มหัศจรรย์จากตัวหนังสือ
การผจญภัยของฝูงปลาในมหาสมุทรใหญ่ ที่ถ่ายทอดผ่านถ้อยคำ เรียงร้อยเรื่องราวได้อย่างสดใส น่ารัก ผ่านการ แสดงออกอย่างฉะฉาน ของ น้องโฟล์ค- ด.ช.ยศรักษ์ ขำสุวรรณ วัย 7 ขวบ ในเวที แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ “อ่านอย่างไรกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาลูกรัก โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำให้คุณแม่หลายๆ ท่านสนใจในความเป็นมาเป็นไปว่า ทำอย่างไรถึงจะสร้างจิตนาการ พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเด็กได้เท่าหนูน้อยรางวัลชนะเลิศการเล่านิทานระดับประเทศ
ป้าแนน-วัฒนาวดี พุ่มไชย ผู้ปกครอง น้องโฟล์ค หนึ่งในเบื้องหลังการเติบโตอย่างก้าวหน้า เล่าให้ฟังว่า น้องโฟล์คถือว่าเป็นเด็กที่โชคดีมาก เพราะครอบครัวทำงานกับหนังสือ มีห้องสมุด มีสื่อหลากหลายแวดล้อมรอบตัว และที่สำคัญทุกคนในครอบครัวเป็นนักอ่าน ด้วยเหตุนี้จึงสร้างนิสัยและปลูกฝังให้น้องโฟล์ครักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก
“เริ่มแรกตั้งแต่น้องโฟล์คอยู่ในท้องคุณแม่ เราจะเล่านิทานให้ฟังทุกวัน จากนั้นตั้งแต่เล็กก็ให้สัมผัสกับหนังสือ ให้ดูภาพมาตลอด เริ่มจากภาพสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ทั้งเรื่องราวของผัก ผลไม้ สัตว์ต่างๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน จากนั้น เมื่อโตขึ้นก็ให้น้องโฟล์คเป็นคนเลือกเองว่า จะอ่านหนังสือแบบไหน ชอบแบบไหน และพัฒนาการอ่านไปเรื่อยๆ จากแค่ดูภาพ จนอ่านเป็นคำ และพัฒนาเป็นอ่านคำกลอน เรียกได้ว่านิทานทำให้น้องโฟล์คเป็นเด็กที่มีพัฒนาการสูงมาก”
ขณะที่ ชฎาพร รัตนาวิวัฒน์พงษ์ หรือ แม่ดาว ของ น้องดีโด้ ก็เน้นย้ำเช่นกันว่า หนังสือเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยได้เป็นอย่างดี ซึ่งแม่ดาวบอกว่า ให้ลูกอ่านหนังสือตั้งแต่แรกเกิด แม้ยัง อ่านไม่ได้ แต่ก็ให้สัมผัส เช่น หนังสือลอยน้ำ จากนั้นก็อ่านหนังสือให้ฟังทุกคืน จนลูกชอบมาก และกลายเป็นกิจวัตรที่ต้องทำกันทุกคืน ต่อมา ก็เริ่มสร้างโจทย์ใหม่ๆ เพื่อฝึกลูกไปในตัว เช่น ให้นั่งสมาธิก่อนจะเล่านิทานให้ฟัง และที่สำคัญแม่ดาวใช้หนังสือในการปรับพฤติกรรมของลูกเชื่อมโยงนิทานกับชีวิตจริง “มีอยู่ครั้งหนึ่งสังเกตเห็นลูกมี นิสัยอิจฉาเพื่อน อยากได้ของเล่นของเพื่อน จึงหาหนังสือนิทานมาอ่านให้ฟัง ซึ่งคุณแม่หลายๆ คนคงจะรู้จักนิทานเรื่องนี้ดี “จี๊ดจ๊าดขี้อิจฉา” ซึ่งการสอนเช่นนี้จะทำให้ ลูกเราเข้าใจเองว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรควรทำหรือไม่ควรทำ เพราะตามธรรมชาติของเด็กทุกคน หรือแม้แต่ผู้ใหญ่เองคงไม่ชอบให้ใครมาต่อว่า ดังนั้นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ปรับพฤติกรรมผ่านนิทานจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด สำหรับน้องดีโด้ เพียงไม่กี่ครั้งก็สามารถปรับพฤติกรรมได้”
และนี่คือมหัศจรรย์ตัวหนังสือ ที่ได้สรรค์สร้างจินตนาการ สร้างความผูกพันจากแม่สู่ลูก การเริ่มต้นหาหนังสือนิทานดีๆ ให้ลูก จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการบ่มเพาะ เมล็ดพันธุ์จากเด็กวันนี้สู่ผู้ใหญ่วันหน้า ให้เติบโตอย่างมั่นคง และเป็นอนาคตที่ดีและสรรค์สร้างประโยชน์ให้กับประเทศต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