มหัศจรรย์สื่อฯ ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
พัฒนาการของเด็กเล็กในช่วงปฐมวัย ถือเป็นห้วงเวลาที่มีความสำคัญมาก นอกจากพ่อแม่ ผู้ปกครองแล้ว "ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก" เป็นสถานที่ที่สำคัญในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้มีความเหมาะสม และส่งเสริมพัฒนาการสำหรับเด็กวัยนี้ได้ไม่แพ้ครอบครัว
จึงเป็นที่มาของโครงการ "มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก" โดยสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก6) ร่วมกับสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม (สำนัก5) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เล็งเห็นว่า ประชากรกลุ่มเด็กเป็นกลุ่มที่สำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผอ.สำนักรณรงค์สื่อสารสังคม กล่าวถึงแนวคิดโครงการนี้ว่าการสร้างพลเมืองตื่นรู้(Active citizen)ต้องสร้างตั้งแต่วันแรกของชีวิต เพราะถ้าเราสามารถออกแบบกระบวนส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กตั้งแต่เยาว์วัย เด็กจะสามารถเติบโตอย่างมีสุขภาวะดีครบทุกด้าน และเป็นพลเมืองดีของสังคม
"ความมหัศจรรย์ของเด็กเล็ก โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัย (2-7 ปี) แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่เรียกว่าเป็นช่วงเวลาทองก็ว่าได้ หน้าต่างแห่งโอกาสจะเปิดเต็มที่ การที่พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมไปถึงครูพี่เลี้ยงหยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้กับเด็ก เชื่อว่าพวกเขาจะเติบโตได้อย่างมีคุณภาพแน่นอน" ดร.วิลาสินี ย้ำ
ด้านนางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผอ.สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สสส. ทำงานร่วมกันแบบบูรณาการทั้งในเชิงประเด็นและในพื้นที่ โดยสำนัก 6 ได้เปิดชุดโครงการสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย และเปิดรับโครงการจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น นำร่อง 150 ศูนย์ครอบคลุมทั่วประเทศและศูนย์เด็กเล็กที่ผ่านการพิจารณาจะเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการมีสำนัก 5 สนับสนุนในเชิงของเนื้อหา เช่น ประเด็นสื่อสร้างสรรค์ การรู้เท่าทันสื่อ และการใช้สื่อเพื่อสร้างการเรียนรู้ เน้นเนื้อหาสำหรับเด็กปฐมวัย
"ในกระบวนการอบรมจะเน้นไปที่การให้ความรู้แก่ครูพี่เลี้ยงสอนทักษะกระบวนที่สามารถนำไปปรับใช้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้จริง เริ่มตั้งแต่การเลือกสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็ก การสอนทำของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก การเล่นที่ถูกต้องสมวัย รวมถึงพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำกิจกรรมทางกาย ส่งเสริมการเล่นเพื่อสุขภาพตลอดจนให้ความรู้ทางด้านอาหารและโภชนาการสำหรับเด็กปฐมวัยด้วย"นางเพ็ญพรรณ อธิบาย
อีกข้อมูล น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชนบอกว่า การคัดเลือกสื่อหรือการรู้เท่าทันสื่อของครูพี่เลี้ยงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กพบว่ายังขาดความรู้ความเข้าใจอยู่พอสมควร เช่น ปล่อยให้เด็กอยู่กับสื่อมากเกินไป หรือเปิดสื่อผู้ใหญ่ให้เด็กดู และยังขาดการดึงสื่อในท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วม
"สำหรับสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีหรือสื่อกระแสหลักเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงตัวกิจกรรม ตัวพื้นที่หรือบุคคลในชุมชน ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกฝัง สิ่งดีๆ ให้เด็กการใช้สื่อหลัก เช่น รายการทีวี หรือเพลงต้องมีการคัดสรร ให้มีความเหมาะสมกับเด็กวัยนี้โดยเฉพาะ ต้องดูตัวเนื้อหาว่าเป็นสื่อที่สร้างจินตนาการ และส่งเสริมการเรียนรู้หรือไม่ หรือเป็นสื่อทางเดียวที่ให้ข้อมูลเนื้อหาที่ไม่เหมาะกับการเรียนรู้ของเด็ก ในช่วงวัยนี้ ซึ่งต้องคัดสรรอย่างดี ไม่ทำให้เด็กเครียดหรือกำจัดจินตนาการ"
น.ส.เข็มพรกล่าวทิ้งท้ายว่า ครูต้องแสวงหาความรู้เพิ่มเติม โดยอาจจะสร้างเครือข่ายเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันและนำไปปรับใช้ ส่วนสื่อต่างๆ ก็สามารถค้นหาได้ในอินเตอร์เน็ตแต่อยากเน้นไปที่การผลิตคิดค้นสื่อด้วยตัวเอง เรียนรู้หลักการและนำไปประดิษฐ์เอง เช่น หนังสือทำมือ ให้สอดคล้องกับเด็กของเรา และความเป็นบริบทท้องถิ่น หรือสอดคล้องกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในศูนย์ของเราก็ได้"
ปัจจุบันสื่อกับเด็กมีความใกล้ชิดกันมาก ครูต้องเข้าใจและรู้เท่าทันนำไปสู่ปรับใช้ในการดูแลเด็ก และสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถส่งเสริมพัฒนาการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะการเรียนรู้จะไม่หยุดนิ่งกระบวนการถ่ายเทการเรียนรู้ผ่านสื่อสร้างสรรค์ที่จะต้องร่วมกันเลือกใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสร้างจุดเริ่มอนาคตของชาติ ให้เกิดรูปธรรมมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