำได้แล้ว”
สิ่งที่อยากบอกเพื่อนนักวิ่ง
การวิ่งมาราธอนไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องอาศัยการฝึกซ้อมอย่างมีวินัย และความอดทน ผมไม่ได้อยากเชียร์ให้ใครมาวิ่งมาราธอน เพราะผมรู้ว่ามันมีผลต่อสุขภาพไม่น้อย เพราะฉะนั้น การวิ่งในระยะ ในเวลาที่เราพอจะทำได้ ตามความสามารถของร่างกายตัวเอง คือสิ่งที่ดีที่สุดครับ
สุดท้ายผมอยากขอบคุณ สสส. โดย สำนัก 5 อาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ และทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการจัดงานวิ่งจอมบึง ทุกคนคือส่วนหนึ่งในความสำเร็จของผมและหลายๆคน และเป็นหนึ่งในความสุดยอดของคนไทย ที่มีงานวิ่งที่ได้รับการพูดถึงในระดับโลก
– 2 –
"มิลินทร์ สาครสินธุ์ – พีช"
จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจ ในการเริ่มวิ่ง
วิ่งมาเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว อยากจะลงสนามจอมบึงเป็นมาราธอนแรก เพราะว่าเคารพและรัก อ.ณรงค์ เทียมเมฆ และจอมบึงมาราธอนเป็นสนามในฝัน วิวข้างทางสวยงาม และชาวบ้านก็น่ารัก
เตรียมตัวก่อนวิ่งมาราธอนแรก
ตั้งจะขึ้นมาราธอนในปี 2560 แต่เพราะป่วย เข้าโรงพยาบาล สภาพร่างกายไม่สามารถซ้อมได้เลย จริงๆ แล้วหมอไม่ให้วิ่งหนัก เพราะเป็นกรวยไตอักเสบเรื้อรัง เมื่อวิ่งระยะไกลอาจเกิดการอักเสบ แต่ตอนนี้อาการป่วยดีขึ้น แต่ถ้าช่วงไหนดูแลตัวเองน้อยอาการป่วยจะกลับมา
สำหรับระยะมาราธอน ก็ค่อนข้างกังวล ซึ่งการลงมาราธอนครั้งนี้ที่จอมบึงก็ค่อนข้างกังวล เพราะเรากลัวเราไม่ไหว กลัวอาการป่วยกลับมาด้วย
เราตั้งเป้าหมายไว้แต่แรกว่าจะลงระยะมาราธอน เราจึงมีตารางซ้อมที่ชัดเจน โดยซ้อมวิ่งวันธรรมดา 5-8 กม. และวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ก็วิ่งเก็บระยะไกล ซึ่งวิ่งระยะเยอะสุดคือ 38 กม. เพื่อให้ร่างกายมีความเคยชินกับระยะมาราธอน และทำให้เรารู้ว่าเราไปถึงระยะมาราธอนแน่นอน
ในสนามมาราธอน
เราตั้งเวลาเป้าหมายจะจบที่เวลา 6.30 ชั่วโมง พอถึงกิโลเมตรที่ 30 กว่า เราชนกำแพง เราไปไม่ไหวและเหนื่อยมาก แต่ก็ได้กำลังใจจากแฟนที่วิ่งไปด้วยกัน แต่เมื่อ 2 กิโลเมตรสุดท้าย เรารู้ว่ามีพี่คนอื่นๆ ที่รอเราอยู่ที่เส้นชัย ทำให้เรารู้ว่ายังมีคนที่รอเราอยู่ เมื่อถึงเส้นชัยแล้ว เราดีใจ รู้สึกว่าทำได้แล้ว และเราไม่คิดว่าจะทำได้ด้วยสภาพร่างกายที่ป่วย
รู้สึกเลยว่าการวิ่งมาราธอนเป็นการวิ่งคนละเรื่องกับการวิ่งระยะอื่นๆ มันทำให้เราแสดงความแย่ และก็ทำให้เรารู้ว่า เราเองเลือกคนไม่ผิดจริงๆ เพราะในสถานการณ์ที่แย่สุด เขายังรับเราได้
