มหาลัย อาเซียนจับมือ แก้วิกฤติสุขภาพ

ที่มา : เดลินิวส์


ภาพประกอบจากเดลินิวส์


 


มหาลัย อาเซียนจับมือ แก้วิกฤติสุขภาพ thaihealth


ในยุคที่สุขภาพกายใจสำคัญไม่แพ้กับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความคิดใน การมี "มหาวิทยาลัยสุขภาพ เพื่อผลิตบุคคลต้นแบบสร้างเสริมสุขภาพ" จึงถือกำเนิดเกิดขึ้น และเริ่มกระจายทั่วภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่มหาวิทยาลัย แห่งชาติฟิลิปปินส์ (University of the Philippines) กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ จัดการประชุมวิชาการประจำปีเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพนานาชาติ ครั้งที่ 2 "Moving towards Healthy University in Asia"  โดยมี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้าร่วมในฐานะผู้สนับสนุนความร่วมมือการสร้างเสริมมหาวิทยาลัยสุขภาพภายในประเทศ


ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผอ.สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. เล่าว่า มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการเครือข่ายเฉพาะทางด้าน ASEAN University Network – Health Promotion Network (AUN-HPN) เพื่อพัฒนาศักยภาพมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนให้เป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ ในการทำงานจะใช้กรอบมหาวิทยาลัยสุขภาพ เพื่อเป็นเครื่องมือกำหนดแนวทาง 22 ประการ อันครอบคลุมถึง 1. ระบบที่เอื้อต่อการเป็นมหาวิทยาลัยสุขภาพ เช่น นโยบาย หลักสูตร งบประมาณ 2.สิ่งต้องห้ามสำหรับการเป็นมหาวิทยาลัยสุขภาพ  เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน และ 3. การสร้างเสริมสุขภาพในด้านต่าง ๆ เพื่อการเป็นมหาวิทยาลัยสุขภาพ เช่น กิจกรรมทางกาย อาหาร สุขภาพจิต เป็นต้น พร้อมกันนี้ในที่ประชุมได้ออกปฏิญญามะนิลา ว่าด้วยเรื่องมหาวิทยาลัยในฐานะศูนย์กลางแห่งสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี โดยมีสาระสำคัญว่า อาเซียนตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของทิศทางสุขภาพโลก (global health) และกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้ เกิดผลกระทบทั้งกับวิถีชีวิตของมนุษย์ สิ่งแวดล้อม


ดร.ณัฐพันธุ์ เล่าต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ "มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" ได้นำเสนอ "ระบบดูแลสุขภาพจิตนักศึกษา" เพื่อรองรับความต้องการของนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น เรื่อย ๆ เริ่มตั้งแต่การ "ค้นหานักศึกษาที่น่าจะต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต" นำเข้าสู่การประเมินภาวะจิตสังคม ให้คำปรึกษาทางด้านสภาพจิตใจ ทำกิจกรรมเชิงบวกนอกหลักสูตร ตลอดจน ให้คำแนะนำต่าง ๆ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย "CMU Mind" หากมีปัญหาก็จะมีการส่งต่อเข้ารับการรักษาที่หน่วยจิตเวชของโรงพยาบาลเชียงใหม่ เพื่อรับการดูแลอย่างต่อเนื่อง


ขณะที่ "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ได้จัดให้มีการ "ส่งเสริมวินัยการจราจรให้แก่นักศึกษา" หลังพบว่าในปี 2559-2561 มีนักศึกษาเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง 350 ครั้ง ในจำนวนนี้ร้อยละ 78 เกิดจากรถจักรยานยนต์ โดยมีผู้เสียชีวิต 12 คนที่ไม่สวมใส่หมวกกัน น็อก ทางมหาวิทยาลัยจึงจัดให้มีการรณรงค์ให้ความรู้นักศึกษา ตั้งแต่การสวมใส่หมวกกัน น็อก คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่ใช้ความเร็ว ห้ามจอดรถในที่ห้ามจอด เพื่อลดอุบัติเหตุภายในสถานศึกษา และขยายผลไปยังบริเวณชุมชนข้างเคียง


"มหาวิทยาลัย" คือบ้านหลังใหญ่ที่เต็มไปด้วยคนคุณภาพ พร้อมไปด้วยคลังทรัพยากร เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่สามารถสนับสนุนโครงการและบริการสาธารณสุขที่จำเป็น โดยเชื่อมั่นว่าในอนาคต มหาวิทยาลัยในอาเซียนจะนำพาคุณภาพชีวิตที่ดีมาสู่ประชากรในภูมิภาค และความหวังในการมีสังคมที่แข็งแรง


มหาลัย อาเซียนจับมือ แก้วิกฤติสุขภาพ thaihealth

Shares:
QR Code :
QR Code