“มัสยิดครบวงจร” สร้างเสริมสุขภาวะชุมชน
ที่มา : ข่าวสด
แฟ้มภาพ
การสื่อสารทำให้ประชาชนหรือคน ในชุมชนตระหนักถึงสุขภาพหรือสุขภาวะ และเป็นเจ้าของเรื่องในการดูแลสุขภาวะชุมชนนั้น ผู้นำในชุมชนถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในการสื่อสาร ซึ่งพื้นที่เทศบาลตำบลปริก อ.สะเดา จ.สงขลานั้น นอกจากนายกเทศมนตรีตำบลปริก จะมีความเข้มแข็งในการดำเนินการแล้ว มัสยิดภายในชุมชนยังถือเป็นอีกหนึ่งผู้นำทางจิตวิญญาณของคนในชุมชนที่เข้ามาร่วมให้เกิดการดำเนิน สุขภาวะในพื้นที่หรือตำบลสุขภาวะด้วย
"มัสยิดดาหรนอาหมัน" ต.ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา ถือเป็นมัสยิดอีกแห่งหนึ่งที่กล่าวได้ว่า เป็น "มัสยิดครบวงจร" ในการสร้างเสริมสุขภาพ และสุขภาวะ ทั้งมิติทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ
นายธรรมนูญ เสาะแม หรืออีหม่ามรอซูล เล่าให้ฟังว่า มัสยิดทุกวันจะมีคนมาละหมาด รวมกันประมาณ 80-90 คนต่อวัน จึงถือเป็นพลัง ที่แข็งแรงมาก หากมีการสื่อสารออกไปแล้ว เขานำไปบอกต่อคนในชุมชน และยิ่งเป็นพลัง มากยิ่งขึ้นโดยทุกวันศุกร์จะมีการทำคุตบะห์ คืออีหม่ามขึ้นบัลลังก์และบรรยายเรื่องราว ต่างๆ หรือสิ่งที่ต้องการรณรงค์โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 400-500 คน ซึ่งมาจากพื้นที่รอบๆ ด้วย
สำหรับสิ่งแรกที่เห็นชัดเจนในการสร้างเสริมสุขภาวะคือ การใช้มัสยิดเป็นฐานในการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับภัยสุขภาพเรื่องนี้ อีหม่ามรอซูล อธิบายว่า เรามีการสื่อสารเรื่องของภัยสุขภาพจากบุหรี่ โดยอย่างแรกเริ่มจากการที่ผู้นำทำตัวอย่างก่อน คืออีหม่าม กรรมการมัสยิดต่างๆ เพราะเราเห็นชัดเจนถึงโทษภัยจากบุหรี่ ซึ่งเมื่อผู้นำทำแล้ว คนก็จะอ้างไม่ได้ว่าทำไม่ได้ นอกจากนี้ ยังอาศัยการ คุตบะห์ในการสื่อสารว่าบุหรี่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพ และรณรงค์ชวนให้ชาวมุสลิมเลิกสูบบุหรี่
"ต้องยอมรับว่าชาวมุสลิมสูบบุหรี่ กันจำนวนมาก ส่วนที่รณรงค์ให้เลิกสูบเพราะถือว่าเป็นการทำผิดกฎศาสนาหรือไม่นั้น ตรงนี้ขึ้นกับ การตีความ เนื่องจากผู้รู้สมัยโบราณบอกว่า เป็นเพียงใบไม้เท่านั้น ไม่ได้มีอะไรที่เป็นอันตราย แต่ปัจจุบันมีวิวัฒนาการทางการแพทย์ก็พัฒนา ขึ้นมาก ในการเข้ามาช่วยวินิจฉัยจนชัดเจนว่า บุหรี่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพจริงๆ เพราะผลทาง การแพทย์ยืนยันชัด ต่างจากอดีตที่สูบไปแล้วไม่รู้ว่าก่อให้เกิดโทษทางร่างกาย ซึ่งหลักของศาสนาอิสลามแต่โบราณคือ อะไรที่เป็นโทษต่อร่างกาย สิ่งเหล่านั้นคือสิ่งที่ห้าม" อีหม่ามรอซูล กล่าว
