“มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” ปั้นคนคุณภาพรับ AEC
สสส. ผนึก 8 ม.ดัง สร้าง “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” ปั้นคนคุณภาพรับ AEC ตั้งเป้าขยายผลครอบคลุมทุกภาคภายในปี 2559
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่อิมแพค เมืองทองธานี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “แผนงานการบูรณาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขสู่องค์กรสุขภาวะแห่งประเทศไทย” ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัย” เป็นแหล่งพัฒนาทางปัญญาและอารมณ์ที่สำคัญ เป็นแหล่งสร้างคนให้มีคุณภาพ เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศ คนที่มีคุณภาพสะท้อนจากการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข แผนงานนี้ นับเป็นความท้าทาย มีความสำคัญ และจำเป็นเร่งด่วนที่จะช่วยสร้างเสริมคนทำงานให้มีความพร้อมในการแข่งขันกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ในสิ้นปี 2558 ที่จะถึงนี้
รศ.ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต หัวหน้าโครงการ “จับตาสถานการณ์ความสุขคนทำงานในประเทศไทย ปี 2554 – 2557 และรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” เกิดจากบุคลากรทุกระดับต้องมีส่วนร่วม และมีความคิดสร้างสรรค์ในการอยู่ร่วมกัน มีการทำงานอย่างเป็นระบบ เป็นทีม ที่สำคัญ ผู้บริหารและบุคลากรทุกระดับ รวมถึง นิสิต นักศึกษา ร่วมกันรับรู้แนวคิด ปฏิบัติ ถ่ายทอด จนกลายเป็น “วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งความสุข” ซึ่งผลลัพธ์ของ “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” อาจทำให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่นำเอาระดับความสุขของบุคลากรในมหาวิทยาลัย มาเป็น “ตัวชี้วัด” หนึ่งในเกณฑ์เข้าสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยโลก” ได้ในอนาคต
นายแพทย์ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือฯ ครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของทั้ง 8 มหาวิทยาลัย ในการร่วมมือกันสร้างสุขให้แก่บุคคลากร และมุ่งสู่การเป็นองค์กรสุขภาวะแห่งประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ พ.ย. 2556 – พ.ย. 2558 มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างความร่วมมือระดับผู้บริหารสูงสุดใน 8 ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ และบูรณาการการบริหารจัดการความสุขแก่ “นักจัดการความสุข” และสร้าง “นักสร้างสุของค์กร” ใน 8 ภาคีเครือข่ายฯ โดยจะขยายผลไปยังมหาวิทยาลัยใกล้เคียง 8 มหาวิทยาลัย เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์สุดท้ายคือ เพิ่มองค์กรสุขภาวะ ในประเภทมหาวิทยาลัยทุกภาคทั่วประเทศ ใน พ.ศ. 2559
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข