มะขามป้อมสานเครือข่าย ‘ละครสร้างปัญญา’

          สสส. ร่วมกับมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ภาคีละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง และครู 6 พื้นที่ทั่วประเทศ สร้างการเรียนรู้ใหม่ผ่านกระบวนการละคร บนพื้นฐานของการปฏิบัติจริง สอดรับกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 


 /data/content/27087/cms/e_bfhijklsvyz1.jpg

แฟ้มภาพ


         นายพฤหัส พหลกุลบุตร มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) หัวหน้าโครงการพัฒนาเครือข่ายละครสร้างปัญญาเพื่อเยาวชน (Theatre for Transformation Network) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจัดทำในปี 2556 – 2557 มีแนวคิดว่ากระบวนการละครจะเป็นวิธีการในการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญาของเยาวชนและสร้างสุขภาวะปัญญาของสังคมได้ ด้วยวิธีต่างๆ ที่เน้นการเปลี่ยนแปลง (Transformation) จากภายในตัวของเยาวชน โดยเสริมพลัง คุณค่าเชิงบวก ด้วยฐานคิดทฤษฎี “การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง” (Theory of Learning For Transformation) ของกระบวนการละคร


/data/content/27087/cms/e_abcegimouz89.jpg


          หัวหน้าโครงการฯ ย้ำว่า กระบวนการละครมุ่งให้เกิดการรับรู้ความจริง รู้เหตุ รู้ผล มีความเข้าใจและเห็นคุณค่าในตนเอง และการพัฒนาจิตอาสาโดยผ่านกระบวนการกลุ่ม รวมถึงการสร้างและพัฒนาเครือข่ายชุมชนนักปฏิบัติการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่การผลักดันกลไกการสร้างพื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์ทางปัญญาสำหรับเยาวชน ผ่านศิลปะการละคร โดยมีเครือข่ายนักการละครและครู ทั้งหมด 6 พื้นที่ ครอบคลุมทั่วประเทศที่นำกระบวนการละครไปใช้ ได้แก่ เชียงใหม่ มหาสารคาม อุบลราชธานี สงขลา ชลบุรี และอุตรดิตถ์ รวมทั้งผ่านครูและนักพัฒนาท้องถิ่น ในมิติของละครที่แตกต่างกัน เช่น “หลักสูตรละครหัวใจมนุษย์ในห้องเรียนแพทย์” ครูหมอน้อย พญ.ปาริชาติ วงศ์เสนา วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ม.อุบลราชธานี, “ละครสร้างการเรียนรู้ “ ครูจิ๊บ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, “ละครในทัณฑสถานหญิง” ครูอ้อ มัลลิกา ตั้งสงบ เป็นต้น     


          "การสร้างพลเมืองที่มีส่วนร่วมต่อปัญหาของชุมชนและสังคม เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมไทยในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน การเรียนรู้ของเยาวชนที่ส่งเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์ มีวิจารณญาณ และสามารถสื่อสารความคิดเพื่อการแกัปัญหาอย่างเสมอภาคเท่าเทียม เป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งของโลกในศตวรรษที่ 21 ทั้งหมดทั้งปวงผมเชื่อว่า กระบวนการละครจะช่วยฝึกสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะละครสนใจในความเป็นมนุษย์ " นายพฤหัสกล่าว


          นายไพบูลย์ โสภณสุวภาพ จากกลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์ จ.ชลบุรี กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากแผนพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก ทำให้กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์และภาคีกลุ่มเพื่อนตะวันออกตั้งโจทย์คำถามที่สำคัญว่า จะทำอย่างไรที่จะติตตั้งวิธีคิดใหม่เพื่อให้เยาวชนและคนในชุมชนรับรู้และเท่าทันกับสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ และจะทำอย่างไรจึงจะดึงการมีส่วนร่วมของแกนนำเยาวชนให้หันมาเห็นคุณค่าและรักษาบ้านเกิดของตัวเอง กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์ ได้พัฒนาแนวคิด “ศิลปะการละครเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของใจคน จึงนำมาใช้สร้างการเรียนรู้กับเยาวชนและคนในชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง  พร้อมนำเสนอตัวอย่างการใช้ “การเรียนรู้ชุมชนผ่านกระบวนการละคร” ชุดกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้ด้านในเพื่อสร้างปัญญาในมิติความเป็นมนุษย์ นำไปสู่การผลิตละครเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้รักบ้าน รักเมือง เป็นการปลุกพลังหัวใจพลเมืองของคนในชุมชนได้อย่างแท้จริง