ทุกคนคงรู้ดีอยู่แล้วว่าเรื่องมาราธอนเป็นเรื่องของใจ ใจที่แน่วแน่และเข้มแข็ง ซึ่งเราพบว่ามันเป็นเรื่องจริง แต่สำหรับเรา มันคือใจของเราทั้งคู่ที่อยากจะสู้และพิชิตความยากลำบากนี้ไปด้วยกัน เพราะ "ความสำเร็จนี้เป็นความสำเร็จร่วมกันของเราในปีนี้ก่อนที่เราสองคนจะเริ่มวิ่งในสนามมาราธอนชีวิตในปีนี้"
ในเรื่องการซ้อมทำให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเอง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เราโตขึ้น เรียนรู้ตัวเองมากขึ้น การซ้อมเพื่อการวิ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำ ชัดเจนว่าเราได้ใช้ความพยายามจริงหรือไม่ ไม่ง่ายเลยที่วิ่งอาทิตย์ละ 4 วัน และยกเวทอีก เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผลที่ออกมาพบว่า เราก็ทำได้
เคยมีคนบอกเราว่า “ถ้าเรายังทำอะไรที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ให้ลองไปวิ่งมาราธอนสักครั้ง” ซึ่งตอนนั้นเราก็งงว่าหมายความว่ายังไง แต่พอเราได้สัมผัส เรารู้เลยว่ามันคือการเตรียมตัว การศึกษา แล้วเราก็ลงมือทำ และทำสำเร็จ นั่นคือกระบวนการของมันจริงๆ
ต้องขอบคุณ สสส. ที่ริเริ่ม และจัดงานวิ่งดี ๆ ที่มีมาตราฐาน สร้างให้เกิดกระแสการรักสุขภาพทั่วประเทศ จนทำให้จนทำให้การออกกำลังกายด้วยการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป และผลที่ได้ไม่ใช่แค่ร่างกายที่แข็งแรง แต่มันคือ "ความสำเร็จ" ที่น่าภาคภูมิใจในชีวิต
ฝากทิ้งท้าย
"The winners of today are actually the losers of yesterday who never give up"
ผู้ชนะในวันนี้ นั่นคือ ผู้แพ้ที่ไม่เคยยอมแพ้ในวันวาน
– 3 –
"ตรีชฎา หวังพิทักษ์ – แซ"
แรงบันดาลใจสู่การวิ่งมาราธอน
ด้วยธรรมชาติของตัวเองเป็นคนชอบการแข่งขัน ใช่ค่ะ…เริ่มต้นจากการแข่งขัน Thai Health Fit And Firm ของ สสส. ก็คิดว่าตัวเองน่าจะเป็นผู้ชนะได้ก็เลยลงสมัคร กติกาข้อนึงของการแข่งขันครั้งนี้คือ เดิน-วิ่งให้ได้วันละ 10,000 ก้าว ก็ออกวิ่งวีคละ 3-4 วันๆ ละชั่วโมง ก็ทำให้รักการวิ่งไปโดยปริยาย
และอีกนาๆ กติกาที่มีผลต่อการปรับพฤติกรรม จนได้เป็นผู้ชนะ หน่อววววว..
วิ่งเยอะทำไมยังอ้วน
จริงๆ อยากตอบว่า พอใจนะที่อ้วน เพราะอ้วนแล้วสวยด้วย แต่ต้องตอบดีๆ คือจริงๆ แล้วก่อนหน้านี้น้ำหนักอยู่ที่ 88 กิโลกรัม ก็ไม่เคยคิดอคติกับตัวเอง ไม่เคยพบเจอกับปัญหาโรคร้าย หลายคนก็ชมว่าอ้วนแต่หน้าสวย เราก็แฮปปี้มาก การที่ได้ทำงานใน สสส. องค์กรที่เป็นผู้นำด้านสุขภาพ และยังมีทั้งผู้นำที่รักสุขภาพอย่างเช่น ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม และอ.ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ก็ได้ซึมซับเรื่อยๆ เราถึงมารู้ว่านัยของคำว่าอ้วนแต่สวยเนี่ยมันไม่พอแค่หน้าตาดี มันต้องแลดูสง่าสุขภาพดีสิถึงจะเป็นตัวอย่างให้คนอื่นได้ ก็เลยเป็นที่มาของการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น การวิ่งก็เป็นกีฬาที่ใครก็โกงไม่ได้ หากมีวินัยก็ได้ทุกส่วนของร่างกาย แถมถ้าลงงานวิ่งก็ได้ทั้งรูปถ่าย(จากพี่ๆ ช่างภาพเอาไว้เผยแพร่ชวนคนอื่นวิ่งต่อ) ผิวพรรณที่ดี และน้ำหนักที่ไม่ได้ตั้งใจลดกว่า 20 กิโลกรัม
มาราธอนแรก
คนออกกำลังกายจะรู้กันดีว่า ถ้าอยากวิ่งมาราธอนแรกก็ต้องลงงานจอมบึงมาราธอน ที่นี้แหละจะเป็นตัวแทนที่ทำให้คนอ้วนนั้นเปลี่ยนความคิด จะลองให้เห็นว่าคนอ้วนก็แข็งแรงได้ และไหนๆ ก็เป็นคนชอบความท้าทายลงระยะ 42.195k ซะเลย
การเตรียมตัวของคนอ้วน
การวิ่งนอกจากใจพร้อมก็ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่เยอะ หรือราคาสูง แต่ให้รู้ว่าเราควรจะใช้อุปกรณ์อะไรเพื่อช่วยอะไร ที่แน่ๆ
1.ขาน้อยๆ ของคนอ้วนที่เบียดแสบ กางเกงที่มีความยาวปิดบริเวณที่เสียดสีช่วยได้แน่นอน
2.อากาศร้อน อุปกรณ์กันแดด+ขวดน้ำพกพา
3.เพื่อนวิ่งที่คอยเอ็นเตอร์เทนกันให้มีความสุขตลอดการวิ่ง (ถ้าไม่มีเราก็ควรเอ็นเตอร์เทนคนอื่น)
ความประทับใจ/ความรู้สึกหลังวิ่ง
โอ้โฮ…เพื่อนนักวิ่งใหม่ๆ ที่จำเราได้เยอะมากมาเจอกันในงาน คนที่ทั้งรู้จักและไม่รู้จักที่มาคอยให้กำลังใจที่เส้นชัยมันเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่มากที่จะทำให้เราก้าวไปสู่สนามถัดไป
แต่เมื่อไหร่ที่คุณเป็นผู้ชนะอะไรก็แล้วแต่ คุณจะได้รับคำชื่นชมที่ทุกคนส่งมาด้วยสายตา/รอยยิ้ม/คำพูด/รางวัล แต่ให้ย้อนมาดูความรู้สึกกับตัวเองซักนิด ตอนนั้นมันจะมากกว่าเราคือผู้ชนะ แต่กลับเหมือนมีเกราะหุ้มตัวเป็นฮีโร่ที่ใช้ส่งความคิดบวกให้คน(อ้วน)ทุกคนออกมาทำให้ตัวเองสุขภาพดีได้อีกเยอะเลย
นักวิ่งสาวอ้วน
"คนอ้วนทุกคนมีความกล้า หาให้เจอ" คำนี้ใช้จบบทสนทนาทุกครั้งที่พูดให้กำลังใจเพื่อนที่อ้วนๆ ออกมาเริ่มต้นวิ่งฟันรันหรือมินิ ออกมากล้าที่จะเป็นตัวอย่างของความแข็งแรง กล้าที่จะแสดงให้เห็นว่าฉันไม่ได้นอนรอโรคร้าย กล้าที่จะออกมาโชว์ศักยภาพความแข็งแกร่ง
แล้วเจอกันจอมบึงมาราธอน 2019 วันที่ 20 มกราคมค่ะ
– 4 –
"นันทกา แก้วเฉย – ฝน"
มาราธอนไม่ใช่เรื่องสนุก
“มาราธอนไม่ใช่เรื่องสนุก” อ.ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ริเริ่มงานวิ่งจอมบึงมาราธอน บอกกับเราหลังจากเจออาจารย์ตอนเรากำลังจะกลับแล้ว…จริงที่สุด มันไม่ใช่เรื่องสนุก พอวิ่งเสร็จโค้ชถึงกับบอกว่า “หมดเคราะห์กรรมแล้ว” (ฮ่าๆ)
เราเลือกสนามมาราธอนแรกในชีวิต คือที่นี่ “จอมบึงมาราธอน” สนามที่โด่งดังและเก่าแก่ที่สุดงานนึงของไทย สนามที่นักวิ่งแทบทุกคนต้องรู้จักและอยากมา
จุดเริ่มต้นของการวิ่ง
2 ปีที่แล้ว (2559) เลือกวิ่งฮาล์ฟมาราธอนแรกครั้งแรกที่จอมบึงนี่แหละ มีเพื่อนๆ(ที่เป็นสุดยอดโค้ช) วิ่งประคองเข้าเส้นชัยมาพร้อมๆกัน สภาพวันนั้น จบแบบเจ็บเดินงอเข่าไม่ได้ ร่างพังสุดๆ ปีนั้นทั้งปี เลยตั้งใจรักษาตัวใหม่ เริ่มมีเพื่อนวิ่งเพื่อนซ้อม วิ่งฮาล์ฟไปอีกรวม 4 สนาม ไม่เคยเน้นทำเวลา ขอให้สนุกแค่นั้น
ปี 2560 หลังจากวิ่งฮาล์ฟครั้งที่5 ปีที่2 ของจอมบึง จบแบบไม่เจ็บแล้ว ก็มีเป้าหมายใหม่ในใจคือ ปีต่อไปจะต้องวิ่งฟูลมาราธอนแรกที่นี่ให้ได้
เตรียมตัวพร้อมไปมาราธอนแรก
ปีที่ผ่านมา ตั้งใจลงงานวิ่งน้อยมาก เน้นซ้อมอย่างเดียว แต่เอาจริงๆ มีเวลาซ้อมแค่ 3 เดือนหลังผ่านฤดูฝน พยายามทำตามตารางฝึกที่โค้ชวางไว้ให้ วันธรรมดาไปวิ่งสวนลุม 3-4 วันทุกสัปดาห์ ต้องตื่นเช้า(เช้ากว่าทำงาน) มาวิ่งยาวที่สวนลุมวันหยุด ทั้งฝึกวิ่งคนเดียว (ส่วนใหญ่) มีโดดบ้าง มีข้ออ้างบ้าง ติดธุระบ้าง แต่พยายามเก็บระยะซ้อมไปเรื่อยๆ ทุกอาทิตย์
2 สัปดาห์ก่อนวันงาน ต้องซ้อมวิ่งยาว 30 โลตามตารางที่วางไว้ แต่ทั้งสัปดาห์นั้น ไม่สบาย ไม่ได้ซ้อมวิ่งเลย รีบไปขอหมอให้ฉีดยาให้หายไวๆ จะได้ไปซ้อมวิ่งต่อ แต่ก็ฟิ้นตัวไม่ทัน ไม่ได้ซ้อม 30 โล 1 สัปดาห์ก่อนวันงาน ขอโค้ชซ้อมวิ่งยาว อยากมีความมั่นใจมากกว่านี้ เพราะระยะไกลสุดที่เคยซ้อมคือ 25 กิโล แต่โค้ชไม่อนุญาตเพราะกลัวจะฟื้นร่างกายไม่ทัน…
21 ม.ค.61 มาราธอนแรกในชีวิตที่จอมบึง คิดไว้แบบคูลๆว่า “ถ้าเราทำเรื่องยากๆได้ตั้งแต่ต้นปีแล้ว ที่เหลือต่อจากนี้ก็ไม่ต้องกลัวอะไรแล้ว” แล้วก็ทำสำเร็จจนได้ ใช้เวลาไป 6ชม.50นาที จบแบบไม่เจ็บ มีแรงเหลือเที่ยวต่อได้
จอมบึงมาราธอนให้อะไร
กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ต้องเจอบททดสอบจากตัวเองมากมาย ใครจะไปคิดว่าในชีวิตจะตื่นตี 1 ครึ่ง มาวิ่งตอนตี 4 นอนก็ไม่ค่อยหลับ มาวิ่งเรื่อยๆทั้งง่วง ทั้งเหนื่อย ทั้งร้อน ใช้เวลาตั้ง 6 ชม.เกือบ 7 แต่เชื่อเถอะ ถ้าเราตั้งใจอยากทำอะไรแล้ว ทุกอย่างจะสำเร็จ ขอบคุณ สสส.ขอบคุณสนามจอมบึงนี้ ที่ให้โอกาสคนวิ่งช้าๆ ได้มาฟูลแรกที่นี่นะคะ
“การวิ่งมาราธอนไม่ได้ทำให้ชีวิตเปลี่ยน…แต่การซ้อมวิ่งมาราธอนต่างหากที่ทำให้ชีวิต และความคิดเปลี่ยน” มันเป็นเรื่องราวของระหว่างทาง การฝึกฝน ความพยายาม วางแผน ความอดทน ความมีวินัย มิตรภาพ การเสียสละ