มะเร็งปากมดลูก คร่าชีวิตหญิงไทย เฉลี่ย 14 ราย/วัน

รมช.สาธารณสุข ห่วงภัยโรคมะเร็งปากมดลูก เผยขณะนี้คร่าชีวิตหญิงไทยปีละ 5,200 ราย เฉลี่ยวันละ 14 ราย ป่วยเพิ่มปีละ 10,000 ราย เร่งแก้ไขป้องกัน โดยรณรงค์ให้ผู้หญิงวัย 30 ปีขึ้นไปที่มี 21 ล้านคนเข้ารับการตรวจภายใน อย่าอายหมอ ชี้ผลดีจะสามารถหาความผิดปกติได้เร็ว รับการรักษาเร็ว โอกาสหายมีสูง พร้อมหนุนให้มีการฉีดวัคซีนป้องกัน มั่นใจลดค่ารักษากว่าปีละ 500 ล้านบาท

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเกี่ยวกับปัญหามะเร็งปากมดลูกว่า โรคนี้เป็นปัญหาคุกคามสุขภาพและชีวิตของผู้หญิงที่อยู่ในวัยแรงงานและสูงอายุ มากเป็นอันดับ 2 แต่ละปีจะมีผู้หญิงป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ปีละประมาณ 10,000 ราย หรือวันละ 27 ราย เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 5,200 ราย หรือวันละ 14 ราย โดยกลุ่มที่พบสูงสุดคืออายุ 45-55 ปี องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ว่า ขณะนี้ทั่วโลกในทุก 2 นาทีจะมีผู้หญิงเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก 1 ราย กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญโรคนี้มาโดยตลอด และเร่งดำเนินการให้ผู้หญิงได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่สามารถป้องกันตนเองจากโรคนี้ได้

ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (hpv: human papilloma virus หรือที่ชาวบ้านเรียกกว่าไวรัสหูดที่บริเวณอวัยวะเพศ โดยเฉพาะที่ปากมดลูก เมื่อติดเชื้อไวรัสชนิดนี้แล้ว จะค่อยๆ ก่อตัวเกิดความผิดปกติที่ปากมดลูก ไม่รู้สึกเจ็บปวด ระยะแรกจะไม่มีอาการ แต่เมื่อเป็นมะเร็งแล้ว จะมีอาการผิดปกติปรากฏ เช่นประจำเดือนมามากผิดปกติ มีเลือดออกหลังหมดประจำเดือนแล้ว ตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น ลักษณะคล้ายหนอง อาจมีเลือดออกปนมาด้วย หากอยู่ในระยะลุกลาม จะทำให้เกิดอาการขาบวม ปวดหลังรุนแรง ปวดก้นกบและต้นขา ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะเป็นเลือด

ในการป้องกันและลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกให้มีประสิทธิภาพ กระทรวงสาธารณสุข มียุทธศาสตร์และบูรณาการร่วมกัน 3 วิธี ได้แก่ 1.การให้ความรู้ประชาชนในการป้องกัน 2.จัดระบบการตรวจคัดกรองโดยการตรวจภายในซึ่งมี 2 วิธีคือวิธีแป๊ปสเมียร์และวิธีวีไอเอ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้มาตั้งแต่ดั้งเดิมจนถึงปัจจุบัน จะต้องดำเนินการต่อไปอย่างเข้มข้น ให้ผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไปที่มีประมาณ 21 ล้านคน เข้ารับการตรวจให้ได้มากที่สุดแต่ปัญหาขณะนี้พบว่าผู้หญิงยังไม่ค่อยกล้าตรวจ เนื่องจากเขินอายหมอหรือกลัวเจ็บ ทำให้มักไปพบแพทย์เมื่อมีอาการ ซึ่งหมายถึงมะเร็งลุกลามไปแล้ว โดยจะมีการปรับปรุงขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ผู้หญิงไม่รู้สึกเขินอายและกล้ามาตรวจมากขึ้นเช่น อบรม อสม.ช่วยรณรงค์ให้ผู้หญิงมาตรวจโดย อสม.1 คนต่อผู้หญิง 20 คน ตั้งเป้าตรวจให้ครบใน 1 ปี และตรวจซ้ำทุก 3 ปี หากดำเนินการได้ครอบคลุมผู้หญิงร้อยละ 80 หรือประมาณ 17 ล้านคน จะลดอัตราการตายจากมะเร็งปากมดลูกได้ร้อยละ 61 และหากทำทุก 3 ปี จะลดได้ร้อยละ 61 เช่นกัน

สำหรับวิธีที่ 3.คือการฉีดวัคซีน เอช พี วี กระทรวง จะผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันให้เร็วที่สุดแต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอนและอยู่ในราคาที่เหมาะสม การฉีดวัคซีนเป็นการป้องกันเพื่อลดจำนวนการป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก วัคซีนดังกล่าวจะป้องกันเชื้อไวรัส เอชพีวี สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ที่พบทั่วโลกและในไทย ได้ผลประมาณร้อยละ 70 มีภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานเกิน 10-20 ปี คาดสามารถลดค่ารักษาโรคนี้ได้กว่าปีละ 500 ล้านบาท วิธีนี้จะเป็นการต่อยอดการตรวจภายใน ซึ่งเป็นการตรวจเพื่อค้นหาผู้ป่วยหรือผู้เริ่มป่วยให้ได้เร็ว ซึ่งจะสามารถรักษาที่ได้ผลและหายขาดได้หากพบตั้งแต่ระยะแรก นายแพทย์ชลน่าน กล่าว

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ astv ผู้จัดการ

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code