มัสยิดปลอดบุหรี่ เพื่อสุขภาวะที่ดีของพี่น้องมุสลิมไทย

เรื่องโดย  อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก เวที MOU การขับเคลื่อนมัสยิดปลอดบุหรี่ 5 จังหวัดภาคใต้

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                 “…ขณะที่สถานการณ์การสูบบุหรี่มีแนวโน้มที่ลดลง จากสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุด ปี 2564  ภาคใต้ยังมีอัตราการสูบบุหรี่อยู่ที่ร้อยละ 22.4 สูงที่สุดในทุกรอบการสำรวจ โดยจังหวัดที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุด 5 ลำดับแรกล้วนอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และยังพบการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะศาสนสถานในทุกศาสนามากถึง ร้อยละ 21 …”

                 ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในโอกาสร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนมัสยิดปลอดบุหรี่ 5 จังหวัดภาคใต้ รวม 90 แห่ง เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2566 โดยมีมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย มูลนิธิคนเห็นคน สมาคมเครือข่ายงดเหล้าและลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ มูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน และศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ ณ โรงแรมญันนะตีย์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

                 เพื่อส่งเสริมให้มัสยิดใน 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ร่วมสร้างความเข้าใจ และความร่วมมือระหว่างมัสยิดเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่อย่างถาวรกับชุมชน ที่ให้ประชาชนมาประกอบศาสนกิจ ลด ละ เลิก พฤติกรรมการสูบบุหรี่ให้เป็นรูปธรรม โดยจะกำหนดทิศทางการดำเนินงาน ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่ และการจัดกิจกรรมรณรงค์ มัสยิด และลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต

                 ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขไทย ปี 2564 พบแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่มากกว่า 80,000 คน คิดเป็นร้อยละ 18 ของการเสียชีวิตทั้งหมด ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองกว่า 6,000 คน คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 352,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้ง องค์การสหประชาชาติ ให้คำแนะนำถึงการควบคุมยาสูบของไทยให้มีประสิทธิภาพ แต่จะต้องใช้เงินลงทุนถึง 2,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งก็ยังน้อยกว่า 1 % ของความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการสูบบุหรี่ ”

                 ดร.สุปรีดา กล่าวย้ำให้เห็นถึงตัวเลขแห่งความสูญเสียต่อสุขภาพ ชีวิต และ เศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้น และถ้าสามารถควบคุมยาสูบไทยตามคำแนะนำได้ ภายใน 15 ปี จะช่วยลดคนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 35,790 คน ลดคนป่วยจากโรคไม่ติดต่อได้ถึง 169,117 คน

                 ดังนั้น บทบาทของ สสส. ในการสนับสนุนมัสยิดปลอดบุหรี่ ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมปลอดบุหรี่มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลดปัญหายาสูบในพื้นที่ภาคใต้

                 ด้าน ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย กล่าวว่า “มัสยิด ถือเป็นศาสนสถานศูนย์กลางของชุมชนมุสลิม จึงควรมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบ มูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานมัสยิดปลอดบุหรี่ร่วมกับ สสส. มากว่า 10 ปี  พัฒนาให้เกิดต้นแบบมัสยิดปลอดบุหรี่ทุกภูมิภาค 847 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 21 ทั่วประเทศ การลงนามในครั้งนี้จึงเป็นการยกระดับการขับเคลื่อนมัสยิดปลอดบุหรี่ใน 5 จังหวัดภาคใต้ สู่การเป็นมัสยิดปลอดบุหรี่ที่มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ชาวมุสลิมที่มาประกอบศาสนกิจและประชาชนในชุมชนใกล้เคียงมีสุขภาวะที่ดี ปลอดโรคที่เกิดจากบุหรี่ และปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอื่น ๆ”

                 โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญสู่การเป็นมัสยิดปลอดบุหรี่ ดังนี้

                 1.พื้นที่รอบมัสยิดต้องมีพื้นที่ปลอดบุหรี่ไม่น้อยกว่า 10 เมตร

                 2.มีมาตรการควบคุมยาสูบเป็นลายลักษณ์อักษร

                 3.มีกระบวนการช่วยเลิกบุหรี่ เช่น เชิญชวนให้เลิกบุหรี่ การให้คำปรึกษา

                 4.มีเทศนาทุกวันศุกร์เรื่องการต้านสิ่งมึนเมา (คุฏบะฮ์ลาคอมรฺ) หรือเทศนาต้านบุหรี่และยาสูบ

                 5.มีมุมให้ความรู้พิษภัยบุหรี่ เป็นจุดนิทรรศการของมัสยิด

                 นายสมศักดิ์ หวันละเบ๊ะ (อิหม่ามชารีฟ) ผู้นำมัสยิดอุสาสนอิสลาม (มัสยิดบ้านบน) ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา เล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจกับผลงานในฐานะที่เข้าร่วมโครงการมัสยิดปลอดบุหรี่ว่า

                 “…โดยบริบทของมัสยิดแล้วต้องปลอดบุหรี่ ปลอดสิ่งที่ขัดต่อหลักศาสนา แต่ก็ยังมีคนบางส่วนที่ไม่เข้าใจในบริบทนี้อย่างชัดเจน จึงได้เข้าร่วมโครงการกับ สสส. อย่างเป็นทางการ และเริ่มใช้วิธีพูดคุยทำความเข้าใจค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้คนในพื้นที่เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ให้ข้อมูลข่าวสารถึงพิษภัยของบุหรี่ในที่ประชุมมากขึ้น ติดป้ายรณรงค์ห้ามสูบบุหรี่บริเวณโดยรอบมัสยิด เป็นต้น ด้วยการรณรงค์ที่จริงจัง เราเริ่มเห็นผลชัดเจน มีคนสูบบุหรี่ในพื้นที่น้อยลงหรือแทบไม่มีเลย เหตุผลหลักทางศาสนา และปัญหาสุขภาพ เราจึงมุ่งเน้นให้ความรู้กับ เด็ก ครอบครัว เพราะมีบทบาทสำคัญในการช่วยลด ละ เลิกบุหรี่ของพี่น้องชาวมุสลิม

                 “เพราะบุหรี่ ไม่เคยดีต่อชีวิตและสุขภาพใคร” สสส. และภาคีเครือข่ายสนับสนุนการขับเคลื่อน “มัสยิดปลอดบุหรี่” ที่มีมาตรฐานเดียวกัน ใน 5 จังหวัดภาคใต้ ด้วยการสร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่ รู้เท่าทันพิษภัย ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ เพื่อสุขภาวะที่ดีของมุสลิมไทย นำไปสู่ “ภาคใต้ปลอดบุหรี่” ในอนาคต

Shares:
QR Code :
QR Code