          “ความงอกงามของโครงการเรียนรู้บูรพาผ่านละคร คือ การเกิดมิติความเป็นมนุษย์ในใจคน ใจเอื้อ เคารพ อยู่ร่วมอย่างมีภูมิรู้ และพร้อมที่จะดูแลรักษาภาคตะวันออกผ่านกำลังที่ทำได้ เป็นปัญญาในกายตนที่เริ่มปรากฏภายในตัวเยาวชน ผู้ใหญ่และทีมงาน อีกทั้งเราเรียนรู้ไปพร้อมกับชุมชนจนเกิดนวัตกรรมสร้างการเรียนรู้ ชุด "กระบวนการศิลปะการละครเพื่อการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง" นายไพบูลย์กล่าว


          ส่วน นายโตมร อภิวันทนากร กลุ่มมานีมานะ จ.สงขลา ได้นำละครเข้าไปใช้ในการเรียนรู้ผลกระทบจากแผนพัฒนาภาครัฐในภาคใต้ต่อความเปลี่ยนแปลงกับพื้นที่ ชุมชน เช่น อำเภอจะนะ จ.สงขลา โดยพบว่า เครื่องมือละครซึ่งมีพลังในการสะท้อนเรื่องราว ได้อย่างมีพลัง เข้าถึงคุณค่าทางจิตใจ และเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมระหว่างกลุ่มเยาวชนศิลปินผู้ทำละคร กับผู้คนผู้ชมละครในชุมชน จึงถูกนำมาใช้พัฒนาเยาวชนให้มีทักษะในการสร้างสรรค์ผลงานละคร  พร้อมกับสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเยาวชนผู้ทำละครอย่างมาก ดังนั้น ด้วยความต้องการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาต่างๆ ของเครือข่ายนักพัฒนา และนักละครในพื้นที่ภาคใต้


/data/content/27087/cms/e_adhjkmoqrs23.jpg


          "การสนับสนุนให้เยาวชนได้กลายเป็นผู้เล่นที่สำคัญของชุมชนนั้น เป็นเรื่องสำคัญจริงๆ มันไม่ใช่แค่ผลงานละครที่น่าสนใจ หรือความสามารถในการทำงานละครทำกิจกรรมที่แข็งแรงขึ้น แต่สิ่งที่เขาได้ลงมือทำด้วยกำลังความสามารถของตัวเขาเองด้วยวิธีการทางศิลปะ มุ่งที่จะสร้างปัญญาแก่ชุมชนนี้ มันมีความหมายในแง่ความรู้สึกต่อชีวิตเขามาก และศักยภาพในงานละครสร้างปัญญาเล็กๆ นี้เองมันก็สะท้อนให้เห็นบทบาทของความเป็นพลเมืองที่ไม่นิ่งดูดายกับปัญหาของชุมชน ด้วยวิธีคิดที่อยากจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น อยากเห็นปัญหาที่สร้างความทุกข์แก่ผูู้คนหมดไป” นายโตมรกล่าว


          ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่นำกระบวนการละครไปใช้ในการเรียนรู้กับชุมชนและเยาวชนหลากหลายรูปแบบ ทางโครงการพัฒนาเครือข่ายละครสร้างปัญญาเพื่อเยาวชน จะดำเนินการจัดงานนวัตกรรมสร้างปัญญา  เพื่อเผยแพร่ประสบการณ์การทำงาน องค์ความรู้ นวัตกรรม รวมทั้งผลงานละครขององค์กรภาคีเครือข่าย 6 พื้นที่และกลุ่มละครเยาวชน เพื่อนำเสนอต่อสาธารณชนและผู้สนใจทั่วไป ภายใต้ชื่องาน “นวัตกรรมละครสร้างปัญญา "เปิดกะโหลก ชะโงกดูเงา” โดยภายในงานจะประกอบด้วย การสัมมนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ  การนำเสนอผลงาน นิทรรศการ การแสดงละครเยาวชน  โดยจะดำเนินการจัดกิจกรรมในวันเสาร์ที่ 17 – วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม 2558 เวลา 09.00 – 17.00 น. ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ชั้น 2  ซอยงามดูพลี ถ.พระราม 4 กรุงเทพฯ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณอุษณา 086-8980556 และ คุณภัทรภร 082-3325458


 


 


          ที่มา : มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code