มาตรการ 3 เก็บ กำจัดยุงลาย ป้องกันโรค

ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


มาตรการ 3 เก็บ กำจัดยุงลาย ป้องกันโรค thaihealth


แฟ้มภาพ


สาธารณสุข จ.ตรัง เน้นมาตรการ 3 เก็บ กำจัดลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่องง ป้องกัน 3 โรค


นายแพทย์วิฑูรย์ เหลืองดิลก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน มีน้ำขังในภาชนะต่างๆ ลูกน้ำกลายเป็นยุงเร็วขึ้น จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง ป้องกันบุตรหลานและคนในครอบครัวเจ็บป่วยและเสียชีวิต 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ข้อมูลสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรครายงานตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 16 พฤษภาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 17,170 คน เสียชีวิต 14 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปี รองลงมา คือ อายุ 5-9 ปี อายุ 15-24 ปี อายุ 0-4 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ อาชีพที่มากที่สุด คือ นักเรียน ร้อยละ 42.76 รองลงมา ได้แก่ รับจ้างร้อยละ 18.85


มาตรการในการป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยใช้มาตรการ 3 เก็บ ได้แก่ เก็บบ้านให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงเกาะพัก เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้มีที่เพาะพันธุ์ยุง และเก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทำต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน ศาสนสถาน สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก โรงพยาบาล รวมทั้งการกำจัดยุงลายตัวเต็มวัยภายในบ้าน ร่วมกับการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ใช้ยาทากันยุง นอนกางมุ้งจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้


โรคไข้เลือดออก เป็นได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยพบมากในช่วงอายุ 5-10 ปี อาการส่วนใหญ่มักจะมีไข้สูงลอย ไข้ไม่ลด นอนซม เด็กโตจะปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา ซึ่งพบได้ในผู้ใหญ่เช่นเดียวกัน ในระยะไข้นี้บางรายอาจมีอาการเบื่ออาหาร อาเจียน ปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งในระยะแรกจะปวดทั่วๆ ไป และอาจปวดที่ชายโครงขวา หากมีไข้สูง ให้กินยาพาราเซตามอลลดไข้ อย่าซื้อยาแก้ปวดที่มีระคายเคืองกระเพาะอาหาร เช่น แอสไพริน หรือไอบูโพรเฟน เพราะเสี่ยงเลือดออกในกระเพาะอาหารอันตรายถึงเสียชีวิต แต่หากกินยาแล้วไข้ไม่ลด อาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ขอให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการรักษาต่อเนื่องให้พ้นระยะอันตราย และในช่วงที่ไข้เริ่มลดขอให้สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะมีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะช็อกได้ โดยผู้ป่วยจะซึมลง อ่อนเพลีย อาจมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรือถ่ายอุจจาระสีดำ ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

Shares:
QR Code :
QR Code