อีหม่ามรอซูล บอกว่า ที่เห็นคนมุสลิมสูบบุหรี่ เพราะเขาตีความตามความเชื่อสมัยก่อนว่า ไม่มีอันตราย แต่เราก็พยายามสื่อสารให้เขาเห็นว่า บุหรี่นั้นมีโทษต่อสุขภาพจริงๆ และควรจะเลิก แต่คงไม่ได้เป็นการสื่อสารว่าต้องเลิกสูบแล้ว จะทำผิด ตกนรก คงไม่ถึงเช่นนั้นก็อาศัยจิตวิทยา ในการสื่อสารให้เขาเข้าใจมากกว่าจะไปบังคับเขาเลย และทำให้เห็นเองด้วยจึงทำให้ประสบความสำเร็จ และคนที่มีคุตบะห์ก็นำไปสื่อสารต่อ
อีกประเด็นคือ เรื่องของการจัดการ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของ "ขยะ" ที่เป็น การจัดการร่วมกันของคนในชุมชน โดยมัสยิดมีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงคนในพื้นที่
อีหม่ามรอซูล ระบุว่า เรื่องนี้อันดับแรก เราพยายามเริ่มตั้งโจทย์ให้พี่น้องก่อนว่า เราเกิดมา ต้องทำความดี อะไรก็ได้ที่ดี และอย่ามองข้าม ความดีเล็กๆ อย่างแม้กระทั่งขยะที่เราทิ้งแล้ว ก็เป็นความดีให้พี่น้องได้ เป็นความดีสะสมกับตัวเองได้ คนอื่นรับอานิสงส์ได้ด้วย จึงเกิดเป็นโครงการ ขยะมีบุญขึ้น ซึ่งช่วงแรกๆ ก็มีเสียงสะท้อนมาว่า อีหม่ามจะทำอย่างไรล่ะเรื่องขยะกับมัสยิดดูอย่างไร ก็ไม่เข้ากัน ไม่น่าไปด้วยกันได้ เพราะขยะก็ต้องอยู่กับ บ่อขยะ
"ในการดำเนินการขยะมีบุญนั้นจึงเริ่ม จากการที่มีการประกาศให้พี่น้องรับทราบว่า จะมีการนัดนำขยะมายังมัสยิดกันวันไหน ซึ่งอาศัยทั้งการติดประกาศในชุมชนและการ สื่อสารทางโซเชียลมีเดีย เช่น กรุ๊ปไลน์ เป็นต้น โดยให้ชาวบ้านคัดแยกขยะแล้วนำมาที่มัสยิด ในวันที่กำหนด โดยมีผู้มารับซื้อ รอที่มัสยิด ในการให้ราคาขาย โดยเงินก็จะนำมาเข้าเป็นกองทุนในการพัฒนามัสยิดและดูแลชุมชนต่อไป หรือหากเกิดเหตุฉุกเฉินก็มีเงินไว้ในการดูแลคนในชุมชน นอกจากนี้ หากใครไม่สะดวกก็สามารถติดต่อให้มัสยิด ไปรับขยะมาเองก็ได้" อีหม่ามรอซูล กล่าว
สำหรับราคา ในการขายขยะมีบุญนั้น อีหม่ามรอซูล บอกว่า จะมีการกำหนดอัตราราคาที่ค่อนข้างชัดเจน โดยคิดคำนวณเป็นกิโลกรัม เช่น ขวดใส 7 บาทต่อกิโลกรัม ขวดเขียว 1 บาท ต่อกิโลกรัม ขวดแก้ว 1 บาท กระป๋องน้ำอัดลม 30 บาท กระดาษลัง 3.5 บาท กระดาษสี 2 บาท เหล็ก 6 บาท พลาสติกกรอบ 1 บาท อลูมิเนียม 35 บาท สายยาง 2 บาท เป็นต้น
"เงินที่ได้จากโครงการขยะมีบุญเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6,000 บาทต่อเดือน โดยในปี 2560 พบว่า มิ.ย.ได้ 3,265 บาท ก.ค. 3,300 บาท ส.ค. 3,840 บาท ก.ย. 6,000 บาท ต.ค. 3,000 บาท พ.ย. 5,000 บาท ส่วนปี 2561 ม.ค.ได้ 7,070 บาท" อีหม่ามรอซูล กล่าว
การดำเนินงานของมัสยิดครบวงจรใน ต.ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา จึงถือเป็นอีกหนึ่งกลไกในการส่งเสริมให้คนในชุมชนเข้าใจและตระหนักถึงการดูแลสุขภาวะของตนเอง ตามกลไกของ "ตำบล สุขภาวะ" ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ให้ความสำคัญ และเป็นโมเดลต้นแบบในการเป็นศูนย์เรียนรู้ให้แก่ตำบลอื่นๆ