มหาวิทยาลัยรับใช้สังคม
จากการมีส่วนร่วมทั้งกิจกรรมการเมือง-สังคมของนิสิต นักศึกษายุคใหม่ที่มีให้เห็นในพื้นที่ข่าวอย่างต่อเนื่อง คงต้องถือว่า ลบคำสบประมาทเดิมๆ ที่นิสิต นักศึกษา มักโดนมองว่า 'ไม่เอาสังคม' ได้บ้างแล้ว
อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ได้มีเครือข่าย "เครือข่าย มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม ปี 2" จากการผนึกกำลังของ 11 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ส่งนักศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์และคณะนิเทศศิลป์ จำนวน 14 คณะ เข้าร่วมเรียนรู้-สร้างสรรค์สื่อ จาก "โจทย์จริง" เพื่อสร้างนักสื่อสาร รุ่นใหม่มีสำนึกความเป็นพลเมืองไม่นิ่งดูดายต่อสังคม โดยมีมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สนับสนุนการขับเคลื่อน
ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการ มูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่สอง หลักการ คือ จะทำอย่างไรให้การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยสามารถจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดในสังคมได้ ทางหนึ่ง คือ ภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมให้โจทย์ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ฝั่งมหาวิทยาลัยได้ใช้ความรู้ที่มีคลี่คลายปัญหา ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่ภาคการศึกษาจะได้ลองทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม หรือ ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้อง และนำไปใช้งานได้จริง
สำหรับประเด็นทางสังคมที่เป็นโจทย์ให้นักศึกษาได้เรียนรู้นอกห้องเรียน ได้แก่ ประเด็นด้านทรัพยากร – สิ่งแวดล้อม ที่ดินทำกิน แรงงาน-กลุ่มชาติพันธ์ คนพิการ เด็ก เยาวชน และ เกษตรกรรม โดยมีภาค ประชาสังคมเป็นผู้ให้ข้อมูล อาทิ มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) มูลนิธิศูนย์พิทักษ์ สิทธิเด็ก สหกรณ์กรีนเนท เป็นต้น
ที่ผ่านมานักศึกษาได้ร่วมเวิร์คชอปพัฒนางานไปแล้ว 2 ครั้ง และลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล อาทิ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร ได้ลงพื้นที่หมู่บ้านคลองรั้ว จ.กระบี่ เพื่อศึกษาถึงผลกระทบต่อชาวบ้านต่อการตั้ง โรงไฟฟ้าที่กระบี่ ส่วน คณะวิทยาการสื่อสาร ม.สงขลา- นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ติดตามเรื่องท่าเรือน้ำลึก ปากบารา สตูล เป็นต้น
โดยน้องๆ จะมีเวิร์คช้อปครั้งที่ 3 ในวันที่ 5 เมษายน 2558 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจะได้เห็นผลงานว่า น่าสนใจเพียงไร และจะสะท้อนปัญหาสังคมได้อย่างแท้จริงหรือไม่ ผู้สนใจติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.scbfoundation.com
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต